ข้ามไปเนื้อหา

ห้องอำพัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ห้องอำพันที่สร้างใหม่

ห้องอำพัน (อังกฤษ: Amber Room หรือ Amber Chamber, รัสเซีย: Янтарная комната, อักษรโรมัน: Yantarnaya komnata, เยอรมัน: Bernsteinzimmer, โปแลนด์: Bursztynowa komnata) ตั้งอยู่ภายในพระราชวังแคทเธอรีนที่หมู่บ้านซาร์สโคเยอเซโลไม่ไกลจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นห้องที่ผนังที่ทำด้วยอำพันทั้งห้องตกแต่งด้วยทองคำเปลวและกระจก ความงามของห้องนี้ทำให้บางครั้งได้รับสมญาว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์ที่แปดของโลก

ห้องอำพันเดิมเป็นความร่วมมือระหว่างช่างฝีมือชาวเยอรมันและชาวรัสเซีย การก่อสร้างห้องเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1701 ถึงปี ค.ศ. 1709 ในปรัสเซีย ตัวห้องออกแบบโดยประติมากรบาโรกชาวเยอรมันอันเดรียส์ ชลือเตอร์และสร้างโดยช่างอำพันชาวเดนมาร์คก็อตต์ฟรีด วูลแฟรม และตั้งอยู่ในพระราชวังชาร์ลอตเตนบวร์กมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1716 เมื่อพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซียถวายให้แก่ซาร์ปีเตอร์มหาราชแห่งจักรวรรดิรัสเซีย ห้องที่ได้รับการขยายและบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้งเมื่อไปอยู่ในรัสเซียแล้วมีขนาดกว่า 55 ตารางเมตรและใช้อำพันทั้งสิ้น 6 ตัน ห้องนี้ถูกรื้อเป็นชิ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองโดยนาซีเยอรมนีเพื่อจะทำการส่งไปยังเคอนิชส์แบร์ค แต่หลังจากนั้นห้องอำพันก็สูญหายไประหว่างความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นในบั้นปลายของสงคราม ชะตาของห้องยังคงเป็นเรื่องลึกลับและยังคงเป็นสิ่งที่สืบหากันอยู่

ในปี ค.ศ. 1979 ก็ได้มีการพยายามสร้างห้องอำพันกันขึ้นมาใหม่ที่ซาร์สโคเยอเซโล ในปี ค.ศ. 2003 หลังจากดำเนินการสร้างและตกแต่งอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี ห้องอำพันที่สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือชาวรัสเซียก็เปิดขึ้นอีกครั้งในพระราชวังแคทเธอรีนในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในรัสเซีย

ประวัติ

[แก้]

การก่อสร้าง

[แก้]
บางส่วนของห้องอำพันที่สร้างใหม่

ห้องอำพันเริ่มสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1701 เพื่อจะติดตั้งในพระราชวังชาร์ลอตเตนบูร์กในเบอร์ลินซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 1 ผู้ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของปรัสเซียโดยการถวายคำแนะนำโดยพระอัครมเหสีองค์ที่สองโซเฟีย ชาร์ลอตแห่งฮันโนเฟอร์ ความคิดและการออกแบบเป็นของอันเดรียส์ ชลือเตอร์ และมาสร้างโดยก็อตต์ฟรีด วูลแฟรม ผู้เป็นช่างประจำราชสำนักของสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก ด้วยความช่วยเหลือของช่าอำพันเอิร์นสท์ ชาคท์ และก็อตตฟรีด ทูเราจากกดานสค์[1]

แต่เมื่อสร้างเสร็จห้องนี้ก็ไม่ได้อยู่ในพระราชวังชาร์ลอตเตนบวร์กนานเท่าใดนัก ก่อนที่ซาร์ปีเตอร์แห่งรัสเซียจะทรงชื่นชมเมื่อเสด็จมาเป็นพระราชอาคันตุกะในปี ค.ศ. 1716 พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มจึงถวายให้กับซาร์ปีเตอร์ ซึ่งเท่ากับเป็นการสมานสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักรในการต่อต้านสวีเดน

ในปี ค.ศ. 1755 สมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซียมีพระบรมราชโองการให้ย้ายห้องอำพันไปยังพระราชวังฤดูหนาว และต่อมาพระราชวังแคทเธอรีน จากเบอร์ลินสมเด็จพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย ก็ทรงส่งอำพันจากบอลติคไปให้สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถเอลิซาเบธอีก เพื่อไปตกแต่งเพิ่มเติมตามแบบที่ออกใหม่โดยสถาปนิกประจำราชสำนักของรัสเซียบาร์โทโลเมโอ ราสเทรลลิ

