ข้ามไปเนื้อหา

อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ

พิกัด: 34°23′45″N 132°27′12″E / 34.39583°N 132.45333°E / 34.39583; 132.45333
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสรณ์สันติภาพ
ฮิโรชิมะ
(โดมปรมาณู) *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะมองจากสวนสันติภาพตรงข้ามฝั่งแม่น้ำ
พิกัด34°23′N 132°27′E / 34.383°N 132.450°E / 34.383; 132.450
ประเทศจังหวัดฮิโรชิมะ
 ญี่ปุ่น
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(vi)
อ้างอิง775
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2539 (คณะกรรมการสมัยที่ 20)
พื้นที่0.4 ha (0.99 เอเคอร์)
พื้นที่กันชน42.7 ha (106 เอเคอร์)
อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น
อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ
ที่ตั้งของอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ ในประเทศญี่ปุ่น
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ (ญี่ปุ่น: 広島平和記念碑โรมาจิHiroshimaheiwakinenhi; อังกฤษ: Hiroshima Peace Memorial) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า โดมปรมาณู (ญี่ปุ่น: 原爆ドームโรมาจิGembakudōmu; อังกฤษ: Atomic Bomb Dome) ตั้งอยู่ในนครฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในอาณาเขตของสวนสันติภาพฮิโรชิมะได้รับการก่อตั้งเป็นอนุสรณ์ใน พ.ศ. 2539 และขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปีเดียวกัน[1]

อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะเป็นอาคารที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางการระเบิดมากที่สุดในบรรดาอาคารที่ยังตั้งทนต่อแรงระเบิด[2] ตัวอาคารได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพหลังจากถูกระเบิด ปัจจุบันได้กลายเป็นอนุสรณ์เตือนให้ระลึกถึงพลังทำลายล้างของระเบิดปรมาณู และเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในสันติภาพและการต่อต้านการใช้อาวุธปรมาณู

ประวัติ

[แก้]

การก่อสร้าง

[แก้]
ศูนย์จัดแสดงสินค้าแห่งฮิโรชิมะ

โดมปรมาณูเดิมก่อสร้างเป็น ศูนย์การประชุมพาณิชยกรรมแห่งฮิโรชิมะ (ญี่ปุ่น: 広島県物産陳列館) เพื่อพัฒนาการตลาดของผลิตภัณฑ์ของเมืองฮิโรชิมะ ซึ่งเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองสงคราม เพราะเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการในสมัยสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง[3]

จังหวัดฮิโรชิมะอนุมัติการก่อสร้างใน พ.ศ. 2453 และเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2457[4] ตัวอาคารเดิมออกแบบโดยสถาปนิกชาวเช็กชื่อว่า Jan Letzel[5] สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2458 เปิดใช้งานในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2464 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์จัดแสดงสินค้าแห่งฮิโรชิมะ (ญี่ปุ่น: 広島県商品陳列所) และในปี พ.ศ. 2476 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมแห่งฮิโรชิมะ (ญี่ปุ่น: 広島県産業奨励館) ภายในศูนย์แห่งนี้มีการแสดงและวางขายสินค้าที่ผลิตในฮิโรชิมะ รวมทั้งแสดงงานศิลปะต่าง ๆ[6] แต่เมื่อสงครามเริ่มทวีความรุนแรง การแสดงสินค้าก็ลดลงจนเลิกไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2487[5]

ระเบิดปรมาณู

[แก้]

ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เวลา 8 นาฬิกา 15 นาที[7] ระเบิดปรมาณูลิตเติลบอยระเบิดห่างจากโดมปรมาณูทางทิศตะวันออก 150 เมตร และสูงเหนือพื้นดิน 580 เมตร[2] สันนิษฐานว่า 1 วินาทีหลังจากที่ลิตเติลบอยระเบิดอาคารก็พังทลาย แม้ว่าส่วนอาคารทั้ง 3 ชั้นจะพังทลายเกือบทั้งหมด แต่ส่วนโดมตรงกลางและกำแพงโดยรอบกลับรอดมาได้ เพราะแรงระเบิดนั้นเกิดขึ้นเหนืออาคารพอดี[8] คาดว่าเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 คนที่อยู่ในอาคารเสียชีวิตทั้งหมด[9]

