ข้ามไปเนื้อหา

แจ็ค ข้อเท้าสปริง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อสุรกายแห่งลอนดอน)
แจ็ค ข้อเท้าสปริง
ภาพวาดแจ็ค ข้อเท้าสปริง ในปี ค.ศ. 1890
กลุ่มหลอกลวง, อุปาทานหมู่, ปิศาจ, ผี
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภูมิภาคลอนดอน
ลิเวอร์พูล
ถิ่นที่อยู่เมือง

แจ็ค ข้อเท้าสปริง (อังกฤษ: Spring Heeled Jack) เป็นตัวละครตัวหนึ่งในคติชนวิทยาอังกฤษ ว่ากันว่าเป็นผู้ต้องหาลึกลับที่ก่อคดีลวนลามผู้หญิงหลายรายในยุควิคตอเรียของประวัติศาสตร์อังกฤษ ที่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร โดยแต่งตัวประหลาดคล้ายผีหรือปีศาจรูปร่างผอมสูง และสามารถกระโดดได้สูงมากผิดมนุษย์ปกติธรรมดา

เรื่องราว

[แก้]

เรื่องราวของแจ็ค ข้อเท้าสปริง เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1836 ตรงกับรัชสมัยการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โดยในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้เพียง 18 พรรษา โดยนักธุรกิจผู้หนึ่งกำลังเดินกลับบ้านในเวลากลางคืนในขณะเดินทางกลับบ้าน ทันใดนั้นเองเขาก็ได้พบชายประหลาดคนหนึ่งกำลังก้าวกระโดดอยู่เหนือหัวของเขา ก่อนที่จะหายไปในความมืด ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่ปรากฏแจ็ค ข้อเท้าสปริง นี้ทำร้ายใคร

ในขณะนั้น มหานครลอนดอนยังไม่ได้มีการจัดระเบียบตัวเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนปัจจุบันแต่อย่างใด ถนนหนทางยังไม่มีการราดยางมะตอย บริเวณแถบใจกลางเมืองเต็มไปด้วยโรงงานและบ้านพักของคนงาน นับว่าค่อนข้างจอแจพอสมควร ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นแหล่งอาชญากรรมที่เต็มไปด้วยมิจฉาชีพ โจร โสเภณีและยาเสพย์ติด มีคดีอาชญากรรมประเภทลักจี้ชิงปล้น หรือฆ่าข่มขืน เกิดขึ้นประจำ ๆ การให้แสงสว่างในตัวเมืองในยามค่ำคืนมีเพียงแต่อาศัยแสงจันทร์, แสงเทียนและตะเกียงน้ำมันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อพลบค่ำขึ้นมาเมื่อใด หลายสถานที่จึงกลายเป็นสถานที่เปลี่ยว

ภาพวาดแจ็ค ข้อเท้าสปริง ที่กระโดดข้ามประตู ซึ่งเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกจากการพบเห็นโดยนักธุรกิจ

แจ็ค ข้อเท้าสปริงนั้นปรากฏเป็นคดีความครั้งแรกในตอนเย็นของวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1837 หลังจากกรมตำรวจลอนดอนก่อตั้งได้ 8 ปี เมื่อ พอลลี่ อดัม อายุ 17 ปี เป็นสาวเสิร์ฟของกรีนแมนอินโรงแรมในย่านแบล็คอีธ กำลังเดินไปออกเดทกับลูกชายของเจ้าของบริหารโรงแรมในงานเทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยว พอลลี่ได้เดินทางลัดตรงเนินเขาในยามค่ำคืนและเปล่าเปลี่ยวปราศจากผู้คน อีกทั้งสถานที่ที่เธอเดินผ่านนั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นที่แขวนคอนักโทษในสมัยโบราณทำให้เพิ่มความหวาดกลัวแก่เธอได้เป็นอย่างดี และเมื่อเธอเดินถึงจุดที่ตั้งของหินก้อนใหญ่ที่ถูกเรียกว่า ไวท์ฟิลด์เมาท์ ทันใดนั้นเองก็ปรากฏเงาดำขึ้นออกจากหลืบหินนั้นและมันฉีกเสื้อผ้าของเธอจนขาดวิ่นเผยให้เห็นทรวงอกก่อนที่มันจะเอามือมาจับหน้าอก และก่อนที่มันจะทำอะไรล่วงเกินกว่านั้น พอลล่าก็ร้องหวีดสุดเสียง จนเจ้าของเงาดำนั้นตกใจ ก่อนที่มันจะผละออกจากพอลลี่พร้อมกับเอามือเท้าสะเอวและพ่นไฟสีเงินออกมาและกระโดดหนีไปในความมืด เมื่อพอลลี่เห็นมันไปแล้วเธอก็โล่งใจและสลบคาพื้นก่อนที่จะถูกคนผ่านทางช่วยเอาไว้และส่งตัวไปยังโรงพยาบาล และเมื่อเธอฟื้นขึ้นมา เธอเล่าเรื่องที่เธอเห็น ซึ่งต่อมาก็โด่งดังจนกลายเป็นปากต่อปาก แต่ว่าในตอนนั้นเป็นเพียงแค่คดีพยายามข่มขืนในทางเปลี่ยวหรือการกลั่นแกล้งของวัยรุ่นขี้เมาจากงานฉลองมากกว่า

