อิสระชัย บำรุงพงศ์
อิสระชัย บำรุงพงศ์ | |
---|---|
เกิด | 10 สิงหาคม พ.ศ. 2483 |
เสียชีวิต | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 (68 ปี) |
คู่สมรส | มันทนา บำรุงพงศ์ |
บุตร | ดวงกมล นวลแข อาริษา บำรุงพงศ์ สืบพงศ์ บำรุงพงศ์ |
บิดามารดา | พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ คุณหญิงจรัสลักษณ์ บำรุงพงศ์ |
พลโท อิสระชัย บำรุงพงศ์ (10 สิงหาคม 2483 – 30 กรกฎาคม 2552) เป็นนายทหารชาวไทย อดีตรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอดีตนายทหารพิเศษ
ประวัติ
[แก้]ชีวิตส่วนตัว
[แก้]อิสระชัย บำรุงพงศ์ เกิดวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2483 อิสระชัย เกิดในค่ายทหาร ตำบลนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นบุตรชายคนเดียวของพล.อ. บุญชัย บำรุงพงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก และคุณหญิงจรัสลักษณ์ บำรุงพงศ์
ครอบครัว
[แก้]พล.ท. อิสระชัย บำรุงพงศ์ สมรสกับนางมันทนา บำรุงพงศ์ (สกุลเดิม : ไหลมา) มีบุตรและธิดารวม 3 คนได้แก่
- นางดวงกมล นวลแข
- นางสาวอาริษา บำรุงพงศ์
- นายสืบพงศ์ บำรุงพงศ์
ยศทางทหาร
[แก้]- พ.ศ. 2507 - ร้อยตรี
- พ.ศ. 2509 - ร้อยโท
- พ.ศ. 2513 - ร้อยเอก
- พ.ศ. 2517 - พันตรี[1]
- พ.ศ. 2520 - พันโท[2]
- พ.ศ. 2524 - พันเอก[3]
- พ.ศ. 2533 - พลตรี[4]
- พ.ศ. 2538 - พลโท[5]
การศึกษา
[แก้]ประวัติการศึกษา
[แก้]หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เมื่อพ.ศ. 2500 ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อย เป็นนักเรียนเตรียมนายร้อยรุ่นที่ 18 ต่อจากนั้นจึงได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 11 และสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี เหล่าทหารราบ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2507
การศึกษาทางทหาร
[แก้]หลังจากเข้ารับราชการทหารแล้ว พล.ท. อิสระชัย บำรุงพงศ์ ได้เข้าศึกษาและอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้
- พ.ศ. 2508 - หลักสูตรศิษย์การบิน ชั้นมัธยม รุ่นที่ 5 โรงเรียนการบินทหารบก
- พ.ศ. 2510 - หลักสูตรภาษาอังกฤษ และนักบินปีกหมุน โรงเรียนภาษาอังกฤษ แลคเลนด์ และโรงเรียนการบินทหารบก ค่ายลักเกอร์ สหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2513 - หลักสูตรชั้นนายพันทหารราบ โรงเรียนทหารราบกองทัพบก ค่ายเบนนิ่ง รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2514 - หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 50 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
- พ.ศ. 2518 - หลักสูตรผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการฟอร์ทลีเวนเวอร์ท รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2518 - หลักสูตรระบบการบริหาร ศูนย์การศึกษาการบริหารทรัพยากร กระทรวงกลาโหม เมืองมอนเทอร์เรย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
- พ.ศ. 2536 - หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ รุ่นที่ 35
ตำแหน่งหน้าที่การงาน
[แก้]พล.ท. อิสระชัย บำรุงพงศ์ เป็นนายทหารที่รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างมั่นคง มีความขยัน มานะอดทน ปฏิบัติงานด้วยความจริงจัง ทุ่มเทเวลาให้กับงานที่รับผิดชอบโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยในทุกตำแหน่งหน้าที่ มีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูง พร้อมทั้งได้ทุ่มเทความรู้ ความสามารถ สร้างสรรค์ พัฒนาให้กับหน่วยงานที่สังกัดอย่างเต็มกำลังโดยไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ เป็นผู้นำที่ดี และเป็นครูที่มีคุณค่ากับผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดนจนเพื่อนร่วมงานอย่างเสมอ และจริงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เป็นหลักชัยของครอบครัว ดำเนินชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย แต่มีระเบียบแบบแผน และไม่เคยใช้บารมีของการเป็นลูกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาเป็นอำนาจในการปกครองและบริหารงานอย่างใดเลย จึงเป็นที่เคารพรักและชื่นชมต่อครอบครัวและญาติมิตร รวมทั้งผู้ที่ได้รู้จักและร่วมงานด้วยทุกคน โดยได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
- พ.ศ. 2508 - ผู้บังคับหมวดเครื่องยิงหนัก กรมผสมที่ 6
- พ.ศ. 2509 - นักบินกรมการขนส่งทหารบก
- พ.ศ. 2514 - ผู้ช่วยหัวหน้ากองยุทธการ กองทัพภาคที่ 1
