อัมเบอร์
อัมเบอร์ | |
---|---|
ผงสีอัมเบอร์ดิบ | |
Color coordinates | |
Hex triplet | #635147 |
ระบบสี RGBB (r, g, b) | (99, 81, 71) |
HSV (h, s, v) | (21°, 28%, 39%) |
CIELChuv (h, s, v) | (36, 15, 39°) |
Source | ColorHexa[1] |
B: อยู่ในช่วง [0–255] (ไบต์) |
อัมเบอร์ (อังกฤษ: umber) เป็นรงควัตถุจากดินสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดงที่มีส่วนผสมไอเอิร์นออกไซด์และแมงกานีสออกไซด์ อัมเบอร์ในรูปธรรมชาติมีสีน้ำตาลเหลืองเรียกว่า อัมเบอร์ดิบ (raw umber) เมื่อผ่านความร้อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเรียกว่า อัมเบอร์เผา (burnt umber) อัมเบอร์ไม่ใช่คำเรียกสีเฉพาะ แต่หมายถึงกลุ่มสีที่แตกต่างตั้งแต่น้ำตาลเหลือง น้ำตาลแดงถึงน้ำตาลเทา ซึ่งสีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณไอเอิร์นออกไซด์และแมงกานีสออกไซด์ในดิน[2] อัมเบอร์มีปริมาณแมงกานีสออกไซด์ประมาณ 5–20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีสีเข้มกว่าโอเคอร์และซีเอนนา[3]
อัมเบอร์มาจากคำภาษาอิตาลี terra d'ombra แปลว่าดินแห่งอุมเบรีย ภูมิภาคภูเขาทางตอนกลางของอิตาลีซึ่งเดิมผลิตสารสีนี้[4] นอกจากนี้คำว่าอัมเบอร์อาจเกี่ยวข้องกับคำภาษาละติน umbra ที่หมายถึงเงามืด[2]
การใช้ในงานศิลปะ
[แก้]อัมเบอร์เป็นหนึ่งในสารสีแรก ๆ ที่มนุษย์ใช้งาน โดยพบในจิตรกรรมถ้ำยุคหินใหม่ร่วมกับสีดำ แดงและโอเคอร์[2] ไม่มีการใช้สารสีน้ำตาลเข้มมากนักในศิลปะสมัยกลางเนื่องจากศิลปินนิยมสีที่สดใส เช่น แดง น้ำเงินและเขียว[5] อัมเบอร์ไม่ได้เป็นสีที่ใช้แพร่หลายในยุโรปจนกระทั่งสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตามที่จอร์โจ วาซารี จิตรกรและนักเขียนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาบันทึกว่าอัมเบอร์เป็นสีค่อนข้างใหม่ในยุคของเขา[6]
ต่อมามีการใช้สีอัมเบอร์อย่างกว้างขวางในยุคบาโรกเพื่อทำให้ภาพมีโทนมืดในค่าต่างแสง การาวัจโจและแร็มบรันต์เป็นสองจิตรกรที่เป็นที่รู้จักจากการใช้สีนี้ในผลงาน[2] โดยแร็มบรันต์มักใช้อัมเบอร์ในการทำให้สีน้ำตาลในภาพดูรุ่มรวยมากขึ้น รวมถึงใช้เป็นสีพื้นและผสมกับสารสีอื่นเพื่อให้ภาพแห้งเร็วขึ้น[7] โยฮันเนิส เฟอร์เมร์เป็นจิตรกรอีกคนที่ใช้อัมเบอร์เพื่อให้เงาบนผนังในภาพดูอบอุ่นและกลมกลืนขึ้น
ล่วงถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จิตรกรลัทธิประทับใจหลายคนต่อต้านการใช้สีอัมเบอร์และสีดินอื่น ๆ กามีย์ ปีซาโรปฏิเสธ "สีดินที่ดูเก่าและทึม" ในจานสีของเขา[8][5] จิตรกรลัทธิประทับใจมักผสมสีน้ำตาลเองจากสีแดง เหลือง เขียว น้ำเงินและสารสีอื่น ๆ โดยเฉพาะสีน้ำเงินโคบอลต์และสีเขียวมรกตซึ่งเป็นสีสังเคราะห์ที่เกิดขึ้นไม่นานในช่วงนั้น[5]
สารสีอัมเบอร์ธรรมชาติเริ่มถูกแทนที่ด้วยสารสีสังเคราะห์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปัจจุบันยังคงมีการผลิตอัมเบอร์ธรรมชาติโดยมีไซปรัสเป็นแหล่งสำคัญ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Umber / #635147 hex color". ColorHexa. สืบค้นเมื่อ 2021-11-12.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 St. Clair, Kassia (2016). The Secret Lives of Colour. London: John Murray. p. 250–252. ISBN 9781473630819. OCLC 936144129.
- ↑ Roelofs & Petillion 2012, p. 30
- ↑ Shorter Oxford English Dictionary (5th ed.). Oxford University Press. 2002.
A red brown earth containing iron and manganese oxides and darker than ochre and sienna, used to make various pigments.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 St. Clair 2016, p. 237.
- ↑ Thompson 1956, pp. 88–89
- ↑ "Umber". Pigments through the Ages. WebExhibits.
- ↑ "Industrialization". Pigments through the ages. WebExhibits.