แยกท่าพระ
ชื่ออักษรไทย | ท่าพระ |
---|---|
ชื่ออักษรโรมัน | Tha Phra |
รหัสทางแยก | N076 (ESRI), 153 (กทม.) |
ที่ตั้ง | แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร |
ทิศทางการจราจร | |
↑ | ถนนจรัญสนิทวงศ์ » แยกพาณิชยการธนบุรี |
→ | ถนนเพชรเกษม » บางยี่เรือ |
↓ | ถนนรัชดาภิเษก » ตลาดพลู |
← | ถนนเพชรเกษม » บางแค |
แยกท่าพระ เป็นสี่แยกบริเวณจุดตัดระหว่างถนนเพชรเกษม, ถนนรัชดาภิเษกและถนนจรัญสนิทวงศ์ ในพื้นที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร นับเป็นสี่แยกที่มีความสำคัญต่อการจราจรในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนรัชดาภิเษก ช่วงรัชดา-ท่าพระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบถนนวงแหวนรอบในของกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นทางแยกแรกของถนนเพชรเกษมจากจุดเริ่มต้นบริเวณสะพานเนาวจำเนียรซึ่งทอดยาวลงสู่ภาคใต้ของไทย
โดยชื่อ "ท่าพระ" อันทั้งชื่อของแยกและแขวงในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ด้วย นั้นมาจากชื่อของวัดท่าพระ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงด้านถนนจรัญสนิทวงศ์ เดิมมีชื่อว่า "วัดเกาะ" ต่อมาได้มีการพบหลวงพ่อเกษร อันเป็นประธานในวัดลอยมาติดที่ท่าน้ำ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดท่าพระดังเช่นในปัจจุบัน[1]
แยกท่าพระเดิมมีสภาพเป็นเพียงสามแยก และบริเวณโดยรอบเป็นสวนผลไม้ สวนมะพร้าว[2] เคยเป็นบ้านพักของ ล้อต๊อก ตลกบรมครู ต่อมาทางด้านทิศใต้ได้มีการตัดถนนรัชดาภิเษกช่วงรัชดา-ท่าพระ จึงเปลี่ยนมาเป็นสี่แยก กระทั่งปี พ.ศ. 2534 มีการเปิดใช้สะพานลอยข้ามแยกตามแนวถนนเพชรเกษม ทำพิธีเปิดโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น และในปี พ.ศ. 2544 มีการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยกตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์และถนนรัชดาภิเษก นับเป็นอุโมงค์ลอดทางแยกแห่งแรก ๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยอุโมงค์ดังกล่าวเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2546
ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการปิดซ่อมสะพานข้ามแยกระหว่างวันที่ 23 เมษายน ถึงวันที่ 7 กันยายน ซึ่งจากเดิมเปิดวันที่ 21 กรกฎาคม เนื่องจากสะพานตรงกลางแอ่นตัวในฝั่งขาออกและมาเปิดวันที่ 12 สิงหาคม แต่ไม่เสร็จและมาเปิดวันที่ 23 สิงหาคม และไม่เสร็จอีกจึงมาเปิดวันที่ 7 กันยายน นับเป็นสะพานข้ามแยกที่ 9 ที่ทางกรุงเทพมหานครปิดซ่อมและเปิดใช้ ปัจจุบันปิดซ่อมทุกวันเสาร์อาทิตย์[3] [4]
ปัจจุบันมีสถานีท่าพระ เป็นสถานีลอยฟ้าในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางในช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ยกระดับทอดตัวไปทั้ง 4 ด้าน ทั้งแนวถนนจรัญสนิทวงศ์-รัชดาภิเษก, แนวถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าบางแค และแนวเส้นทางใหม่ของรถไฟฟ้าจากสถานีอิสรภาพที่ยกระดับเข้าสู่ทางแยกที่หัวมุมระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์และเพชรเกษม[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดท่าพระ". สำนักงานบางกอกใหญ่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-25. สืบค้นเมื่อ 2018-03-01.
- ↑ https://www.silpa-mag.com/history/article_84913 แยกท่าพระ กรุงเทพฯ เคยมีผลไม้? อร่อยขึ้นชื่อจนที่อื่นสู้ไม่ได้
- ↑ "กทม.ซ่อมแยกท่าพระ 90 วัน แนะปชช.เลี่ยงเส้นทางถึงปลายก.ค." ผู้จัดการออนไลน์. 2010-04-20. สืบค้นเมื่อ 2018-02-27.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เลื่อนเปิดสะพานข้ามแยกท่าพระ". โฮมดอตซีโอดอตทีเอช.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "รถไฟฟ้าสีนํ้าเงิน หัวลำโพง-ท่าพระ เชื่อมวงแหวนรอบในกทม.-ปริมณฑลโซนใต้ที่บางแค". ฐานเศรษฐกิจ. 2016-08-30. สืบค้นเมื่อ 2018-02-27.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ แยกท่าพระ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์