ข้ามไปเนื้อหา

อาลี ซัซโตรอามีโจโย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซัซโตรอามีโจโยเมื่อ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2497

อาลี ซัซโตรอามีโจโย (อินโดนีเซีย: Ali Sastroamidjojo) เป็นนายกรัฐมนตรีอินโดนีเซียระหว่าง พ.ศ. 2496–2508 และ พ.ศ. 2499–2500 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราชและมีแนวคิดแยกศาสนาออกจากการเมืองและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ประวัติ

[แก้]

ซัซโตรอามีโจโยเป็นชาวชวา เกิดที่กราบัก (Grabag) เมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 ในวัยเยาว์ของเขาเป็นช่วงที่หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์กำลังมีความตื่นตัวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเอกราช ซัซโตรอามีโจโยนั้นเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองครั้งแรกเมื่อเป็นนักศึกษากฎหมายในเดอะเฮกโดยเข้าเป็นสมาชิกสมาคมนักศึกษาอินโดนีเซียในเนเธอร์แลนด์ ที่มีโมฮัมมัด ฮัตตาเป็นประธาน สมาคมนี้ต้องการให้อินโดนีเซียได้รับเอกราชโดยแท้จริงและรณรงค์ไม่ให้ชาวอินโดนีเซียในทุกระดับให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในอินโดนีเซีย โดยออกหนังสือพิมพ์ อินโดเนซียาเมอร์เดกา เพื่อเผยแพร่ความคิดนี้

ใน พ.ศ. 2470 สมาคมอินโดนีเซียได้ติดต่อกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่ถูกเนรเทศ ทำให้ซัซโตรอามีโจโยกับเพื่อนนักศึกษาอีกสามคนถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ 6 เดือน จนในที่สุดศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิดจึงให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ หลังจากที่พ้นจากที่คุมขัง ซัซโตรอามีโจโยไปเข้าร่วมกับพรรคชาตินิยมอินโดนีเซียของซูการ์โนที่กำลังเป็นที่นิยม ต่อมา เมื่อซูการ์โนถูกจับขังคุกใน พ.ศ. 2472 ในข้อหาเป็นภัยต่อรัฐบาล และพรรคชาตินิยมถูกยุบเมื่อ พ.ศ. 2474 ซัซโตรอามีโจโยและสมาชิกเดิมในพรรคไปตั้งพรรคการเมืองใหม่คือพรรคอินโดนีเซีย แต่พรรคนี้ไม่ได้รับความนิยมเท่าเดิม ในที่สุดจึงสลายตัวไปใน พ.ศ. 2479 ซัซโตรอามีโจโยจึงเข้าร่วมในขบวนการประชาชนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย แต่ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลอาณานิคมในการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์

หลังจากเยอรมนีโจมตีเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2483 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในอินโดนีเซียประกาศกฎอัยการศึกและห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง อำนาจของเนเธอร์แลนด์สิ้นสุดใน พ.ศ. 2485 เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองและพยายามกลับมาฟื้นฟูอำนาจอีกเมื่อสงครามโลกสิ้นสุด ซัซโตรอามีโจโยมีบทบาทในการก่อตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2488 และรวมอยู่ในคณะรัฐมนตรี เมื่อฝ่ายสาธารณรัฐพ่ายแพ้ ซัซโตรอามีโจโยถูกจับคุมขังพร้อมด้วยผู้นำรัฐบาลคนอื่น ต่อมา พวกเขาถูกปล่อยตัวหลังจากที่สหรัฐเข้ามากดดันให้เนเธอร์แลนด์จัดตั้งสาธารณรัฐในอินโดนีเซีย ซัซโตรอามีโจโยได้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปเจรจาเรื่องเอกราชกับเนเธอร์แลนด์

หลังจากที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2492 ซัซโตรอามีโจโยได้เข้าร่วมกับพรรคชาตินิยมที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่และไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2496 รัฐบาลของเขานั้นเน้นที่การต่างประเทศที่ต้องการให้อินโดนีเซียเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา และได้จัดให้มีการประชุมบันดุงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2498 แต่ก็ถูกโจมตีในด้านการจัดเก็บภาษีไม่เป็นธรรม เน้นบทบาทของชาวชวามากกว่าเกาะอื่น ๆ

หลังการประชุมบันดุงเสร็จสิ้นลง มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก จึงจัดตั้งรัฐบาลผสมใน พ.ศ. 2499 โดยซัซโตรอามีโจโยเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา ซึ่งผลงานในสมัยนี้คือการปฏิเสธการชำระหนี้แก่เนเธอร์แลนด์โดยให้ถือเป็นค่าความสูญเสียของอินโดนีเซียในสงครามกู้เอกราช แต่ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไข ชาวเกาะอื่น ๆ ไม่พอใจรัฐบาลโดยเฉพาะเกาะสุมาตรา จนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2499 ทหารในสุมาตราก่อกบฏโดยประกาศจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียแต่ถูกปราบได้ ต่อมา ทหารในอินโดนีเซียตะวันออกก่อกบฏอีก กองทัพจึงกดดันให้ซัซโตรอามีโจโยลาออก และสนับสนุนให้ซูการ์โนประกาศกฏอัยการศึก ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยแบบชี้นำ

หลังจากพ้นจากตำแหน่ง ช่วง พ.ศ. 2500–2503 ซัซโตรอามีโจโยไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และได้เป็นประธานพรรคระหว่าง พ.ศ. 2503–2509 แต่อำนาจที่แท้จริงเป็นของซูการ์โน และซัซโตรอามีโจโยก็สนับสนุนซูการ์โนอย่างใกล้ชิด จนนายพลซูฮาร์โตปฏิวัติ ซัซโตรอามีโจโยจึงถูกกดดันให้ลาออกจากประธานพรรค เขาถึงแก่กรรมเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2518 ที่จาการ์ตา ขณะอายุ 72 ปี

อ้างอิง

[แก้]
  • สุกัญญา บำรุงสุข. "อาลี ซัสโตรอามิโจโย." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 95–99.