การอนุรักษ์

[แก้]
อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะเมื่อ พ.ศ. 2488

การฟื้นฟูฮิโรชิมะเริ่มขึ้นจากการสร้างอาคารชั่วคราวบนพื้นดินที่ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างนั้น ซากโครงเหล็กรูปโดมของศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมก็เป็นที่เห็นเด่นชัดจนชาวเมืองพากันเรียกว่าโดมปรมาณู จนติดปาก [10]

โดมปรมาณูกลายเป็นที่รู้จักในฐานะของสัญลักษณ์ความโหดร้ายของระเบิดปรมาณู แต่ชาวเมืองกลับอยากให้ทำลายทิ้ง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงความโหดร้ายของการทิ้งระเบิด[11] จึงทำให้มีการถกเถียงกันว่าควรจะอนุรักษ์หรือทำลาย[4] เทศบาลเมืองฮิโรชิมะในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ด้วยสาเหตุที่ว่าการอนุรักษ์ทำให้เกิดภาระทางการเงินมาก และต้องการใช้ทรัพยากรที่จำกัดไปในการฟื้นฟูเมืองมากกว่า แต่เมื่ออิจิโร คาวาโมโตะ นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ ได้อ่านข้อความว่า "ศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมที่น่าสงสารนั้นคงจะประกาศให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความน่าสะพรึงกลัวของระเบิดปรมาณูตลอดไป" ในอนุทินของฮิโรโกะ คาจิยามะ เด็กสาวซึ่งเสียชีวิตใน พ.ศ. 2503 ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว[12] เขาจึงเริ่มการรณรงค์ให้อนุรักษ์โดมประมาณูไว้[13] จนในพ.ศ. 2509 สภาเทศบาลเมืองฮิโรชิมะก็ลงความเห็นให้อนุรักษ์โดมปรมาณูไว้ตลอดไป[4][10] ในการระดมทุนสำหรับการก่อสร้างเพื่อเก็บรักษาโดมปรมาณู สามารถรวบรวมเงินจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศและชาวต่างชาติทั่วโลกได้ถึง 66 ล้านเยน[4][6] การซ่อมแซมครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2510 และเสร็จสิ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ในปีเดียวกัน[14]

20 ปีหลังจากการซ่อมแซมครั้งแรก เริ่มมีรอยร้าวบนกำแพงและการกัดกร่อนของโครงเหล็ก จึงต้องมีการซ่อมแซมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2532 ในครั้งนี้ได้รับเงินบริจาคถึงกว่า 395 ล้านเยน ซึ่งมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้เกือบ 4 เท่า[15] เงินส่วนที่เหลือจากการซ่อมแซมนำมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อการอนุรักษ์โดมปรมาณู[4] และมีการตรวจความแข็งแรงทุก ๆ 3 ปี

ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

[แก้]

อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแหล่งมรดกโลกใน พ.ศ. 2539 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ตัวแทนจากจีนตั้งข้อสงสัยในการรับรองให้อนุสรณ์แห่งนี้เป็นมรดกโลก เพราะจีนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่อนุสรณ์แห่งนี้อาจถูกนำไปใช้บิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อกล่าวร้ายศัตรูของญี่ปุ่น และตัวแทนจากสหรัฐอเมริกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะเป็นมรดกโลก เพราะยังขาดมุมมองทางประวัติศาสตร์[16][2] แต่คณะกรรมการมรดกโลกก็ตัดสินให้อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะผ่านหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ข้อที่ว่า มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2539[17]

ตัวอาคาร

[แก้]