การโยกย้ายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

ไม่นานหลังจากการรุกรานของเยอรมนีในสหภาพโซเวียตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ปฏิบัติการบาร์บารอสซา) ภัณฑ์รักษ์ผู้มีความรับผิดชอบต่อการขนย้ายศิลปะมีค่าของเลนินกราดไปซ่อนระหว่างสงคราม พยายามที่จะถอดและย้ายห้องอำพัน อำพันในห้องถูกอากาศมาเป็นเวลานานก็จะแห้งและเปราะ เมื่อพยายามจะถอดอำพันก็เริ่มกลายเป็นผง ห้องอำพันจึงได้รับการพรางไว้ด้วยกระดาษปิดฝาผนังที่ดูเรียบ ๆ เพื่อป้องกันจากการถูกยึดโดยนาซี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อพบห้องอำพันทหารเยอรมันถอดห้องเพียงภายใน 36 ชั่วโมงภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1941 ริตต์ไมส์เตอร์ กราฟ โซลม-เลาบาคก็ทำการควบคุมการขนย้ายหีบไม้ 27 หีบไปยังเคอนิชส์แบร์คในปรัสเซียตะวันออกเพื่อไปเก็บรักษา และแสดงให้ประชาชนดูที่ปราสาทของเมือง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1941 หนังสือพิมพ์ เคอนิกสแบร์เกอ อัลล์เกอไมเนอ ไซทุง (Königsberger Allgemeine Zeitung) รายงานการแสดงบางส่วนของห้องอำพันในปราสาทเคอนิชส์แบร์ค

ช่วงสุดท้ายในเคอนิชส์แบร์ค

[แก้]

เมื่อวันที่ 21 มกราคม และ 24 มกราคม ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์ก็อนุญาตให้มีการขนย้ายสมบัติออกจากปราสาท ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไปหน่วยบริหารของอัลเบิร์ต ชเปียร์ก็มีสิทธิที่จะขนย้ายสมบัติทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญลำดับ “I (o) ” เอริค ค็อคเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับขนย้ายที่เคอนิชส์แบร์ค ผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่าได้เห็นลังที่ใส่ชิ้นส่วนของห้องอำพันที่สถานีรถไฟ ซึ่งอาจจะได้รับการบรรทุกขึ้นเรือวิลเฮล์ม กุสต์ลอฟฟ์ที่ออกจากกดิเนีย (Gdynia) เมื่อวันที่ 30 มกราคม และถูกล่มโดยเรือดำน้ำรัสเซียก็เป็นได้

ในตอนปลายสงครามเคอนิชส์แบร์คถูกระเบิดอย่างหนักโดยกองทัพอากาศอังกฤษ และได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำมือของทหารโซเวียตที่รุกเข้ามาก่อนที่จะเสียเมืองเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1945 ไปตกอยู่ในความปกครองของโซเวียตและมาได้รับชื่อใหม่ว่า “คาลินนินกราด” ตัวปราสาทที่เหลือถูกทำลายโดยกองทัพแดงระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960

การสูญหายและความลึกลับ

[แก้]

ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีผู้ใดเห็นห้องอำพันอีก นอกจากว่าจะมีข่าวมาบ้างว่าบางส่วนของห้องรอดมาจากสงคราม และอันที่จริงแล้วก็มีการพบบางส่วนของห้องที่ใช้เป็นเครื่องตกแต่งแต่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นอำพันเอง

ข่าวที่ออกมาเป็นระยะ ๆ หรือข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ก็มีความขัดแย้งกัน ข้อสันนิษฐานรวมทั้งห้องอำพันถูกทำลายไประหว่างการถูกลูกระเบิด, , ถูกซ่อนไว้ใต้ดินภายใต้เคอนิชส์แบร์ค, ถูกฝังไว้ในเหมือง หรือถูกขนย้ายไปกับเรือที่ถูกล่มโดยเรือดำน้ำโซเวียตในทะเลบอลติก

กลุ่มผู้ที่พยายามค้นหาก็รวมทั้งเอกชนคนเดียว และ กลุ่มรวมทั้งองค์การของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการค้นหาอย่างเป็นจริงเป็นจังมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองแต่ก็ไม่มีผู้ใดประสบความสำเร็จ ในปี ค.ศ. 1998 ก็ได้มีคณะผู้ค้นหาสองคณะที่ประกาศว่าพบห้องอำพัน คณะแรกอ้างว่าพบในเหมืองเงิน และอีกคณะหนึ่งอ้างว่าพบว่าถูกฝังอยู่ใต้ลากูน แต่ทั้งสองคณะก็มิได้แสดงห้องอำพันให้ดู[2]

แต่ในปี ค.ศ. 1997 โมเซอิคหินอิตาลีที่เป็นหนึ่งในสี่ชิ้นของโมเสอิคที่ใช้ในการตกแต่งห้องปรากฏขึ้นทางตะวันตกของเยอรมนีในครอบครัวของทหารผู้ที่มีส่วนในการบรรจุชิ้นส่วนของห้องเพื่อการขนย้าย[3]

