อาร์ดวาร์ก
อาร์ดวาร์ก ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลโอซีนตอนต้น–ปัจจุบัน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Tubulidentata |
วงศ์: | Orycteropodidae |
สกุล: | Orycteropus |
สปีชีส์: | O. afer |
ชื่อทวินาม | |
Orycteropus afer (Pallas, 1766) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
อาร์ดวาร์ก (อังกฤษ: aardvark; ชื่อวิทยาศาสตร์: Orycteropus afer) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Orycteropodidae ในอันดับ Tubulidentata จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน ในวงศ์และอันดับนี้ จึงจัดเป็นฟอสซิลที่มีชีวิตชนิดหนึ่ง[3]
เป็นสัตว์ที่อาศัยและกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่แอฟริกากลางลงไป อาร์ดวาร์ก มีชื่อเรียกในภาษาแอฟริคานส์ว่า "aarde varken" แปลว่า "หมูดิน"[4] มีจมูกและส่วนปากยาวเป็นท่อเหมือนอาร์มาดิลโลหรือลิ่น มีฟันลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมฝังตัวอยู่ด้านในของปาก ลักษณะเหมือนหมุดที่แบนราบ จำนวน 20 ซี่ และเคลือบไว้ด้วยเคลือบรากฟัน ซึ่งเป็นสารปกติที่อยู่ในฟัน ซึ่งฟันจะมีลักษณะเหมือนกับสัตว์ฟันแทะคือจะงอกขึ้นมาเรื่อย ๆ มีใบหูยาวเหมือนลา มีอุ้งเท้าคล้ายกับกระต่าย และมีหางคล้ายหนู
อาร์ดวาร์ก เป็นสัตว์ที่มีประสาทการรับกลิ่นและรับฟังอย่างดีเยี่ยม โดยหูสามารถรับฟังเสียงเคลื่อนไหวของแมลงซึ่งอยู่ใต้ดินได้ โดยจะออกหากินในเวลากลางคืนหรือพลบค่ำ ด้วยการสูดกลิ่นไปเรื่อย ๆ กินอาหารจำพวกแมลงที่อยู่ตามพื้นดิน เช่น มดหรือปลวก โดยใช้กรงเล็บที่แหลมคมขุดหรือเซาะทำลายจอมปลวก แล้วใช้ลิ้นเลียเข้าปาก ซึ่งวัน ๆ หนึ่งอาจเดินหากินได้ไกล 48 กิโลเมตร และกินปลวกได้มากถึงวันละ 5 ลิตร จัดว่าเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการหลบหลีกซ่อนตัวได้อย่างว่องไวมาก
อาร์ดวาร์กจะเลี้ยงดูลูกอ่อนจนกระทั่งอายุได้ 6 เดือน แล้วจึงจะปล่อยให้ออกหากินเองเป็นอิสระ นอกจากนี้แล้วอาร์ดวาร์กยังมีความสัมพันธ์กับแตงกวาชนิดหนึ่ง คือ แตงกวาอาร์ดวาร์ก (Cucumis humifructus) เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะ อาร์ดวาร์กจะขุดดินลงไปกินแตงกวาชนิดนี้ในยามที่อาหารขาดแคลน แล้วจึงฝังมูลเอาไว้[5]
การจำแนก
[แก้]สามารถแบ่งออกเป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้ดังนี้ [6]
- O. afer adametzi Grote, 1921
- O. afer aethiopicus Sundevall, 1843
- O. afer afer (Pallas, 1766)
- O. afer angolensis Zukowsky & Haltenorth, 1957
- O. afer erikssoni Lönnberg, 1906
- O. afer faradjius Hatt, 1932
- O. afer haussanus Matschie, 1900
- O. afer kordofanicus Rothschild, 1927
- O. afer lademanni Grote, 1911
- O. afer leptodon Hirst, 1906
- O. afer matschiei Grote, 1921
- O. afer observandus Grote, 1921
- O. afer ruvanensis Grote, 1921
- O. afer senegalensis Lesson, 1840
- O. afer somalicus Lydekker, 1908
- O. afer wardi Lydekker, 1908
- O. afer wertheri Matschie, 1898
สถานะ
[แก้]ถึงแม้ว่าจะมีการระบุสถานะว่าเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่ำจากการสูญพันธุ์ก็ตาม จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิทวอเทอร์สแรนด์ ของแอฟริกาใต้ ด้วยการติดชิปเพื่อติดตามศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของอาร์ดวาร์กกลุ่มหนึ่งราว ๆ หนึ่งปี พบว่า อาร์ดวาร์กอาจเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตได้ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในทวีปแอฟริกาก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งและทุพภิกขภัย ส่งผลกระทบต่อมดและปลวกที่เป็นอาหารหลักลดจำนวนลง แม้ว่าอาร์ดวาร์กจะปรับตัวให้ออกมาหากินในเวลากลางวันที่มีอากาศร้อนก็ตาม โดยอุณหภูมิในร่างกายของอาร์ดวาร์กในเวลากลางคืนจะลดลง แต่ทว่าก็ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทันได้ กอรปกับปัญหาอย่างอื่น เช่น การที่โพรงที่อยู่อาศัยโดนสัตว์ชนิดอื่นแย่งชิงไป รวมถึงถิ่นที่อาศัยที่ถูกทำลายและการถูกจับเพื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าอีกด้วย[7]
รูปภาพ
[แก้]-
ขณะหลับ
-
ส่วนกะโหลกและฟัน
-
อาร์ดวาร์กและลูกอ่อน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Lindsey, P.; Cilliers, S.; Griffin, M.; Taylor, A.; Lehmann, T.; & Rathbun, G. (2008). "Orycteropus afer". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2008. สืบค้นเมื่อ 29 December 2008.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Mammal Species of the World, A Taxonomic and Geographic Reference, 3rd edition, 2005 ISBN 0801882214
- ↑ "Tubulidentata (Aardvarks)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-01. สืบค้นเมื่อ 2012-10-30.
- ↑ aard·vark (ärdvärk)
- ↑ "อาร์ดวาร์กหมูดินจอมขุด ปีนี้มาแปลก...เกิดมาไร้ขน". ไทยรัฐ.
- ↑ "Orycteropus afer". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ หน้า 7 โลกาภิวัฒน์ GLOBALIZATION, หมูดินกำลังทรมานจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในแอฟริกา. "ทันโลก". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21752: วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 แรม 4 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Orycteropus afer ที่วิกิสปีชีส์