สุด แสงวิเชียร
สุด แสงวิเชียร | |
---|---|
เกิด | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ |
เสียชีวิต | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2538 (88 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | นายแพทย์, นักกายวิภาคศาสตร์, นักวิทยาศาสตร์, นักโบราณคดี, อาจารย์ |
มีชื่อเสียงจาก | หนึ่งในแพทย์ผู้ชันสูตรพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร |
คู่สมรส | นางผจงจีบ แสงวิเชียร (จีบ บุตรานนท์) |
บุตร | 5 คน |
บิดามารดา | ขุนแสงสุรพาณิชย์ (จันทร์ แสงวิเชียร) นางแสงสุรพาณิชย์ (ทรัพย์ แสงวิเชียร) |
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450— 8 มิถุนายน พ.ศ. 2538) แพทย์ชาวไทย นักกายวิภาคศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักโบราณคดี ราชบัณฑิต และ ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่น บุคคลดีเด่นแห่งชาติ และนักอนุรักษ์ดีเด่น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร มีผลงานโดดเด่นในเรื่องวิทยาเอ็มบริโอ ด้านจุลกายวิภาคศาสตร์ ด้านมหกายวิภาคศาสตร์ หนึ่งในแพทย์ผู้ชันสูตรพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ประวัติ
[แก้]ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรของขุนแสงสุรพาณิชย์ (จันทร์ แสงวิเชียร) และนางทรัพย์ แสงสุรพาณิชย์ (ทรัพย์ แสงวิเชียร*2413 - 2512: 99 ปี) เป็นบุตรคนที่ 6 ของพี่น้อง 7 คน พี่ชาย 4 คน พี่สาว 1 คน น้องชาย 1 คน ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เมื่ออายุได้ 88 ปี ท่านเป็นอาจารย์แพทย์ผู้สร้างความเจริญให้กายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ ผู้ชันสูตรพระบรมศพ ผู้เขียนบันทึก เรื่อง "เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต : หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์"
ท่านสมรสกับนางผจงจีบ แสงวิเชียร (จีบ บุตรานนท์ *2455 - 2542:87 ปี) บุตรี นายนาวาตรี หลวงเจียรเจนสมุทร์ (เจียร บุตรานนท์) และนางยิ้ม เจียรเจนสมุทร์ มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 5 คน เป็นแพทย์ 3 คน ทันตแพทย์ 1 คน คือ ผศ.พญ.คุณหญิง แสงจันทร์ แสงวิเชียร, ศ.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร, นายสายสุด แสงวิเชียร, ผศ.ทพญ.จุติศรี แสงวิเชียร, และรศ.พญ.จีระสุข จงกลวัฒนา
การศึกษา
[แก้]การศึกษาเบื้องต้นกับบิดาของตน ศึกษาชั้นประถมปีที่ 1-3 มัธยมปีที่ 3 ที่โรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรปราการ มัธยมปีที่ 4-8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้น ในปี พ.ศ. 2469 เป็นนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่น 2 (นิสิตแพทย์) ที่ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2473 ผลการเรียนยอดเยี่ยม จนได้รับทุนเรียนดีของพระยาอุเทนเทพโกสินทร (ประสาร บุรณศิริ) พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานปริญญาเวชชบัณฑิตชั้นตรี หรือแพทยศาสตร์บัณฑิต เป็นแพทย์ศิริราช รุ่นที่ 36 (แพทย์ปริญญารุ่น 3) ได้รับรางวัลเหรียญเงินรองเยี่ยมตลอดหลักสูตร 4 ปี เหรียญทองแดงที่ 1 ในแผนกศัลยศาสตร์ และเหรียญทองแดงที่ 1 ในแผนกอายุรศาสตร์ นอกจากนี้ระหว่างเข้ารับราชการเป็นอาจารย์แผนกกายวิภาคศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาต่อทางกายภาคศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน และมหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์นรีเซิร์ฟ สหรัฐอเมริกา ได้รับเงินทุนจากกองทุนพระมรดกของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และใน พ.ศ. 2506 ได้รับทุน WHO ไปศึกษาวิชามนุษยพันธุศาสตร์และวิจัยโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดพบในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
การทำงาน
[แก้]เมื่อจบการศึกษาแล้ว พ.ศ. 2474 ท่านเข้ารับราชการเป็นอาจารย์แผนกกายวิภาคศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาต่อทางกายวิภาคศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา และได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่แผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2476-2513 ในระหว่างเหตุการณ์กรณีสวรรคต นั้น ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ และได้เข้าร่วมเป็นแพทย์ผู้ชันสูตรพระบรมศพ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช
ท่านได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนที่ 9 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2511 - 2512 เมื่อเกษียณอายุแล้วก็ยังช่วยสอนที่นี่ทุกวันจนถึง พ.ศ. 2536 จนไปทำงานเฉพาะวันพุธ วันละ 4 ชั่วโมง จากปัญหาสุขภาพ จนเสียชีวิต และได้สั่งครอบครัวไว้ให้มอบร่างกายของท่านแก่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ภายหลังบำเพ็ญกุศลแล้ว ปัจจุบันได้แขวนโครงกระดูกไว้ให้นิสิตนักศึกษาแพทย์ใช้ประกอบการศึกษาที่ตึกกายวิภาคศาสตร์
