ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์
ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์ | |
---|---|
ภาพเบียร์ดสลีย์ในปี ค.ศ. 1893 ถ่ายโดยเฟรเดอริก ฮอลเยอร์ | |
เกิด | ออเบรย์ วินเซนต์ เบียร์ดสลีย์ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1872 ไบรตัน ซัสเซกซ์ อังกฤษ |
เสียชีวิต | 16 มีนาคม ค.ศ. 1898 ม็องตง จังหวัดอาลป์-มารีตีม ฝรั่งเศส | (25 ปี)
สัญชาติ | บริติช |
การศึกษา | โรงเรียนศิลปะเวสต์มินสเตอร์ |
มีชื่อเสียงจาก | ภาพประกอบ, เลขนศิลป์ |
ขบวนการ | สุนทรียนิยม, นวศิลป์ |
ออเบรย์ วินเซนต์ เบียร์ดสลีย์ (อังกฤษ: Aubrey Vincent Beardsley, 21 สิงหาคม ค.ศ. 1872 – 16 มีนาคม ค.ศ. 1898) เป็นจิตรกรภาพประกอบและนักเขียนชาวอังกฤษ เป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการสุนทรียนิยมช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ร่วมกับออสการ์ ไวลด์ และเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์[1] ภาพลายเส้นขาวดำของเขาได้รับอิทธิพลจากภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่น มุ่งเน้นความประหลาด ความเสื่อม และกามารมณ์ นอกจากนี้ผลงานของเบียร์ดสลีย์ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนานวศิลป์ อันเป็นรูปแบบศิลปะที่เป็นที่นิยมช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์เกิดในปี ค.ศ. 1872 ที่เมืองไบรตัน ทางใต้ของประเทศอังกฤษ เป็นบุตรของวินเซนต์ พอล เบียร์ดสลีย์กับเอลเลน แอกนัส พิตต์ เขามีพี่สาวหนึ่งคนชื่อมาเบล เบียร์ดสลีย์ ในวัยเด็กครอบครัวเบียร์ดสลีย์ประสบปัญหาด้านฐานะทางสังคม เนื่องจากวินเซนต์มีฐานะด้อยกว่าเอลเลน[2] และวินเซนต์ต้องขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อชดใช้หลังถูกสตรีคนหนึ่งกล่าวหาว่าผิดสัญญาแต่งงานกับเธอ[3] ในปี ค.ศ. 1883 ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน และเบียร์ดสลีย์เรียนที่ Brighton Hove & Sussex Sixth Form College ที่นั่นเขาได้เริ่มเขียนบทกวีและวาดภาพลงนิตยสารของโรงเรียน หลังเรียนจบเบียร์ดสลีย์เรียนต่อด้านศิลปะที่โรงเรียนศิลปะเวสต์มินสเตอร์[4]
ในปี ค.ศ. 1892 เบียร์ดสลีย์เดินทางไปปารีสและได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานใบปิดของอ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็กและภาพศิลปะญี่ปุ่น ผลงานภาพแรกของเขาคืองานวาดภาพประกอบร้อยแก้ว Le Morte d'Arthur ของทอมัส มาลอรี[5] หลังจากนั้นเบียร์ดสลีย์ร่วมกับเฮนรี ฮาร์แลนด์ นักเขียนชาวอเมริกัน ก่อตั้ง The Yellow Book วารสารรายสามเดือนซึ่งเขารับหน้าที่วาดภาพปกและภาพประกอบในเล่ม และต่อมากลายเป็นสิ่งพิมพ์สำคัญของลัทธิสุนทรียนิยม ลัทธิเริงรมณ์ และลัทธิสัญลักษณ์นิยม[6] เบียร์ดสลีย์ทำงานกับวารสารนี้ก่อนจะถูกไล่ออกในปีค.ศ. 1895 เนื่องจากเขามีความเกี่ยวข้องกับออสการ์ ไวลด์ที่ถูกตัดสินโทษข้อหาพฤติกรรมอนาจาร[7]
นอกจากผลงานแนวสุนทรียนิยม เบียร์ดสลีย์ยังถือเป็นศิลปินแนวนวศิลป์ที่เป็นที่ถกเถียงที่สุดคนหนึ่งเนื่องจากงานวาดที่มืดมน แปลกประหลาด และโป๊เปลือย[8] อันมีที่มาจากชุงกะ ภาพอูกิโยะแขนงหนึ่งที่แสดงการเสพสังวาส[9] ตัวอย่างงานแนวนี้ของเบียร์ดสลีย์ได้แก่ ภาพประกอบใน Lysistrata ของอริสโตฟานเนส, The Rape of the Lock ของอเล็กซานเดอร์ โพป และผลงานที่สำคัญที่สุดคือภาพ "The Climax" หนึ่งในภาพชุดที่เบียร์ดสลีย์วาดประกอบบทละคร Salome ของออสการ์ ไวลด์[10]
ด้านชีวิตส่วนตัว เบียร์ดสลีย์เป็นคนพิถีพิถันในการแต่งกาย[11] ถึงแม้ว่าเขาจะมีความเกี่ยวข้องกับออสการ์ ไวลด์ที่เป็นรักร่วมเพศ แต่เพศสภาพของเบียร์ดสลีย์ยังคงไม่แน่ชัด[12] ตลอดชีวิตเบียร์ดสลีย์ป่วยเป็นวัณโรคและมีเลือดออกในปอดบ่อยครั้งจนกระทั่งเสียชีวิตที่เมืองม็องตง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1898[13] ร่างของเขาถูกฝังที่สุสาน Cimetière du Vieux-Château ในเมืองม็องตง[14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Aubrey Beardsley - English artist". Britannica. สืบค้นเมื่อ December 15, 2020.
- ↑ "Beardsley, Aubrey Vincent (1872–1898)". Oxford Dictionary of National Biography.
- ↑ Sturgis 1998, p. 10
- ↑ Armstrong 1901.
- ↑ Souter, Nick; Souter, Tessa (2012). The Illustration Handbook: A Guide to the World's Greatest Illustrators. Oceana. p. 41. ISBN 978-1-84573-473-2.
- ↑ Burdett, Carolyn (March 15, 2014). "Aestheticism and decadence". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-21. สืบค้นเมื่อ December 15, 2020.
- ↑ "The Yellow Book".
- ↑ Origjanska, Magda (February 26, 2018). "Aubrey Beardsley and his "morbid imagination" was the most controversial artist of the Art Nouveau era". The Vintage News. สืบค้นเมื่อ December 15, 2020.
- ↑ Wang, Chesa (April 29, 2020). "Aubrey Beardsley: Understanding Androgyny Through Shunga". Erudition Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-15. สืบค้นเมื่อ December 15, 2020.
- ↑ Blythe, Finn (March 3, 2020). "The controversial career of Aubrey Beardsley, Art Nouveau's precocious prodigy". HERO magazine. สืบค้นเมื่อ December 15, 2020.
- ↑ Weintraub, Stanley (1976). Aubrey Beardsley, Imp of the Perverse. Pennsylvania State University Press. p. 85.
- ↑ Latham, David, บ.ก. (2003). Haunted texts: studies in Pre-Raphaelitism in honour of William E. Fredeman. University of Toronto Press. p. 194. ISBN 978-0-8020-3662-9.
- ↑ Cavendish, Richard (March 3, 1998). "Death of Aubrey Beardsley". History Today. สืบค้นเมื่อ December 15, 2020.
- ↑ Bertrand Beyern. Guide des tombes d'hommes célèbres. Paris: Le Cherche Midi, 2008. ISBN 978-2-7491-2169-7
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์
- วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ ผลงานของออเบรย์ เบียร์ดสลีย์