ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์

หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์
พระอนุวงศ์ ชั้น หม่อมเจ้า
ประสูติ26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470
สิ้นชีพิตักษัย23 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 (75 ปี)
หม่อม
  • หม่อมแสงทอง สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา
พระบุตรหม่อมราชวงศ์ประเดิมสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
หม่อมราชวงศ์นรรยโสภาคย์ สวัสดิวัตน์
หม่อมราชวงศ์จุฬาวิลาศ สวัสดิวัตน์
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลสวัสดิวัตน์
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
พระมารดาหม่อมเร่ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา

หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2546) พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ประสูติแต่หม่อมเร่ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม: บุนนาค) เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกันกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระประวัติ

[แก้]

หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ประสูติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 แต่หม่อมเร่ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค) ธิดาของขุนอนุมานพลนิกร (พลอย บุนนาค) และปนัดดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)

หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ มีพระเชษฐา พระภคินี และพระขนิษฐาและพระอนุชา ร่วมพระอุทร 10 องค์

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ มีพระเชษฐา พระภคินี ทรงได้รับการเลี้ยงดูโดยขุนอนุมานพลนิกร (พลอย บุนนาค) (คุณตา) และนางทรัพย์ บุนนาค (คุณยาย) รวมถึงน้อง ๆ ของหม่อมเร่ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ณ วังปทุมวัน (ปัจจุบันคือที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน)

เมื่อ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ สิ้นพระชนม์ใน ณ เกาะปีนัง วังปทุมวัน และวังที่ถนนพระอาทิตย์ ได้ถูกรัฐบาลยึดเป็นราชพัสดุ หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ รวมถึงพระเชษฐา และพระภคินี จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานิเคราะห์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งในขณะนั้นประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ให้เข้าอยู่ในวังศุโขทัย โดยหม่อมเร่ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ได้เลี้ยงดูพระโอรส พระธิดา มาด้วยดีโดยตลอด และสนับสนุนให้พระโอรส พระธิดาได้รับการศึกษาทุกองค์

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ ทำให้วังศุโขทัยก็ถูกรัฐบาลยึด หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ มีพระเชษฐา พระภคินี ที่ยังไม่ได้แต่งงาน 8 องค์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ให้เข้ามาอยู่ในวังสระปทุม หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ จึงได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนต่อ ทรงรับการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หลังจากนั้นได้ทรงเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาในสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2494

ต่อมา หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 1 พรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วาสน์ วาสนมหาเถร) (ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) เป็นพระอุปัชฌา ทำให้ทรงสนพระทัยในธรรมะเป็นอย่างยิ่ง

หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ เสกสมรสกับหม่อมแสงทอง สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม: ดิษวนนท์) ธิดาขุนประเดิมคดี (ทับ ดิษวนนท์) และนางประเดิมคดี (ส้วน) และได้ได้เสด็จออกจากวังสระปทุมเพื่อสร้างบ้าน สร้างครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงส่วนองค์ และได้มีโอรสธิดาคือ

  1. หม่อมราชวงศ์ประเดิมสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ สมรสกับ นางสิริวรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม: บุญศิริ) มีบุตรธิดา คือ
    1. หม่อมหลวงปวัตน์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
    2. หม่อมหลวงปวันสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
    3. หม่อมหลวงปวีณ์สุดา สวัสดิวัตน์
  2. หม่อมราชวงศ์นรรยโสภาคย์ สวัสดิวัตน์ สมรสกับ นายนภสินธุ์ มรกต
  3. หม่อมราชวงศ์จุฬาวิลาศ สวัสดิวัตน์

หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ ถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 พระชันษา 76 ปี

การทรงงานและกรณียกิจ

[แก้]

ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาและยังประทับอยู่ ณ วังศุโขทัย ได้ถวายงานสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (พระเชษฐภคินี) ด้วยการที่ทรงออกแบบโครงสร้างพระตำหนักสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี และเสด็จไปควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักและบริเวณโดยรอบจนแล้วเสร็จ

ต่อมา เมื่อหม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ ผนวชเป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อทรงลาสิกขา จึงได้ทรงงานที่บริษัทก่อสร้างสวัสดีประดิษฐ์ร่วมกับ ม.จ.สวัสดีประดิษฐ์ สวัสดิวัตน์ พระเชษฐา ในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะทรงสมัครเข้าทำงานกับ สำนักงานนายทหารผู้ควบคุมการก่อสร้างแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกา (Office in Charge of Construction Southeast Asia) โดยทรงมีหน้าที่ดูแลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องทรงใช้ชีวิตการทำงานในประเทศในภูมิภาคเอเชียปแซิฟิก และภูมิภาคตะวันออกกลางในหลายประเทศ รวมถึงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

เมื่อพระชนม์มากขึ้นก็ได้ทรงลาออกจากงานประทับอยู่บ้าน ทรงตั้งองค์อยู่ในธรรมะโดยตลอดจนเป็นที่ยอมรับว่าว่าทรงศึกษาด้านธรรมะเป็นอย่างมาก แม้ในขณะที่ปฎิบัติเลี้ยงพระสงฆ์ในพระราชพิธีต่าง ๆ ก็ได้ทรงสนทนาปัญหาธรรมกับพระสงฆ์อยู่เสมอ ทรงสนพระทัยการศึกษาธรรมะจากหนังสือต่าง ๆ มากมาย ทรงอ่านแต่ละเล่มอยู่หลายเที่ยว และทรงขีดเส้นหรือเน้นข้อความไว้ และประทานให้กับลูก ๆ นำไปอ่าน พร้อมทั้งอธิบายความหมายในแต่ละบทแต่ละตอนประทานด้วย โดยในระหว่างนี้ยังทรงร่วมงานในพระบรมมหาราชวังโดยเสมอมิได้ขาด จนเป็นที่รูกจักกันดีในหมู่พระราชวงศ์

สิ้นชีพิตักษัย

[แก้]

หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์ทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยขาดพระโลหิต เส้นพระโลหิตไปเลี้ยงพระหทัยตีบตัน ได้ทรงเข้ารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลวชิระมาตลอด พร้อมกับพระเชษฐา คือ ม.จ.บุญทัดสวัสดี สวัสดิวัตน์ เนื่องจากทรงพระชรามากขึ้นพระอาการประชวรจึงมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ขณะที่เสด็จไปทรงรับการตรวจเกี่ยวกับพระหทัยที่โรงพยาบาลราชวิถี ระหว่างที่กำลังประทับอยู่บนรถเข็นเพื่อไปทรงรับการตรวจ ก็ทรงเป็นลมหมดพระสติ เจ้าหน้าที่ได้นำเข้าห้องฉุกเฉินอายุรกรรม และได้ทำการช่วยเหลือทันที จนกระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เวลา 05.13 นาฬิกา จึงถึงชีพิตักษัย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]