ข้ามไปเนื้อหา

อาทิพุทธะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวัชรธารพุทธะ

พระอาทิพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่พบในคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายานบางกลุ่ม ไม่พบในฝ่ายเถรวาท โดยเชื่อว่าอาทิพุทธะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรก กำเนิดขึ้นพร้อมกับโลก อยู่ในโลกชั่วนิรันดร์ เป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่งในโลก และเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ประทับบนพรหมโลกชั้นอกนิฏฐ์ มีสถานะเสมอปรมาตมันในศาสนาฮินดู[1]

พุทธลักษณะ

[แก้]

อาทิพุทธะในนิกายญิงมาของทิเบต หมายถึงพระสมันตภัทรพุทธะ มีพระวรกายสีน้ำเงิน ปางสมาธิ ส่วนใหญ่ไม่ทรงศิราภรณ์ ประทับคู่กับศักดิชื่ออาทิธรรมา ในนิกายใหม่ คือ นิกายกาจู สักยะ และเกลุก หมายถึงพระวัชรธารพุทธะ ซึ่งมีพระวรกายสีน้ำเงิน ทรงศิริภรณ์ ถือวัชระในหัตถ์ซ้ายขวาไขว้เหนือพระอุระ

ประวัติการนับถือ

[แก้]

ความเชื่อเรื่องพระอาทิพุทธะเกิดขึ้นครั้งแรกราวพุทธศตวรรษที่ 15 โดยคณาจารย์บางกลุ่มในมหาวิทยาลัยนาลันทาสร้างแนวคิดนี้ขึ้น[1]เพื่อเทียบกับแนวคิดปรมาตมันในศาสนาฮินดูที่กำลังรุ่งเรืองในสมัยนั้น

การนับถืออาทิพุทธะแพร่ไปในประเทศเนปาล โดยพุทธศาสนานิกายไอศวาริก ซึ่งเชื่อว่าอาทิพุทธะเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของโลก คือเมื่อโลกเกิดเป็นรูปร่าง อาทิพุทธะก็ปรากฏพระกายในแสงสว่าง ไม่อาจบอกเบื้องต้น และจุดสิ้นสุดของพระองค์ได้ ประทับอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 13 เรียกอกนิษฐภูวนะหรืออกนิษฐพรหม อาทิพุทธะมีพระนามต่าง ๆ มากมาย ขึ้นกับแต่ละนิกาย นิกายไอศวาริกเรียกว่าอิศวร นิกายสวาภาวิกเรียกว่า สวภาวะ ในเนปาลและทิเบต บางครั้งเรียกพระองค์ว่า "โยคัมพร" สร้างรูปเป็นปางบำเพ็ญทุกรกิริยา มีศักติคือ ฌาเนศวร

ในญี่ปุ่นและจีน ไม่นิยมนับถืออาทิพุทธะ แต่นับถือพระธยานิพุทธะ 2 องค์คือพระอมิตาภพุทธะกับพระไวโรจนพุทธะว่าเป็นพระพุทธเจ้าสูงสุด และไม่ถือว่าพระพุทธเจ้าเหล่านี้มีศักติเช่นในเนปาลหรือทิเบต

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 15-16