ศูนย์การประชุมพาณิชยกรรมแห่งฮิโรชิมะได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2453 โดยสร้างบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโมโตยาซุ ตัวอาคารเป็นแบบตะวันตก มีสามชั้น เป็นอิฐเสริมโครงเหล็กบางส่วน ด้านหน้าตรงกลางมีห้าชั้น มีโดมทองแดงอยู่ด้านบน[18] และมีชั้นใต้ดินหนึ่งชั้น ประตูทางเข้าทำด้วยหิน[10] มีทั้งสวนแบบตะวันตกและสวนแบบญี่ปุ่น[18]

เมื่อถูกระเบิดทำลายในวันที่ 6 สิงหาคม ตัวอาคารโดนทำลายเกือบทั้งหมด เหลือเพียงบริเวณโครงของโดมตรงกลางและกำแพงโดยรอบ จึงเป็นที่มาของชื่อโดมปรมาณู มีการสร้างโครงเหล็กเพื่อยึดจากด้านใน ให้โดมปรมาณูคงอยู่ในสภาพซากหลังจากถูกทำลาย[4]

ภาพมุมกว้าง

[แก้]
ภาพในมุมกว้าง 180° โดมปรมาณูอยู่ประมาณกึ่งกลางของภาพ ส่วนที่เป้าหมายของการทิ้งระเบิดอยู่บริเวณสะพานไอโอะอิทางซ้ายมือของภาพ

ภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Hiroshima Peace Memorial (Genbaku Dome)". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  2. 2.0 2.1 2.2 "War and Peace". The Japan Times Online. 2007-06-08. สืบค้นเมื่อ 2009-03-30.
  3. "Imperial Headquarters in Hiroshima". Peace Memorial Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-06. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 "A-bomb Dome Registered as World Heritage". Hiroshima City. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-13. สืบค้นเมื่อ 2009-03-30.
  5. 5.0 5.1 "A-Bomb Dome". Peace Memorial Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-07. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  6. 6.0 6.1 "原爆ドーム物語". Hiroshima City. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-10. สืบค้นเมื่อ 2009-04-01.
  7. "Hiroshima Peace Memorial Ceremony". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-17. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  8. Yosuke Sakurai. "A-bomb Dome more than just a historic site". Daily Yomiuri Online: Lens on Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-10. สืบค้นเมื่อ 2009-03-30.
  9. จำนวนผู้เสียชีวิตในอาคารได้จากการประมาณโดยใช้รายชื่อเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในเวลาทิ้งระเบิด ดังนั้น จำนวนผู้เสียชีวิตในอาคารจริง ๆ อาจมากกว่า 30 คน เพราะมีผู้เสียชีวิตอื่น ๆ เช่นชาวเมืองที่มาใช้บริการในเวลานั้นด้วย
  10. 10.0 10.1 10.2 "原爆ドーム". 広島平和記念資料館WEBSITE. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-27. สืบค้นเมื่อ 2009-03-30.
  11. "消えた「原爆十景」追う". The Chugoku Shimbun Online. 2007-04-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-15. สืบค้นเมื่อ 2009-03-31.
  12. "Atomic Bomb Dome". สืบค้นเมื่อ 2009-03-30.
  13. "原爆ドーム 平和願う国内外の支え". Yomiuri Online. สืบค้นเมื่อ 2009-03-31.[ลิงก์เสีย]
  14. "Fading Memories of the Bombings - The Ground Zero Restoration Movement Grows". NHK. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-10. สืบค้นเมื่อ 2009-04-01.
  15. "Knowing What the War Was Like". NHK. สืบค้นเมื่อ 2009-04-01.[ลิงก์เสีย]
  16. "STATEMENTS BY CHINA AND THE UNITED STATES OF AMERICA DURING THE INSCRIPTION OF THE HIROSHIMA PEACE MEMORIAL (GENBAKU DOME)". สืบค้นเมื่อ 2009-04-01.
  17. "Hiroshima Peace Memorial (Genbaku Dome)". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 2009-04-01.
  18. 18.0 18.1 "原爆ドーム(旧広島県産業奨励館)". Cultural Heritage Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-13. สืบค้นเมื่อ 2009-04-04.

วฟย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

34°23′45″N 132°27′12″E / 34.39583°N 132.45333°E / 34.39583; 132.45333{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้