เป็นที่โด่งดัง

[แก้]
ภาพวาดการประชุมพิจารณคดีเกี่ยวกับคดีแจ็ค ข้อเท้าสปริง (ค.ศ. 1840)

จากนั้น เรื่องราวของแจ็ค ข้อเท้าสปริง ก็ได้ถูกกล่าวอ้างถึงอีกหลายรายและหลายที่ เช่น ในเมืองเชฟฟิลด์และลิเวอร์พูล โดยเหยื่อมีลักษณะคล้ายกัน คือ เป็นหญิงสาวสวยวัยรุ่น และถูกลวนลามคล้าย ๆ กัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ติดใจทื่จะสอบสวนแต่อย่างใด

จนกระทั่งในปีถัดมา ในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1838 เรื่องนี้ถูกยกหัวข้อขึ้นในที่ประชุมพิจารณาคดีในกรุงลอนดอน ปรากฏมีประชาชนชาวลอนดอนยอมฝ่าหิมะเพื่อไปสภาเมืองอย่างแน่นขนัด ผู้ว่าการเมืองได้แจ้งรายงานการบริหารงานเทศบาลและจากนั้นก็มีการอภิปรายเกี่ยวกับญัตติต่าง ๆ ที่ชาวเมืองเสนอมา สุดท้ายก็เป็นการอนุมัติจากศาล และช่วงสุดท้ายของการประชุมนั้นผู้ว่าได้หยิบบัตรสนเท่ห์ที่ส่งมาจากผู้หญิงคนหนึ่ง และได้ให้ตัวแทนอ่านออกเสียงต่อต่อหน้าฝูงชน เป็นเรื่องการแจ้งความเรื่องมนุษย์ประหลาดที่ตระเวนหลอกผู้หญิงตกใจกลัวในแถบชานเมืองกรุงลอนดอน จดหมายฉบับนี้ยังบอกว่ามนุษย์ประหลาดผู้นี้ คือ ขุนนางคนหนึ่งที่เล่นพนันขันต่อกับเพื่อนผู้ชื่นชอบการกลั่นแกล้งคนว่า "กล้าแต่งตัวเป็นปีศาจหรือเป็นผีแล้วตระเวนไปหลอกตามบ้านคนหรือเปล่า" และเพื่อนคนนั้นก็ตกลงรับคำท้าและปลอมตัวเป็นมนุษย์ประหลาดดังกล่าว และจนบัดนี้การเล่นพิเรนทร์นี้ยังคงดำเนินต่อไปแล้วดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จึงอยากขอให้ผู้ว่าการเมืองหยุดการกระทำเช่นนี้ เมื่ออ่านจบก็มีเสียงจากประชาชนโดยรอบที่ออกมาให้การตรงว่าพบเห็นมนุษย์ประหลาดเช่นกันและก่อให้เกิดเสียงตอบรับอย่างมากในหมู่ประชาชน เช้าวันต่อมา มนุษย์ประหลาดผู้นี้ได้ถูกตั้งชื่อในหนังสือพิมพ์ว่า "แจ็ค ข้อเท้าสปริง" (Spring Heeled Jack) และกลายเป็นที่รู้จักกันไปทั่วอังกฤษในเวลานั้น เพราะมีการร้องทุกข์จากผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และมีบางคนเกิดคดีที่ว่านี้นอกกรุงลอนดอนด้วย

