พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต)
พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) | |
---|---|
![]() | |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2367 (74 ปี 361 วัน ปี) |
มรณภาพ | 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส |
พระพรหมมุนี นามเดิม เหมือน ฉายา สุมิตฺโต เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลาง และอดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร
ประวัติ
[แก้]ชาติกำเนิด
[แก้]พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่า เหมือน เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2366 (นับตามแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2367) ได้ฝากตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) ตั้งแต่ท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระอริยมุนี อยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร (บิดาของพระพรหมมุนีเป็นพี่ชายของมารดาสมเด็จพระวันรัตน์) ต่อมาสมเด็จพระวันรัตน์ได้นำท่านไปฝากเป็นศิษย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงผนวชประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[1]
อุปสมบท
[แก้]พ.ศ. 2386 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หน้าวัดราชาธิวาส โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมรโมลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทแล้วกลับไปศึกษาที่สำนักของพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) ตามเดิม[1]
การศึกษา
[แก้]ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระพรหมมุนีได้เข้าสอบบาลีครั้งแรกที่วัดราชบุรณราชวรวิหาร แต่สอบไม่ผ่าน ภายหลังได้เข้าสอบอีกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค ถึงรัชกาลที่ 4 ได้เข้าสอบอีกครั้งที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 4 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค[1]
สมณศักดิ์
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/7a/Chulalongkorn_and_his_teachers_in_ordination.jpg/250px-Chulalongkorn_and_his_teachers_in_ordination.jpg)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับนั่งทางซ้ายสุดของภาพ รูปที่ 3 จากทางขวาคือพระอริยมุนี (เหมือน สุมิตฺโต)
- ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นพระปลัด ฐานานุกรมในพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ)
- พ.ศ. 2401 เป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉก พื้นกำมะหยี่หักทองขวาง และมีนิตยภัตเดือนละ 4 ตำลึง[2]
- พ.ศ. 2420 เป็นพระราชาคณะที่ พระเทพโมฬี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณาฤศร บวรสังฆารามคามวาสี รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉกพื้นกำมะหยี่หักทองขวางประดับพลอย และมีนิตยภัตเดือนละ 4 ตำลึงกึ่ง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป[2]
- วันศุกร์ แรม 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน (ตรงกับวัน 13 มกราคม พ.ศ. 2431) เป็นพระราชาคณะเสมอตำแหน่งธรรมที่ พระพรหมมุนี คัมภีรญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังกรมหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตราคาเดือนละ 4 ตำลึง 3 บาท มีถานานุศักดิ์ตั้งถานานุกรมได้ 5 รูป[3] รับพัดยศเป็นตาลปัตรแฉกพื้นโหมดสลับแพร[2]
- วันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ (ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2435) ได้เพิ่มนิตยภัตเป็นเดือนละ 5 ตำลึงกึ่ง และเพิ่มฐานานุศักดิ์ให้ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป (เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง) รับตาลปัตรแฉกพื้นตาดสลับโหมดและแพรปักเลื่อมเป็นเครื่องยศ[4]
- วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย (ตรงกับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2437) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลางที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ มัชฌิมคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตราคาเดือนละ 6 ตำลึง มีถานานุศักดิ์ตั้งถานานุกรมได้ 8 รูป[5] รับหิรัญบัฏจารึกราชทินนาม และตาลปัตรแฉกพื้นตาดสีเป็นเครื่องยศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะสถาปนาท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะ แต่ท่านอาพาธจนเดินไม่ได้มาช้านาน จึงไม่ได้ทรงตั้ง[2]
ศาสนกิจ
[แก้]ในปีมะเมีย พ.ศ. 2413 ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระอริยมุนี ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับกุลบุตรหลายคน เช่น
- หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์
- หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์)
- อำมาตย์เอก พระยาประมูลธนรักษ์ (ผูก ผโลประการ)
รวมทั้งเป็นคณปูรกะในการผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2416 เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตชุดแรก[6] และเป็นแม่กองตรวจชำระพระสุตตันตปิฎกในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112[7]
มรณภาพ
[แก้]พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) อาพาธเป็นโรคลมมานาน จนเมื่อวันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117[8] พ.ศ. 2441 (นับตามแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2442) เวลาบ่าย 3 โมงเศษ ท่านเริ่มเป็นลมและอาเจียน 2-3 ครั้ง ขุนศรีสุริยแพทย์ประกอบยาถวาย แต่อาการไม่ทุเลา จนถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 22:10 น. สิริอายุได้ 76 ปี[1] ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โกศโถ ฉัตรเบญจา และพระสวดอภิธรรมตลอด 3 เดือนเป็นเกียรติยศ โดยมีพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุติกนิกายช่วยกันจัดงานศพ[9][2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 154-7. ISBN 974-417-530-3
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกกรมสังฆการี, เล่ม 16, ตอน 12, 18 มิถุนายน ร.ศ. 118, หน้า 157-8
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ, เล่ม 4, หน้า 325
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 8, หน้า 466-468
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 11, หน้า 309
- ↑ ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. หน้า 127. ISBN 974-399-612-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การสาศนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, หน้า 410
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตายในกรุง, เล่ม 15, ตอน 45, 5 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117, หน้า 495
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกกรมสังฆการี, เล่ม 16, ตอน 16, 16 กรกฎาคม ร.ศ. 118, หน้า 206
ก่อนหน้า | พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
(ไม่มี) | ![]() |
![]() เจ้าคณะรองคณะกลาง (พ.ศ. 2437 - พ.ศ. 2442) |
![]() |
พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) |