ทฤษฎีเกี่ยวกับการถูกทำลาย

[แก้]
รายละเอียดของห้องอำพันที่สร้างใหม่
ห้องทำงานเพื่อสร้างห้องอำพันใหม่

เมื่อไม่นานมานี้นักหนังสือพิมพ์เชิงสอบสวนสองคนแคทเธอรีน สกอตต์-คลาร์ค และเอเดรียน เลวีทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง รวมทั้งจากเอกสารของการค้นคว้าที่ทำในรัสเซีย และในปี ค.ศ. 2004 ก็ได้พิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ห้องแอมเบอร์: ชะตาของสมบัติอันมีค่าที่สุดของโลก” ที่สรุปว่าห้องอำพันน่าจะถูกทำลายเมื่อเพลิงไหม้ปราสาทเคอนิชส์แบร์ค ไม่นานหลังจากที่เมืองเคอนิชส์แบร์คยอมแพ้ต่อผู้ยึดครองรัสเซีย[2]

เอกสารจากหอเอกสารแสดงบทสรุปโดยอเล็กซานเดอร์ บรูซอฟผู้นำคณะสืบสวนที่ส่งมาโดยรัฐบาลโซเวียตผู้สรุปในปี ค.ศ. 1945 ว่า “เมื่อสรุปจากข้อมูลต่าง ๆ แล้ว เราอาจจะกล่าวได้ว่าห้องอำพันถูกทำลายระหว่างวันที่ 9 ถึง 11 เมษายน ค.ศ. 1945”[4] หลายปีต่อมาบรูซอฟให้ความเห็นตรงกันกันข้ามกับที่กล่าว ผู้ประพันธ์จึงกล่าวเป็นนัยยะว่าความคิดเห็นใหม่อาจจะมาจากความกดดันต่อบรูซอฟโดยเจ้าหน้าที่โซเวียต ผู้ไม่ต้องการที่จะทำให้ดูเหมือนกับว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียห้องอำพัน[5]

ในบรรดาข้อมูลต่าง ๆ จากหอเอกสาร ก็คือการพบโมเซอิคหินอิตาลีที่เหลือในกซากเพลิงไหม้ที่ปราสาท[6] เหตุผลของผู้ประพันธ์ถึงสาเหตุที่โซเวียตทำการสืบสวนหาห้องอำพันกันอย่างใหญ่โตในปีต่อ ๆ มาหลังสงครามโลกครั้งที่สองแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญของตนเองจะสรุปแล้วว่าถูกทำลายไป อาจจะมาจากเหตุผลจากแรงกระตุ้นหลายอย่าง บ้างก็เพื่อที่จะพรางความเป็นจริงที่ว่าทหารโซเวียตอาจจะเป็นผู้รับผิดชอบในการทำลาย หรือ บ้างก็อาจจะเห็นว่าการโจรกรรมห้องอำพันเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่ออันมีประโยชน์ของสงครามเย็น หรือบ้างก็อาจจะพยายามกระจายความรับผิดชอบต่อการถูกทำลาย เพราะความที่ไม่สามารถที่จะโยกย้ายห้องอำพันไปอยู่ในที่ปลอดภัยเมื่อสงครามเริ่มขึ้น[7]

เจ้าหน้าที่รัสเซียไม่ยอมรับบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ และในบางกรณีก็ถึงกับสร้างความไม่พึงพอใจ อเดเลดา โยลคินานักค้นคว้าอาวุโสของพิพิธภัณฑ์พาฟลอฟสค์กล่าวว่า “เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่กองทัพแดงจะขาดความระมัดระวังจนถึงกับปล่อยให้ห้องอำพันถูกทำลายไปได้” ผู้เชี่ยวชาญรัสเซียคนอื่น ๆ ไม่มีความแคลงใจเท่าและให้ความเห็นไปอีกแนวหนึ่ง มิเคล พิโอโทรฟสกีผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิทาจกล่าวอย่างระมัดระวังว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำลายห้องอำพันเป็นความผิดของผู้ริเริ่มสงคราม” แคทเธอรีน สกอตต์-คลาร์คโต้ตอบความเห็นนี้โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ประพันธ์ไม่ต้องการที่ลงเอยด้วยบทสรุปดังกล่าวโดยกล่าวว่า “เมื่อเราเริ่มต้นการสืบสวนเรื่องนี้ เราก็เพียงแต่มีความหวังว่าจะค้นพบห้องอำพันที่หายไปเท่านั้น”[8]