- พ.ศ. 2516 - ประจำแผนก กรมยุทธการทหารบก
- พ.ศ. 2518 - รองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
- พ.ศ. 2521 - ประจำกรมข่าวทหารบก
- พ.ศ. 2524 - นายทหารฝ่ายเสนาธิการ สถาบันวิชาการทหารบกขั้นสูง
- พ.ศ. 2528 - นายทหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาการรบ กองวิชาการ สถาบันวิชาการทหารบกขั้นสูง
- พ.ศ. 2533 - ผู้อำนวยการศูนย์กรรมวิธีข้อมูล
- พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2535, พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2541 - หัวหน้าสำนักงานประสานการช่วยเหลือทางทหารระหว่างประเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด
- พ.ศ. 2538 - ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
- พ.ศ. 2540 - ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า[6]
ความสนใจทางการกีฬา
[แก้]พล.ท. อิสระชัย เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นยอดนักกีฬาที่มีความสามารถเฉพาะตัวทางด้านกีฬาเกือบทุกประเภท จึงได้เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา จนถึงระดับนักเรียนนายร้อย อีกทั้งยังเป็นตัวแทนระดับกองทัพบกอยู่หลายสมัย กีฬาประเภทที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงสมัยเป็นนักเรียนคือ รักบี้ฟุตบอล และกรีฑาประเภทวิ่งระยะทาง 100 เมตร เมื่อเข้ารับราชการได้หันมาเอาจริงจังกับกีฬากอล์ฟ ซึ่งปรากฏว่ามีฝีมือใกล้เคียงกับระดับมืออาชีพ ทั้งนี้เพราะเป็นผู้ที่ขยันศึกษาและฝึกฝนอย่างจริงจัง นอกจากนี้เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้นได้กลับมาวิ่งเป็นประจำทุกวัน จนเมื่ออายุ 58 ปี ได้ผันตัวเองเป็นนักกีฬาจักรยาน โดยมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมระยะทาง 5-10 กิโลเมตรต่อวันเป็นประจำ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มนักปั่นจักรยานเสือภูเขาที่ได้มีโอกาสไปปั่นจักรยานอยู่เสมอในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยแม้กระทั่งถึงล้านนา
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]พล.ท. อิสระชัย บำรุงพงศ์ ประสบกับภาวะหัวใจล้มเหลวในขณะพักเหนื่อยจากการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในช่วงเช้าของวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2548 จนทำให้สมองได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยพล.ท. อิสระชัย ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และเข้า - ออกโรงพยาบาลเป็นเวลานานถึง 4 ปี 4 เดือน และถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในเช้าของวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สิริอายุ 68 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
- พ.ศ. 2537 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[8]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายหน้า)[9]
- พ.ศ. 2519 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[10]
- พ.ศ. 2513 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (เล่ม 91 ตอนที่ 218 วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2517, หน้า 75)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (เล่ม 94 ตอนที่ 127 วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2520, หน้า 66)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (เล่ม 98 ตอนที่ 186 วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524, หน้า 43)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (เล่ม 107 ตอนที่ 235 วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533, หน้า 6)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารชั้นนายพล (เล่ม 112 ตอนที่ 8 ข วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2538, หน้า 7) เก็บถาวร 2018-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ (เล่ม 114 ตอน 59 ง วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540, หน้า 4)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๒๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๘ ข หน้า ๕, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗, ๑๕ กันยายน ๒๕๑๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๖๔ ง หน้า ๒๑๕๗, ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๓