หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์
หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ | |
---|---|
หม่อมเจ้า ชั้น 3 | |
เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส | |
ดำรงตำแหน่ง | พ.ศ. 2437 — พ.ศ. 2441 |
ก่อนหน้า | พระวินัยรักขิต (นาม กาฬนาโม) |
ถัดไป | สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) |
ประสูติ | 23 มกราคม พ.ศ. 2413 |
ชีพิตักษัย | 28 มกราคม พ.ศ. 2498 (85 ปี) ตำหนัก ถนนกรุงเกษม |
พระบุตร | 9 คน |
ราชสกุล | ลดาวัลย์ |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี |
พระมารดา | หม่อมมาลัย ลดาวัลย์ ณ อยุธยา |
หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ (23 มกราคม พ.ศ. 2413 — 28 มกราคม พ.ศ. 2498) เป็นราชบัณฑิตและอดีตพระราชาคณะชั้นธรรมเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
ประวัติ
[แก้]ปฐมวัย
[แก้]หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ เป็นพระโอรสลำดับที่ 38 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมมาลัย[1] เมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2412 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2413)
ผนวช
[แก้]หลังจากเกศากันต์ในปีมะเมีย พ.ศ. 2425 หม่อมเจ้าพร้อมได้ผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นผู้ประทานศีล[1] ผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ถึงปีฉลู พ.ศ. 2432 ได้ผนวชเป็นภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับพระนามฉายาว่า "ธมฺมรโต" ผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธฯ ตามเดิม[2]
การศึกษา
[แก้]หลังจากผนวชเป็นสามเณร ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในหลายสำนัก ได้แก่ สำนักพระครูศีลสังวรและนายรอด ที่วัดราชบพิธ สำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ที่พระพุทธปรางค์ปราสาท สำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ก่อนเข้าสอบได้เสด็จไปฝึกซ้อมแปลกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส[3]
ขณะยังเป็นสามเณร ทรงเข้าสอบในปีระกา พ.ศ. 2428 ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานวัตถุจตุปัจจัยมูลค่า 2 ชั่งเป็นรางวัล[4] หลังจากผนวชเป็นพระภิกษุ ทรงเข้าสอบอีกในปี พ.ศ. 2434 ได้เพิ่มอีก 2 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[5]
เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหารมีโรงเรียนภาษาบาลี ทรงเห็นว่าหม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร (หม่อมเจ้าพร้อม ธมฺมรโต) มีความรู้ภาษาบาลีเป็นอย่างดี สามารถจัดการศึกษาในวัดให้รุ่งเรืองได้ โปรดให้อาราธนาพระองค์ท่านไปเป็นอยู่วัดเทพศิรินทราวาสในปี พ.ศ. 2437 เมื่อพระวินัยรักขิต (นาม กาฬนาโม) อาพาธด้วยอหิวาตกโรค จนมรณภาพลงเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน ปีนั้น[6] หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตรจึงขึ้นดำรงเจ้าอาวาสแทนสืบมา จนกระทั่งลาสิกขาบท รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 4 ปี
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตรได้พัฒนาวัดหลายประการ เช่น ปรับปรุงทัศนียภาพในวัด สร้างและซ่อมเสนาสนะ สร้างพระประธาน นำพระราชทรัพย์ที่ได้รับพระราชทานมาบำรุงการจัดการศึกษา เป็นต้น[7]
สมณศักดิ์
[แก้]- 17 มีนาคม พ.ศ. 2435 เป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะที่ หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร[8]
- 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมที่ หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร ธรรมประดิบัติวรนายก ตรีปิฎกโกศล โศภนสุนทรวาจา มหาคณีศร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
ลาสิกขาบท
[แก้]หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร ทูลลาสิกขาบทเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2441[3] จากนั้นได้เข้ารับราชการในกรมราชบัณฑิต จนกระทั่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมภูษามาลา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในฐานะที่ทรงเป็นราชบัณฑิต จึงได้มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 โดยทำหน้าที่อัญเชิญพระชัยเนาวโลหะ นำเสด็จพระราชดำเนิน และร่วมกับราชบัณฑิตอื่น ๆ กับพราหมณ์ถวายน้ำราชาภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์
นอกจากนี้ยังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้นำพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการสวดมนต์ในพระราชพิธีวิสาขะบูชา และเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีมาฆบูชาอีกหลายคราว อีกทั้งยังได้ทรงเรียบเรียงมหาขันธก์ และอุโบสถขันธก์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เนื่องในวันมหาปวารณาถึง 4 ปี ต่อเนื่องกัน
โอรสธิดา
[แก้]โอรสธิดาในหม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ มีดังนี้[1]
- หม่อมราชวงศ์หญิงประนิธิ ลดาวัลย์
- หม่อมราชวงศ์นักษัตร ลดาวัลย์ บิดาหม่อมหลวง อดุลเดช ลดาวัลย์
- หม่อมราชวงศ์หญิงสุภัทรา พรหมบุตร
- หม่อมราชวงศ์หญิงอาไทย ลดาวัลย์
- หม่อมราชวงศ์ไกวัลย์ ลดาวัลย์
- หม่อมราชวงศ์สันทัศก์ ลดาวัลย์
- หม่อมราชวงศ์นิภัสร ลดาวัลย์
- หม่อมราชวงศ์พรศรี ลดาวัลย์
- หม่อมราชวงศ์อรีย์ชาติ ลดาวัลย์
สิ้นชีพิตักษัย
[แก้]หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ ประชวรด้วยพระโรคชรา และสิ้นชีพิตักษัยอย่างสงบ เมื่อเวลา 17:00 น. ของวันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2498 ณ ตำหนักเลขที่ 182 ถนนกรุงเกษม[1] สิริชันษา 86 ปี พระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2498
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2449 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.) (สมัยนั้นเรียกว่าภัทราภรณ์)[10]
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 4 (จ.ป.ร.4)
- พ.ศ. 2453 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 (ว.ป.ร.4)[11]
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของหม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 มหาขันธก์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคลและพระโอรสทรงพิมพ์เพื่อบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวผนวชหม่อมเจ้าพร้อม สามเณร เป็นภิกษุ, เล่ม 6 ตอน 14, 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2432, หน้า 117
- ↑ 3.0 3.1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์, เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, กรมศิลปากร, 2545, หน้า 170-171
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะแลเปรียญที่แปลพระปริยัติธรรม, เล่ม 4 , ตอนที่ 22, 8 กันยายน 2430, หน้า 174-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, จำนวนพระสงฆ์สามเณรซึ่งสอบไล่พระปริยัติธรรมได้ ในปี ๑๐๙ ปี ๑๑๐, เล่ม 8, ตอนที่ 13, 28 มิถุนายน 2434, หน้า 105
- ↑ วัดเทพศิรินทราวาส ยุคที่ 3 พระวินัยรักขิตเป็นเจ้าอาวาส[ลิงก์เสีย], สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ↑ วัดเทพศิรินทราวาส ยุคที่ 4 หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตรเป็นเจ้าอาวาส[ลิงก์เสีย], สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 9 ตอน 52, 26 มีนาคม2435, หน้า 462
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 15 ตอน 34, 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 1898, หน้า 352
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 23, ตอนที่ 28, หน้า 715
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 27, หน้า 2421
ก่อนหน้า | หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระวินัยรักขิต (นาม กาฬนาโม) | เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร (พ.ศ. 2437 — พ.ศ. 2441) |
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) |