ข้ามไปเนื้อหา

อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
13 กันยายน พ.ศ. 2562[1] – 20 มกราคม พ.ศ. 2566
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 ตุลาคม พ.ศ. 2526 (41 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ (เกิด 12 ตุลาคม พ.ศ. 2526) รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า [2] อดีตที่ปรึกษาประธานรัฐสภา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ[3][4] และอดีตเลขานุการประธานรัฐสภา [5]

ประวัติ

[แก้]

อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ เกิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ที่กรุงเทพมหานคร มีชื่อเล่นว่า “บิล”  เป็นบุตรคนโตในจำนวน 3 คน ครอบครัวประกอบธุรกิจด้านชิ้นส่วนยานยนต์โดยร่วมทุนกับบริษัททั้งในภาคพื้นเอเชียและยุโรป[6]

การศึกษา

[แก้]

อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาวิศวกรรมเคมี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ จาก Imperial College London (ทุน Marie Courie Fellowship ของสหภาพยุโรป)

นอกจากนี้ อิสระ ได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรความรู้เฉพาะด้าน ได้แก่

การทำงาน

[แก้]

อิสระมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมในต่างประเทศ อาทิ International Test Centre for CO2 Capture ประเทศแคนาดา และ MET Evonik ภายใต้กรอบความร่วมมือแห่งสหภาพยุโรป ประเทศสหราชอาณาจักร อีกทั้งยังผ่านการทดสอบและได้รับใบประกอบวิชาชีพในระดับสามัญวิศวกร สาขาอุตสาหการ จากสภาวิศวกรไทย

ในด้านธุรกิจ อิสระ รับช่วงบริหารธุรกิจของครอบครัว ได้ขยายกิจการและการลงทุนไปยังภาคพื้นยุโรป และตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากประเทศอิตาลีและประเทศโรมาเนียมายังประเทศไทย ปัจจุบันอิสระดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของบริษัทและกลุ่มบริษัทในเครือฯ และประธานหอการค้าโรมาเนีย-ไทย

ด้วยประสบการณ์ทำงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคยุโรป ส่งผลให้ประเทศมอลโดวาเสนอแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์และหัวหน้าคณะผู้แทนทางการกงสุลของสาธารณรัฐมอลโดวาประจำประเทศไทยคนแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกอนุมัติบัตรรับรองให้ ดร. อิสระ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ[7] และเขายังได้รับเชิญให้เป็นกรรมการบริหารสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) ด้วย

งานทางด้านวิชาการ

[แก้]

สำหรับงานด้านวิชาการ อิสระ ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น "รองศาสตราจารย์" และเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยของทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย รวมทั้งรับเชิญเป็นกองบรรณาธิการบริหารของการประชุมวิชาการนานาชาติ โดยมีผลงานทั้งรูปแบบหนังสือและบทความในวารสารวิชาการระดับนานาชาติชั้นนำต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2021) " Chloride-induced Corrosion of a Galvanized Steel-embedded Calcium Sulfoaluminate Stucco System", Journal of Building Engineering, 44 (3) :103376.DOI: 10.1016/j.jobe.2021.103376

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2020) "Environmental Evaluation of Pavement System Incorporating Recycled Concrete Aggregate", International Journal of Pavement Research and Technology.DOI: https://doi.org/10.1007/s42947-020-0002-7

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2019) “Dissolution, Nucleation, and Crystal Growth Mechanism of Calcium Aluminate Cement”, Journal of Sustainable Cement-Based Materials, 8 (3), 180-197. DOI:10.1080/21650373.2018.1558132

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2018) “Advances in Green Engineering for Natural Products Processing”, Journal of Engineering Science and Technology Review, 11 (2), 196.

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2018) “Effects of Seeding Nucleation Agenton Geopolymerization Process of Fly-Ash Geopolymer”, Frontiers of Structural and Civil Engineering, 12 (1), 16.

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2016) “The Effect of Pulsed Microwave Power on Transesterification of Chloerlla Sp. for Biodiesel Production”, Chemical Engineering Communications, 203 (5), 575.

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2011) “Nanofiltration Process for the Nutritional Enrichment and Refining of Rice Bran Oil”, Journal of Food Engineering, 102, 16.

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2010) “Enantiosepartion Via EIC-OSN: Process Design and Improvements of Enantiomers Resolvability and Separation Performance”, American Institute of Chemical Engineers Journal, 56 (4), 893.

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2010) “Demonstration of Molecular Purification in Polar Aprotic Solvents by Organic Nanofiltration”, Organic Process Research & Development, 14 (3), 600.

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2010) “Spiral-Wound Polyaniline Membrane Modules for Organic Solvent Nanofiltration (OSN) ”, Journal of Membrane Science, 349, 123.

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2008) “Polymeric Membrane Nanofiltration and Its Application to Separations in the Chemical Industries”, Marco Molecular Symposia, 264, 184.

⧫ Sereewatthanawut, et al. (2006) “Extraction of Protein and Amino Acids Form Deoiled Rice Bran by Subcritical Water Hydrolysis” Bio Resource Technology, 99 (3), 555.