ท่านมีผลงานโดดเด่นทางด้านวิทยาเอ็มบริโอ ด้านจุลกายวิภาคศาสตร์ ด้านมหกายวิภาคศาสตร์ (การดองศพ) ท่านมีผลงานวิจัยมากกว่า 250 เรื่อง เป็นหัวหน้าแผนกที่สามารถทำให้แผนกกายวิภาคศาสตร์เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะงานด้านพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน(เป็นเกียรติแก่ ศ.คองดอน) เมื่อ พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลก ที่มีระบบประสาทและระบบหลอดเลือดแดงทั้งตัว
ศ.นพ.สุด เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516[1]
ผลงาน
[แก้]ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร มีผลงานทางวิชามากมาย ได้แก่
- หนังสือกว่า 20 เล่ม เช่น เมื่อข้าพเจ้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต, กายวิภาคศาสตร์ (ภาษาไทย), The Prehistoric Thai Skeleton from Ban-Kao Karnchanaburi Archiological Excavation in Thailand Vol. lll, ศาสตราจารย์ อีดี คองดอน กับประวัติวิชากายวิภาคศาสตร์ของประเทศไทย, ประวัติพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์, ศิริราชที่ผมรู้จัก, ดร.ไฮเซอร์ กับความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ต่อรัฐบาลไทย, พิพิธภัณฑ์ศิริราช, ตามรอยพระยุคลบาท, Studies on physical anthropology in Thai subjects (E.D. Congdon Ph.D., Sood Sangvichien M.B., M.D., Puket Vachananda M.B.,Ph.D.), กายวิภาคศาสตร์ ทรวงอก (บทที่ 1 กายวิภาคศาสตร์ของทรวงอกและอวัยวะภายใน)
- บทความวิชาการ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษกว่า 150 บทความ
- บทความประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ กว่า 100 บทความ
- บทความทางโบราณคดี กว่า 40 บทความ
เกียรติคุณ
[แก้]ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ได้รับการเชิดชู ทั้งระดับประเทศ และนานาชาติ ที่สำคัญได้แก่
เกียรติที่ได้รับทางวิชาการ
[แก้]- ราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน เมื่อ พ.ศ. 2485
- แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2492
- F.I.C.S. กิตติมศักดิ์ พ.ศ. 2504
- วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2517
- ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (โบราณคดี) กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2517
- สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2524
- แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2526
เกียรติที่ได้รับจากสังคม
[แก้]- แพทย์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2526
- คนไทยตัวอย่างของมูลนิธิธารน้ำใจ พ.ศ. 2530
- บุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ด้านกายวิภาคศาสตร์) ของคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2531
- นักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2533
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2525 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2508 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2516 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2509 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[5]
- พ.ศ. 2501 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๙, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๓ ง หน้า ๓๐๑๕, ๒๗ กันยายน ๒๕๐๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2021-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๑๐๙ ง หน้า ๓๓๔๑, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๑
บรรณานุกรม
[แก้]- ชีวประวัติคณบดี ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช[ลิงก์เสีย]
- Blog Gotoknow โดย นาย ธเนศ ขำเกิด เก็บถาวร 2008-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หนังสือ ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2450
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2538
- บุคคลจากอำเภอเมืองสมุทรปราการ
- ราชบัณฑิต
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
- แพทย์ชาวไทย
- นักกายวิภาคศาสตร์
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- บุคคลจากคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- นักโบราณคดีชาวไทย
- นิติวิทยาศาสตร์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ.ว.
- ผู้ได้รับเหรียญ ร.ด.ม.(ศ)
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา
- บุคคลจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์นรีเสิร์ฟ
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน