ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอพนมไพร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอพนมไพร
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Phanom Phrai
คำขวัญ: 
เมืองแสนล้านช้าง ต้นยางใหญ่สระขี้ลิง พระธาตุมิ่งขวัญรวมใจ บุญบั้งไฟเพ็ญเดือนเจ็ด รสเด็ดข้าวปุ้นซาว หาดทรายขาวมากปลาชี ผ้ามัดหมี่ไหมลือนาม
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอพนมไพร
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอพนมไพร
พิกัด: 15°40′42″N 104°6′36″E / 15.67833°N 104.11000°E / 15.67833; 104.11000
ประเทศ ไทย
จังหวัดร้อยเอ็ด
พื้นที่
 • ทั้งหมด519.3 ตร.กม. (200.5 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด71,114 คน
 • ความหนาแน่น136.94 คน/ตร.กม. (354.7 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 45140
รหัสภูมิศาสตร์4506
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอพนมไพร หมู่ที่ 3
บ้านศิลาเลข ถนนพินิจนนทราษฎร์ ตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด 45140
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

พนมไพร เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด เดิมชื่อ อำเภอพนมไพรแดนมฤค ขึ้นกับแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ก่อตั้งเป็นเมือง ในปี พ.ศ. 2421 โดยต่อมายุบเป็นอำเภอพนมไพร ให้ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด ในปี พ.ศ. 2451 หลังการปฏิรูปการปกครอง ในระบบมณฑลเทศาภิบาล และเป็นอำเภอที่อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำชีกับอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอพนมไพรตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ประวัติและตำนานเมืองแสนล้านช้าง

[แก้]

ประวัติ

[แก้]

อำเภอพนมไพรเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานจากหลักฐานทางด้านเอกสาร (แก้ว ทิพย์อาสน์ 2535) และ (พิศมัย แสงจันทร์เทศ 2536 : 31) และประวัติบอกเล่าอำเภอพนมไพรมีพัฒนาการและการสร้างบ้านแปลงเมืองแบ่งออกเป็น 4 สมัย คือ

1.ยุคตำนานบ้านจะแจ หรือบ้านแก

2.ยุคตำนานเมืองแสนล้านช้าง

3.ยุคบ้านเมืองแสน สังกัดนครจำปาศักดิ์ และเมืองท่งศรีภูมิ ( พ.ศ. 2256 - 2315 ) เมืองสุวรรณภูมิ ( พ.ศ. 2315 - 2421 )

4.ยุคเมืองพนมไพรเมืองมฤค เมืองขึ้นแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ( พ.ศ. 2421 - 2451 ) และอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ( ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451 )

1.ตำนานสมัยบ้านจะแจ หรือบ้านแก

[แก้]

บริเวณอำเภอพนมไพรเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมโบราณ ชนกลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งคือชาวข่าจะแด ซึ่งเป็นกลุ่มชนจากแถบอีสานตอนใต้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณชายทุ่งใหญ่ด้านทิศใต้เมืองในปัจจุบันชาวข่าตั้งชื่อเมืองของตนเองว่าเมืองยางคะบุรี ปัจจุบันเป็นบ้านโนนม่วง ต.นานวล) ต่อมาเมื่อมีพลเมืองมากขึ้นจึงมีการขยายบ้านเมืองมาอยู่ทางด้านทิศเหนือเมืองเดิมและตั้งชื่อบ้านที่ขยายมาอยู่ใหม่ว่า บ้านจะแจ ซึ่งเป็นภาษาชาวข่า และบ้านจะแจนี้ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของอำเภอพนมไพร เมื่อพระพุทธศาสนา เข้าสู่แหลมสุวรรณภูมิพระพุทธรักขิตสาวกของพระมหากัสสปะได้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาที่เมืองอินทะปัฐถานครจนเจริญรุ่งเรืองแล้วมอบหมายให้สาวกของพระองค์คือพระครูมหารัตนชัยยะกับพระครูมหาปะสมัน เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาที่เมืองมรุกขนคร(นครพนม)เมื่อพระครูทั้งสองเดินผ่านมายังบ้านจะแจจึงหยุดพักค้างคืนชาวบ้านจะแจเห็นพระสงฆ์จึงพากันถวายจังหันและฟังธรรมพร้อมกับนิมนต์พระสาวกทั้งสองให้อยู่สั่งสอนชาวบ้านต่อไป พระครูรัตนชัยยะจึงให้พระครูมหาปะสมันอยู่ที่หมู่บ้านก่อนตามที่ชาวบ้านนิมนต์ และได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักชื่อวัดปะสมัน (วัดกลางอุดมเวทย์) ลูกหลานชาวบ้านจะแจจึงได้บวชเรียนเป็นจำนวนมาก แล้วพระครูมหาปะสมันจึงเดินทางไปเมืองมรุกขนคร ชนกลุ่มที่สองที่เดินอพยพมาบริเวณบ้านจะแจคือชาวลาว เมื่อพระเจ้าจันทบุรีสิ้นพระชนม์ เชื้อพระวงศ์กับอำมาตย์แย่งราชสมบัติพระครูลูกแก้ว หรือพระครูยอดแก้ว หรือพระครูหลักคำเป็นผู้ที่สำเร็จวิปัสสนากรรมฐานที่ได้รับความเคารพยำเกรงจากชาวเวียงจันทน์เป็นจำนวนมาก เจ้าเมืองเวียงจันทน์เกรงว่าจะเป็นภัยต่อตนเองจึงหาทางกำจัด พระครูลูกแก้ว และญาติโยมสานุศิษย์หนีจากเมืองเวียงจันทน์ ในจำนวนนี้มีท้าวผุย ท้าวผาย สองพี่น้องเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองเวียงจันทน์องค์ก่อนตามมาด้วย เมื่อมาถึงบ้านจะแจชาวบ้านเห็นพระภิกษุ และญาติโยมจำนวนมากจึงสอบถามข่าวคราวที่เดินทางมานั้น พระครูลูกแก้วเล่าเหตุการณ์และความเป็นมาของบการเดินทางให้ทราบชาวบ้านสงสารจึงนิมนต์ให้อยู่ที่วัดปะสมัน ส่วนญาติโยมสานุศิษย์ก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยได้ตามความสะดวก ชาวลาว และชาวข่าจึงเป็นเสมือนเครือญาติพึ่งพาอาศัยกัน จำนวนครอบครัวลาวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกตามภาษาลาวว่า บ้านแกซึ่งปัจจุบันคือคุ้มแก

2.ตำนานและประวัติสมัยเมืองแสนล้านช้าง

[แก้]

ต่อมาเมื่อหัวหน้าชาวข่าได้ถึงแก่กรรม พระครูลูกแก้วจึงตั้งท้าวผุยเป็นหัวหน้าหมู่บ้านแทน ชาวบ้านต่างถิ่นพากันมาพึ่งบุญบารมีของพระครูลูกแก้วจนบ้านแกมีพลเมืองครัวเรือนมากพอที่จะสร้างเป็นเมืองได้ พระครูลูกแก้ว ท้าวผุย ท้าวผาย จึงปรึกษากับชาวบ้านว่าดอนบ้านแกเป็นดอนใหญ่พอที่จะสร้างเป็นบ้านเมืองได้แต่หน้าฝนน้ำชีไหลหลากมาท่วม หน้าแล้งน้ำแห้งจึงควรขุดหนองบึงรอบดอนเอาดินมากลบมาถมให้สูงและถมเป็นรูปจระเข้เพราะเป็นสัตว์ที่มีอำนาจทั้งทางบกและทางน้ำสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ พื้นที่ของเมืองจึงเป็นรูปจระเข้นอนคว่ำหันหัวไปทางทิศตะวันตก การถมพื้นที่นี้ทำให้เกิดหนองบึงขึ้นรอบๆ เมืองหลายแห่งคือ

ทิศเหนือ หนองขวัว

ทิศตะวันออก หนองสม

ทิศตะวันตก หนองฮี หนองหว้า หนองหลุบ หนองแนบ

ทิศใต้ หนองโผ่ หนองดินแดง หนองหิน หนองศิลาเลข

กลางเมือง หนองผำหรือสระโชติเสถียร (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีขนส่ง) หนองสระเจ้าปู่ หรือหนองสระขี้ลิง

เมื่อจัดการกับบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วพระครูลูกแก้วจึงนำข้าราชบริภารการมีผ้าขาวดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ช้างพลาย ช้างพัง จำนวนหนึ่ง ให้ท้าวผุย ท้าวผาย จารย์สมศรี คุมไพร่พล ชาวบ้านแกนำไปถวายกษัตริย์เวียงจันทน์และขอเป็นเมืองขึ้น เจ้านครเวียงจันทน์จึงตั้งบ้านแกเป็นเมืองแสนและให้เรียกเมืองแสนล้านช้าง หรือล้านช้างตามชื่ออาณาจักรล้านช้างอันมีเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง ให้ท้าวผุยบซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์เวียงจันทน์เป็นเจ้าเมือง พระราชทานชื่อว่าพระยาชัยแสนสุริยวงศ์ ให้ท้าวผายเป็นอุปฮาด จารย์สมศรี เป็นราชวงศ์ ด้านเมืองยางคะบุรีซึ่งเป็นเมืองของชาวข่ากลุ่มแรกเห็นว่าชาวลาวเมืองแสนไม่ได้ส่งส่วยให้เมืองยางคะบุรีจึงให้ทหารมาทวงส่วย พระยาชัยแสนสุริยวงศ์ไม่ยินยอม เกิดรบกันขึ้น ทัพข่าแพ้ตกอยู่ใต้อำนาจเมืองแสน เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยพระครูลูกแก้ว และพระยาชัยแสนสุริยวงศ์ จึงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปะสมัน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดโพธิ์ เมื่อสิ้นสมัยพระครูลูกแก้วและพระยาชัยแสนสุริยวงศ์แล้ว เจ้านครเวียงจันทน์จึงตั้งท้าวผายเป็นเจ้าเมืองสืบแทน และจัดตั้งบุตรหลานของพระยาชัยแสนสุริยวงศ์เป็นเจ้าเมืองต่อมาอีกหลายชั่วคน ในสมัยนี้นับว่าเป็นสมัยที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข จนต่อมา ปี พ.ศ. 2256 อาณาจักรล้านช้าง แตกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เมืองแสน จึงได้มาขึ้นกับ ราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ จนกระทั่ง เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ปฐมกษัตริย์แห่งล้านช้างจำปาศักดิ์ ได้แต่งตั้งเจ้าแก้วมงคล เป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ (อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน) โดยแบ่งดินแดนฝั่งแม่น้ำชีด้านตะวันตกให้ เมืองท่งศรีภูมิ ปกครอง เมืองแสนจึงตกอยู่ในเขตอำนาจ ของเมืองท่งศรีภูมิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2256 - พ.ศ. 2315

3.สมัยบ้านเมืองแสน สมัยกรุงธนบุรีของไทย ราชอาณาจักรเวียงจันทน์และราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ สูญเสียอำนาจตกอยู่ในความปกครองของกรุงธนบุรีพลเมืองของเมืองแสนล้านช้างถูกกวาดต้อนไปกับกองทัพของพระเจ้าพระยาจักรี (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) พร้อมกับเจ้าเมือง บ้างก็หลบหนีสงคราม สภาพของเมืองแสนจึงเป็นเมืองร้าง ขาดการเป็นเมืองขึ้นของเวียงจันทน์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2256 มาแล้ว ตั้งแต่นั้นมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดการบ้านเมืองทางเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์เรียบร้อยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งเมืองแสนเป็นกองนอกให้เพี่ยมหาเสนากับเพี่ยขุนอาจ เป็นหัวหน้ากองทำบัญชีทางทหารนำเงินค่ารัชชูปการส่งต่อข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการเมืองจำปาศักดิ์ ลดฐานะจากบ้านเมืองเรียกว่า บ้านเมืองแสน อยู่เขตเมืองสุวรรณภูมิประเทศราช โดยทั้งนี้เมืองสุวรรณภูมิได้เข้าเป็นขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรกรุงธนบุรีตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2310 ยังผลให้บ้านเมืองแสน ได้เป็นส่วนหนึ่งของกรุงธนบุรีนับแต่นั้น ในระหว่างนี้ได้มีผู้อพยพจากเมืองศรีสะเกษ มีท้าวแสนเมืองเป็นหัวหน้ากลุ่มได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านโปงริมฝั่งแม่น้ำชี แต่เห็นว่าทำเลไม่เหมาะสม จึงอพยพผู้คนส่วนหนึ่งมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเมืองแสน ท้าวแสนเมืองในนำพาชาวบ้านพัฒนาบ้านเมืองให้กลับสู่สภาพชุมชนอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่งเดินทางมาจากเมืองมรุกขนครได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ พระภิกษุรูปนี้มีความรู้ทางด้านไสยศาสตร์และพระธรรมวินัยอย่างแตกฉาน สามารถรักษาโรคต่างๆได้ ประชาชนจึงหลั่งไหลมารักษา เมื่อหายขาดแล้วจึงตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเมืองแสน ทำให้บ้านเมืองแสนมีพลเมืองมากขึ้น ภายหลังปี พ.ศ. 2318 เจ้าสุทนต์มณี ได้เป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ด ดำรงตำแหน่ง เป็น พระขัติยวงษาทนต์ แล้วนั้น การแบ่งปันอาณาเขตของเมืองสุวรรณภูมิกับเมืองร้อยเอ็ด และเมืองจำปาศักดิ์ ได้แบ่งชัดเจนมากขึ้น โดยให้โอนเมืองแสน มาสังกัดเมืองสุวรรณภูมิ อย่างเต็มรูปแบบ นับแต่ ปี พ.ศ. 2318 จนล่วงเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์

4.สมัยพนมไพรแดนมฤค เมืองแสน มีผู้สืบทอดเป็นหัวหน้าหมู่บ้านชุมชน ต่อเนื่องนับจากสมัยเมืองแสน โดยเป็น เมืองเล็ก ภายใต้ขอบเขตอำนาจปกครองของเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2318 ต่อเนื่อง จนกระทั่ง พ.ศ. 2415 พระยารัตนวงศา (คำผาย) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม ยังมิได้โปรดเกล้าฯตั้งผู้ใดสืบแทน จนถึง พ.ศ. 2420 พระยาอำมาตย์ธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ไปราชการที่กรุงเทพฯ ราชวงศ์ (คำสิงห์) น้องชายพระยารัตนวงศา (คำผาย) กับหลวงรัตนวงศา (บุญตา) ควรแยกให้เป็นอีกเมืองหนึ่งทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นบ้านโปงแขวงสุวรรณภูมิ ขึ้นเป็นเมืองมโนไพรแดนมฤค ต่อมาข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการเมืองจำปาศักดิ์เห็นว่าเมืองมโนไพรแขวงสุวรรณภูมิใหม่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพนมไพรแดนมฤค พระราชทานเครื่องยศตามธรรมเนียม ในปรากฏในหลักฐานว่า

….ในปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักดิ์ 1240 (พ.ศ. 2421) โปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงรัตนวงศา (บุญตา) เป็นพระดำรงฤทธิ์ไกร เจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤค ยกฐานะบ้านโปงขึ้นเป็นเมืองพระราชทานถาดหมากปากกลีบบัวถมตะทอง เครื่องในทอง 1 คนโฑทอง 1 กระโถนถม 1 กระบี่บั้งทอง 1 สัปทนปัสตูแดง 1 เสื้อเข้มขาบริ้ว 1 แพรสีทับทิมติดขริบ 1 แพรขาวห่มเพลาะ 1 ผ้าม่วงจีน 1 เป็นเครื่องยศ ….

พระดำรงฤทธิ์ไกร (บุญตา) ได้พาครอบครัวไปตั้งเมืองพนมไพรแดนมฤคที่บริเวณบ้านเมืองแสน ห่างจากบ้านโปงประมาณ 300 เส้น ตั้งท้าวสุวรรณราชเป็นว่าที่อุปฮาด หลวงราชเป็นเพียเมืองจัน หลวงศรีวิเศษเป็นเพียเมืองปาว ขุนอาจเป็นเพียเมืองขวา ดูแลราชการเมืองพนมไพนเมืองมฤค พ.ศ. 2431 พระยารัตนวงศา (คำสิงห์) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรมจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชดำรงฤทธิ์ไกร (บุญตา) ไปเป็นข้าหลวงช่วยกำกับ ราชการเมืองสุวรรณภูมิให้ท้าวสุวรรณราชการเป็นเจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤค เมืองพนมไพรแดนมฤค มีเจ้าเมือง 3 คน คือ

1. พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) พ.ศ. 2421 - 2431

2. ท้าวสุวรรณราช (หลวงอุปฮาด) พ.ศ. 2431 - 2444

3. ท้าวโพธิสาร วงศ์ ณ รัตน์ พ.ศ. 2444 - 2455

พ.ศ. 2455 ตั้งมณฑลร้อยเอ็ด ให้เมืองพนมไพรขึ้นกับมณฑลร้อยเอ็ด จนถึง พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองยุบมณฑลต่างๆ เมืองพนมไพรเป็นอำเภอพนมไพร และให้ตัดคำว่าแดนมฤคออกเป็นอำเภอพนมไพรขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ดจนถึงปัจจุบัน

ตำนานดินแดนช้างเผือก อำเภอพนมไพรเคยเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีช้างเผือกมาก จากคำบอกเล่านั้นกล่าวกันว่าอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษคือการทำนาและเลี้ยงช้าง โดยเสร็จจากฤดูการทำนา ชาวเมืองแสนจะข้ามโขงไปคล้องช้าง เพื่อนำมาใช้งานซึ่งใช้ทั้งไถ่นาและเป็นพาหนะ ในการคล้องช้างนั้นเคยคล้องได้ช้างเผือกหลายเชือก จนกล่าวกันว่าเมืองแสนคือดินแดนช้างเผือก หรือเมืองแสนล้านช้างเพราะมีช้างมาก คำบอกเล่าแห่งความเป็นดินแดนช้างเผือกนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวอำเภอพนมไพรในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง หลักฐานที่กล่าวถึงช้างเผือกของเมืองแสนล้านช้างนั้นมีดังนี้ พ.ศ. 2405 ในเดือน 4 พระรัตนวงศาอุปฮาดราชวงศ์เมืองสุวรรณภูมิ คล้องได้ช้างพังสีประหลาดช้าง 1 ที่กระแจป่าฉมาตฉะบา แขวงข่าลัดแด สูง 3 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว ฝึกหัดเชื่องราบแล้วเดินช้างมาถึงจันทรเกษมวันเสาร์เดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ พักช้างอยู่ที่วังจันทรเกษมแล้วเสด็จขึ้นไปสมโภช 3 วัน 3 คืนแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับลงมารับคำสั่งว่า ช้างนี้จะจัดเอาเป็นช้างโทก็ได้ โปรดให้ปลูกโรงสมโภชหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรค์เหมือนอย่างพระศรีเศวตวิมลวรรณ และให้ปลูกโรงอยู่ต่อยืนโรงพระเศวตวิมลวรรณอีกหลังหนึ่ง เจ้าพนักงานได้เร่งรัดกันทำโรงสมโภชและโรงอยู่ ลุศักราช 1225 ปีกุน เบญจศก ปีที่ 13 โรงช้างทำแล้วช้างได้ลงแพล่องลงมาถึงวัดเขียน ณ วันพฤหัสบดีเดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับมาถึงท่าพระ ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ได้แต่งช้างสีประหลาดลงไปรับทุกๆช้าง แล้วเสด็จไปรับที่ท่าพระด้วย ตามถนนที่แห่ช้างมานั้นมีราชวัติฉัตรเบญจรงค์ปักรายขึ้นมาถึงโรงสมโภช ครั้นเวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีการมหรสพทำขวัญ 3 วัน 3 คืน ช้างนั้นถ้าจะประสมสี ๆ เหลืองเป็นพื้น เจือแดงเจือฝุ่นน้อย จารึกนามในท่อนอ้อยว่า “ พระเศวตสุวรรณภาพรรณ สรรพางคพิบูลยลักษณ บรมราชรัตนราชกริณี ยิ่งอย่างดีศรีพระนคร สุนทรสุรโสภณมิ่งมงคลคชคุณ อดุลบกิริยามารยาท ช้าช้างชาติอุโบสถ ลักษณะปรากฏพร้อมมูล บริบูรณบัณฑรนับเนตร โลมเกศกายฉวีวรรณศรีทองผ่องแผ้ว เป็นกุชรีแก้วกำเนิดพรหมพงศ์ราชบารมี สมเด็จพระสยามาธิบดีปรเมนทรมหาราชวรวิลาสเลิศฟ้า” พระราชทานให้ช้างรับต่อพระหัตถ์ เสด็จการสมโภชตั้งชื่อแล้วก็แห่เข้ามาผูกยืนโรงไว้ที่ท่าใหม่ สวดมนต์ทำขวัญ 3 วัน แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเครื่องอุปโภคบริโภคให้พระรัตนวงศาและหมอควานกับเงิน 10 ชั่ง (ส.พลายน้อย . 2515: 423-424) พ.ศ. 2414 ชาวเมืองแสนได้ไปต่อช้างที่ชะมาดชะบาบ้านพอกข่าระแด แขวงจำปาศักดิ์คล้องได้ช้างพลายสีประหลาด สูง 3 ศอกเศษ เพีนยมหาเสเนาและเพียขุนอาจหัวหน้ากองจึงมีใบไปบออกพระรัตนวงศา (คำผาย) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงศา (คำผาย) จึงมีใบไปบอกกรุงเทพฯต่อ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รพยาเหมสมหารเจ้าเมืองราชสีมา มาตรวจดูเห็นถูกต้องตาราคชศาสตร์จึงโปรดเกล้าฯ ให้รับช้างไว้ มีมหากรรมสมโภชขึ้นระวางขนานนามว่าพระเศวตสุวรรณาภาพรรณ (ปรากฏนามช้างเผือก และแสดงหลักฐานการถวาย โดย พระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง) ตั้งให้หมอช้างเป็นขุนเศวตสารศรี (ต้นตระกูลจันทร์พิทักษ์) บริเวณที่นำช้างมาเลี้ยงไว้รอคำสั่งจากเมืองสุวรรณภูมินั้น คือบริเวณวัดป่าอัมพวัน หรือวัดประชาธรรมรักษ์ บริเวณโนนที่เลี้ยงช้างเผือกมีชื่อเรยกว่า โนนช้างเผือก หรือคุ้มโนนศิลาเลข หมู่ที่ 3 ตำบลพนมไพร ในปัจจุบัน (แก้ว ทิพย์อาสน์2523: 26-27 พิสมัย เติม วิภาคพจนกิจ. 2530: 196-197)

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอพนมไพรแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 13 ตำบล 160 หมู่บ้าน

ตำบลของอำเภอพนมไพร
ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน หมู่บ้าน ประชากร[a][1]
1 พนมไพร Phanom Phrai 19 10,716
2 แสนสุข Saen Suk 18 8,281
3 กุดน้ำใส Kut Nam Sai 10 3,833
4 หนองทัพไทย Nong Thap Thai 14 6,812
5 โพธิ์ใหญ่ Pho Yai 14 7,132
6 วารีสวัสดิ์ Wari Sawat 11 4,354
7 โคกสว่าง Khok Sawang 16 4,702
8 โพธิ์ชัย Pho Chai 12 6,795
9 นานวล Na Nuan 13 4,509
10 คำไฮ Kham Hai 10 5,191
11 สระแก้ว Sa Kaeo 9 3,694
12 ค้อใหญ่ Kho Yai 7 2,093
13 ชานุวรรณ Chanuwan 7 3,862
รวม 160 71,974
  1. ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอพนมไพรประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลพนมไพร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลพนมไพร
  • เทศบาลตำบลโพธิ์ชัย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์ชัยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลพนมไพร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพนมไพร (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลพนมไพร)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแสนสุข ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนสุขทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้ำใส ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุดน้ำใสทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองทัพไทย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองทัพไทยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์ใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวารีสวัสดิ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวารีสวัสดิ์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสว่าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกสว่างทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนานวล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนานวลทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลคำไฮ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคำไฮทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระแก้วทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลค้อใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลค้อใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลชานุวรรณ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชานุวรรณทั้งตำบล

หมู่บ้าน

[แก้]

เทศกาลสำคัญ

[แก้]
  • งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอพนมไพร เป็นงานประเพณีบุญบั้งไฟ 1 ใน 4 เเห่งที่มีชื่อเสียงเเละมีการจัดงานยิ่งใหญ่ในระดับประเทศ ในการจัดการแข่งขันบั้งไฟมีขบวนแห่ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และมีการจัดตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ โดยยึดวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 เป็นการจัดงานในทุกปี และมีการจุดบั้งไฟถวย (ถวาย) องค์พระมหาธาตุวัดกลางอุดมเวทย์ ซึ่ง มีบั้งไฟแสน รวมบั้งไฟขนาดอื่นๆ รวมกันมากกว่า 1,000 บั้ง เเละมีการจุดมากที่สุดในประเทศไทย
  • งานงานนมัสการพระธาตุ วัดกลางอุดมเวทย์อำเภอพนมไพร หรือที่เรียกว่างานบุญเดือน๓ จะเป็นอีกงาน ที่ลูกหลานชาวพนมไพรต้องกลับบ้านมากราบไหว้สักการะพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองในทุกๆปี โดยยึดเอาวันที่13-14-15ค่ำเดือน3ของทุกๆปีเป็นวันจัดงาน

ชาวอำเภอพนมไพรที่มีชื่อเสียง

[แก้]

ด้านการรัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง

[แก้]
  • จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 จังหวัดร้อยเอ็ด อดีตคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน
  • นิสิต สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นปช.
  • เอมอร สินธุไพร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต 5
  • ชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 จังหวัดร้อยเอ็ด

ด้านกีฬา

[แก้]

ด้านศิลปะ การแสดง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กระทรวงสาธารณสุข (1 มกราคม 2562). "จำนวนประชากรทะเบียนราษฏร์ ย้อนหลัง 3 ปี". hdcservice.moph.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-08. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)