งานทางด้านตุลาการ

[แก้]

นอกจากงานด้านการศึกษา อิสระ ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งด้านตุลาการ เช่น ผู้พิพากษาสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง[8] และด้านนิติบัญญัติซึ่งได้รับการเชิญให้เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมาธิการในวงงานหลายคณะ ได้แก่ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและแรงงาน[9] คณะกรรมาธิการการพลังงาน[10] คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ [11] คณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจในคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ เป็นต้น

การทำงานการเมือง

[แก้]

อิสระ สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์[12] และเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยมติที่ประชุมเป็นเอกฉันท์จากที่กำหนดในข้อบังคับ อิสระได้รับการยกเว้นในคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคฯ ครบ 5 ปีจึงจะมีสิทธิ์เป็นกรรมการบริหารพรรคฯ[13] ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 ดร.อิสระลงสมัครเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับที่ 23 ของพรรคประชาธิปัตย์[14]

ในการเข้ารับตำแหน่งประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรของนายชวน หลีกภัย ได้แต่งตั้ง อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ เป็นข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองระดับบริหาร ในตำแหน่ง “เลขานุการประธานรัฐสภา” (Chief Presidential Secretary)

กระทั่งวันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2562 ก่อนการประชุมสภานายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยให้มีผลทันทีส่งผลให้ อิสระ ขยับขึ้นมาทำหน้าที่แทน [15]

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2566 อิสระได้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายชวน หลีกภัย ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง[16]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 อิสระได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 15[17] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาภายหลังการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เขาได้รับการกล่าวถึงผ่านสื่อมวลชนว่าจะเป็นบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป[18] แต่ต่อมาเจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่มีความประสงค์จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์[19]

การดำรงตำแหน่ง

[แก้]

นอกจากดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์แล้ว อิสระ ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งในระดับนานาชาติและภายในประเทศดังนี้

  • กรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การคลัง และการค้า (Inter-Parliamentary Union : IPU Committee on Sustainable Development, Finance and Trade)
  • กรรมการบริหารยุวสมาชิกรัฐสภาของสหภาพรัฐสภา (Member of the Board of the IPU Forum of Young Parliamentarians)
  • สมาชิกคณะมนตรีบริหารด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แห่งอาเซียนร่วมกับองค์การอนามัยโลก (Leadership Council ASEAN-WHO South-East Asia for Road Safety Network)
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-โรมาเนีย
  • รองประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-โปรตุเกส
  • เลขานุการและคณะกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-เบลเยียม
  • สมาชิกกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-สหราชอาณาจักร
  • สมาชิกกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-ลิทัวเนีย
  • กรรมาธิการอื่น ๆ อีกหลายคณะในสภาผู้แทนราษฎร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษาประกาศอิสระ เสรีวัฒนวุฒิเลื่อนขึ้นเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
  2. คณะกรรมการสถาบันพระปกเกล้า
  3. 'อิสระ'รายงานตัวส.ส. ระบุลาออกเลขาประธานรัฐสภาแล้ว
  4. ปลื้ม ลูกชวน เฮ! ได้เป็นส.ส.แล้ว หลัง ‘อิสระ’ ลาออก เปิดทางให้นั่งปาร์ตี้ลิสต์
  5. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  6. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์. ““ดร. อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” วาดหวัง “ประชาธิปไตยกินได้”” เดลินิวส์. 24 มิถุนายน 2561: 21. https://www.dailynews.co.th/article/650945   
  7. “ประกาศกระทรวงการต่างประเทศ การแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐมอลโดวาประจำประเทศไทย, ” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 209 ง (19 กันยายน 2559) : 20. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/209/20.PDF&nbsp[ลิงก์เสีย];
  8. “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เรื่อง แต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง, ” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 97 ง (4 เมษายน 2560) : 7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/097/7.PDF
  9. "รายนามคณะอนุกรรมาธิการสนับสนุนภารกิจพาณิชย์ อุตสาหกรรม และแรงงาน". http://web.senate.go.th/w3c/senate/comm.php?comm_id=1558&sub_id=21112&url=committee_sub[ลิงก์เสีย]
  10. https://www.senate.go.th/view/5/หน้าหลัก/TH-TH/[ลิงก์เสีย]
  11. "รายชื่อที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการต่างประเทศ".http://web.senate.go.th/w3c/senate/pictures/comm/1552/รายชื่อที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการ_4.pdf
  12. ศนภา มยุรภาส. “อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ นักการเมืองพลังใหม่พรรคประชาธิปัตย์” โพสต์ทูเดย์. 28 ตุลาคม 2561: A7.
  13. ขิง เอกนัฏ-ตั้น จิตภัสร์' ร่วมทีมรองเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์. หนังสือพิมพ์แนวหน้า, วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. หน้าแรก จากเว็บไซต์ https://www.naewna.com/politic/376144   
  14. "เปิด 150 รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิส พรรคประชาธิปัตย์"https://www.thaipost.net/main/detail/28545
  15. 'จุติ' ลาออกพ้นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 'อิสระ' ขยับเสียบแทน
  16. ""ชวน" ตั้ง "อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ" ที่ปรึกษา ปธ.รัฐสภา หลังลาออก ส.ส.เปิดทาง "ปลื้ม" ประเดิมผู้แทน". mgronline.com. 2023-01-26.
  17. "เผยเซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. "จุรินทร์-ชวน" นำทีม "ตั๊น" ที่ 10 เบียด "เดียร์" พร้อมใส่เฝือกหาเสียง". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-04-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-06. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.
  18. ชื่อ "อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ" มาแรง ชิงเก้าอี้หัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์
  19. “อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” ลั่นไม่มีความประสงค์เป็น หัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๔ ข หน้า ๔, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๔, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
  22. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๕, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๒ ข หน้า ๑๙, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]