เมื่อสถานการณ์ลุกลามถึงระดับนี้แล้ว ทางสกอตแลนด์ยาร์ดก็ไม่อาจอยู่นิ่งได้ เนื่องจากมันมีผลต่อจิตวิทยาของชาวลอนดอนด้วย ซึ่งถ้าจิตใจของประชาชนหวาดกลัวสิ่งลึกลับที่ไม่สามารถอธิบายได้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในส่วนรวมด้วย อีกทั้งอังกฤษในเวลานั้นก็ใช่ว่าจะเป็นประเทศที่สงบสุขเรียบร้อยนัก เพราะเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียก็ยังมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา อนาคตการครองราชย์ยังไม่แน่ไม่นอน บวกกับเป็นช่วงลัทธิทุนนิยมเริ่มเข้ามาส่งผลทำให้เกิดความแตกต่างฐานะคนรวยกับคนจนอย่างมาก พวกขุนนางมีชีวิตที่หรูหรากินดีอยู่ดี ส่วนชนชั้นกรรมกรต่างลำบากในการหากินและพวกขอทานที่ไร้ที่อยู่อาศัย ดังนั้น การปรากฏตัวของแจ็ค ข้อเท้าสปริง มีทั้งข้อดีและไม่ดีปะปนกัน ในด้านไม่ดีคือมันสร้างความเดือดร้อนต่อสังคม ส่วนด้านดีคือมันกลายเป็นหัวข้อข่าวที่โด่งดังและนิยมในสมัยนั้น มันเป็นข่าวที่ทำให้ผู้คนได้ลืมความต่ำต้อยของฐานะ และเริ่มโด่งดังจนบางคนยกย่องเป็น ฮีโร่ หรือ ขวัญใจของประชาชน ด้วยซ้ำ เหมือนในกรณีแจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ เป็นต้น

ซึ่งในปี ค.ศ. 1837 ที่แจ็ค ข้อเท้าสปริงออกอาละวาดนั้น กรมตำรวจลอนดอนพึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพียง 9 ปี จึงยังไม่มีประสบการณ์มากนักในฐานะองค์กรตำรวจ ทำให้การจับตัวแจ็ค ข้อเท้าสปริงนี้เป็นไปได้ยากลำบากมาก และพฤติกรรมที่มักปรากฏตัวอย่างผลุบ ๆ โผล่ ๆ ไม่ปรากฏตัวที่เดิมจึงไม่สามารถวางกำลังล้อมจับได้ เมื่อตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้ กลุ่มประชาชนจึงอาสาสมัครมาเป็นคนตรวจตรายามค่ำคืนเอง โดยมี ผู้มีชื่อเสียงอย่าง เวลลิงตัน อาเธอร์ เวลเลสลีย์ ที่เป็นนายพลในสงครามนโปเลียน ซึ่งสามารถเอาชนะนโปเลียนได้ที่วอเตอร์ลูในเบลเยี่ยม ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกตรวจตรายามค่ำคืนด้วยเช่นกัน โดยหวังว่าจะจับตัวแจ็ค ข้อเท้าสปริงให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่อาจที่จะทำได้ ต่อมามีคนเสนอรางวัลนำจับแจ็ค ข้อเท้าสปริงเป็นจำนวนเงินกว่า 100 ปอนด์ หากสามารถจับตัวแจ็ค ข้อเท้าสปริงได้ จนต้องเพิ่มเงินรางวัลขึ้นถึง 1 พันล้านปอนด์

ผู้ต้องสงสัย

[แก้]
ภาพวาดของ เฮนรี่ เดอ ลา บัว เบเรสฟอร์ด มาร์ควิสแห่งวอเตอร์ฟอร์ด ผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นแจ็ค ข้อเท้าสปริง (ค.ศ. 1840)

มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าผู้ที่เป็นแจ็ค ข้อเท้าสปริงนั้น เป็นขุนนางชาวไอริชที่ชื่อ เฮนรี่ เดอ ลา บัว เบเรสฟอร์ด ซึ่งเป็นมาร์ควิสแห่งวอเตอร์ฟอร์ด

วอลเตอร์เกิดในปี ค.ศ. 1811 และในปี ค.ศ. 1837 ที่แจ็ค ข้อเท้าสปริงปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกนั้นเขาอายุ 26 ปี และเป็นโสด บิดาของเขา คือ มาร์ควิสจอห์น เบเรสฟอร์ด นั้นเป็นขุนนางที่ร่ำรวยมหาศาลและถือครองที่ดินผืนใหญ่ในไอร์แลนด์และอังกฤษ เฮนรี่ซึ่งเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวจึงถูกเลี้ยงดูอย่างฟุ่มเฟือยหรูหราจนทำให้เขาเป็นคนนิสัยเสียและชอบแกล้งผู้คนอย่างเกินเหตุ

วอลเตอร์เป็นชายที่มีหน้าตาค่อนข้างหล่อเหลาและมีผมสีดำ เขาอาศัยอยู่บ้านพักตากอากาศในกรุงลอนดอนเวลานั้น จุดเด่นเขาคือดวงตาที่กลมโต เป็นคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่และชอบใช้กำลังตัดสินปัญหา ตอนสมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นที่วิทยาลัยอีตันในวินด์เซอร์ เขาเคยถูกจับเพราะรวมหัวพวกเพื่อนคอยยืนอยู่บนหลังอาคารเรียนเพื่อดักปัสสาวะรดหัวอาจารย์ที่เดินผ่านมา และในสมัยเรียนที่ออกซฟอร์ดเขาก็เคยถูกลอบทำร้ายโดยคนกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งจนเขารู้สึกเจ็บใจและได้แก้แค้นโดยการจัดการพังบ้านของชายที่เป็นตัวการนั้นพังยับ