ตั้งแต่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ ทหารผ่านศึกรัสเซียก็ให้สัมภาษณ์และกล่าวยืนยันบทสรุปว่าห้องอำพันถูกทำลายไปจริง ๆ แต่ก็ยังปฏิเสธว่าเพลิงไหม้เกิดจากความจงใจ เลโอนิด อรินชไทน์ผู้เชี่ยวชาญทางวรรณกรรมของสถาบันวัฒนธรรมเอกชนกล่าวว่า “ผมคงไม่ใช่คนสุดท้ายที่ได้เห็นห้องอำพัน” ผู้ขณะนั้นเป็นนายร้อยของกองทัพแดงผู้มีความรับผิดชอบอยู่ที่เคอนิชส์แบร์คในปี ค.ศ. 1945 อรินชไทน์กล่าวต่อไปว่า “ทหารกองทัพแดงไม่ได้เผาสิ่งใด”[9]

ทฤษฎีในแนวนี้เป็นทฤษฎีที่แพร่หลายทั่วไปในบรรดาชาวเมืองคาลีนินกราด (เดิมเคอนิชส์แบร์คในเยอรมนี) ในปัจจุบัน ที่ว่าบางส่วนของห้องอำพันพบในห้องใต้ดินหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยกองทัพแดง ที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีพอสมควร แต่ข้อที่ว่านี้ก็มิได้เป็นที่ยอมรับในขณะนั้นเพื่อที่จะให้ความผิดตกไปอยู่กับฝ่ายเยอรมัน เพื่อจะทำให้เรื่องที่ว่าเป็นที่น่าเชื่อถือการเข้าออกของปราสาทที่ถูกทำลายไปมากจึงเป็นเพียงจำกัด แม้แต่การเข้าไปสำรวจทางประวัติศาสตร์/โบราณคดี ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 ก็ได้มีการยุติการเข้าไปยังปราสาท และทรากปราสาทถูกระเบิดทิ้งโดยกองทัพแดง เพื่อปิดทางเข้าบริเวณที่อยู่ใต้ดิน จากนั้นก็ได้มีการสร้างมหาวิหารซอฟเยทอฟแห่งคาลินินกราดบนสถานที่ที่ถูกทำลายขึ้น ฉะนั้นห้องอำพันที่ยังเหลืออยู่จึงยังคงถูกฝังอยู่ใต้ดิน แต่ตามที่กล่าวข้างต้นอำพันที่ไม่ได้รับการดูแลก็จะเปราะหักเป็นฝุ่นเมื่อนานเข้า ฉะนั้นจึงพอที่จะสรุปได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่รัสเซียแม้ว่าจะหลังจากคอมมิวนิสต์แล้วก็ยังไม่เต็มใจที่จะยอมรับข้อสันนิษฐานดังว่านี้[10]

ในปี ค.ศ. 2008 ก็ได้มีการค้นหาห้องอำพันกันขึ้นหลายครั้งในบริเวณเขตแดนเยอรมนี-เช็กตามคำบอกกล่าวของแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ แต่ก็ไม่ได้มีการพบสิ่งใดตามที่ต่าง ๆ ที่ว่า[11]

การสร้างใหม่

[แก้]

ห้องอำพันในนวนิยาย

[แก้]

ความลึกลับของห้องอำพันเป็นหัวใจของโครงเรื่องของหนังสือ, ภาพยนตร์ และ การแสดงศิลปะหลายครั้ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Blumberg, Jess. A Brief History of the Amber Room, Smithsonian Magazine. Retrieved: 3 April 2008.
  2. 2.0 2.1 Hall, Allan (16 April 2006). "Amber Room hunt makes lake the Tsar attraction". Scotland on Sunday. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-05. สืบค้นเมื่อ 2007-06-26.
  3. Yutaka Shigenobu (Producer) (2006). The Amber Room: Lost in Time (Part I) (Documentary). NHK. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ approx. 31:00.
  4. Scott-Clark, Catherine (2004). The Amber Room: The Untold Story of the Greatest Hoax of the Twentieth Century. London: Atlantic Books. pp. 356–57. ISBN 1-84354-340-0. OCLC 56452462. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  5. Scott-Clark and Levy (op cit.), pp. 330, 309
  6. Scott-Clark and Levy (op cit.), pp. 322-323, 328
  7. Scott-Clark and Levy (op cit.), pp. 108-109, 325
  8. Scott-Clark and Levy (op cit.), pp. 301-313
  9. Stolyarova, Galina (15 June 2004). "Outrage At Amber Room Book". Saint Petersburg Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-06-26.
  10. Isachenkov, Vladimir (9 June 2004). "Mystery of the Amber Room resurfaces". MSNBC.com. สืบค้นเมื่อ 2007-06-26.
  11. http://www.thenational.ae/article/20090501/FOREIGN/704309844/1013/NEWS
  12. RIA Novosti (8 May 2003). "Restoration of the Amber Chamber is Coming to an End". Pravda.RU. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-06-26.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ห้องอำพัน