นอกจากนี้วอลเตอร์ยังขึ้นชื่อเรื่องด้านกีฬาด้วย เขาเคยถูกเลือกเป็นฝีพายยอดเยี่ยมในการแข่งขันพายเรือของออกซฟอร์ด และอีกด้านหนึ่งเขายังเป็นนักพนันตัวยงอีกด้วย จากความที่เขาหน้าตาดีทำให้เขาเป็นหนุ่มเนื้อหอม จนทำให้ชาวลอนดอนรู้จักเขาไปทั่วในฐานะขุนนางเสเพลที่ไม่เกรงกลัวใคร เขาถูกตำรวจจับเป็นว่าเล่นฐานชกต่อยชาวบ้าน ในตอนที่แจ็ค ข้อเท้าสปริงปรากฏตัวและมีบัตรสนเท่ห์บอกว่าชายส้นเท้านั้นเป็นขุนนางเสเพลปลอมตัวแกล้งคนนั้น ตำรวจเองก็เพ่งเป้าไปที่เขาก่อนอันดับแรก

แต่กระนั้นวอลเตอร์ก็มิได้ใส่ใจข่าวดังกล่าว เขายังคงดำเนินการแกล้งแผลง ๆ ให้คนอื่นเดือดร้อนต่อไป เช่น เขาเป็นลูกค้าประจำบ่อนพนันและซ่องโสเภณี เขามักเมาหัวราน้ำและพูดตลกด้วยคำผรุสวาทกับเสเพลและหญิงขายบริการเป็นประจำ เขาเคยนำสุนัขพันธุ์บลัดฮาวด์ไปที่โบสถ์เพื่อให้มันวิ่งไล่กัดบาทหลวง และเคยนำลาไปนอนบนเตียงของแขกที่มาพักโรงแรมเพื่อให้แขกตกใจด้วย และยังมีพฤติกรรมแผลง ๆ หลุดโลกอีกหลายอย่าง เช่น การปล่อยให้รถไฟ 2 ขบวนวิ่งชนกันจนเสียหายอย่างหนัก ในขณะที่เขาหัวเราะชอบใจ เป็นต้น

ซึ่งในขณะที่แจ็ค ข้อเท้าสปริงปรากฏตัวนั้น วอลเตอร์ก็ไม่ได้ออกมาพบปะสังสรรค์กับใครอีกเลยโดยอ้างว่าป่วย ซึ่งการที่ชายที่แข็งแรงจะเจ็บป่วยเป็นเวลานานนั้นถือว่าแปลกพอสมควร บรรดาเพื่อนของเขาสงสัยว่าวอลเตอร์อาจแกล้งป่วยเพื่อแอบทำอะไรสักอย่างที่พิเรนทร์อะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลังก็เป็นได้ อีกทั้งมีพยานที่อ้างว่าเคยเห็นใต้ผ้าคลุมของแจ็ค ข้อเท้าสปริงนั้นปักตัวอักษร W อยู่ด้วย ซึ่งมันมาจากคำนำหน้าคำว่า วอเตอร์ฟอร์ด (Waterford) นั้นเอง ประกอบกับวอลเตอร์มีเพื่อนที่เรียนสาขาจักรกลในออกซฟอร์ดอยู่ด้วย จริงไม่น่าแปลกแต่อย่างใดถ้าวอลเตอร์จะให้เพื่อนคนนั้นแอบสร้างขาสปริงให้อย่างลับ ๆ ก็เป็นได้

กระทั่งวอลเตอร์แต่งงานเมื่ออายุ 31 ปี เขาก็ไม่เคยเล่นอะไรแผลง ๆ อีกเลย ในชีวิตปั้นปลายในปี ค.ศ. 1859 วอลเตอร์ก็เสียชีวิตเนื่องด้วยอุบัติเหตุขี่ม้าล่าสัตว์ ส่งผลให้เขาคอหัก และจบชีวิตลงในขณะเขามีอายุ 48 ปี ซึ่งแจ็ค ข้อเท้าสปริง ก็หยุดอาละวาดในปี ค.ศ. 1904 ในลิเวอร์พูล จึงเชื่อว่าเขาไม่ใช่แจ็ค ข้อเท้าสปริง

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

แจ็ค ข้อเท้าสปริง หรือ Spring Heeled Jack ได้กลายมาเป็นชื่อวงดนตรี 2 วง โดยวงแรกเป็นวงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์จากอังกฤษ และอีกวง เป็นวงดนตรีแนวสกาของสหรัฐอเมริกา

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]