ข้ามไปเนื้อหา

สี่สิบเจ็ดโรนิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพพิมพ์แสดงการเข้าโจมตีคฤหาสน์ของคิระ โยชินากะ
หลุมศพของ 47 โรนิงที่วัดเซ็งงากูจิ โตเกียว

การแก้แค้นของสี่สิบเจ็ดโรนิง (ญี่ปุ่น: 四十七士โรมาจิShi-jū-shichi-shi) บางครั้งอาจเรียกว่า การแก้แค้นของสี่สิบเจ็ดซามูไร หรือ เหตุการณ์เก็นโรกุอาโก (ญี่ปุ่น: 元禄赤穂事件โรมาจิGenroku akō jiken) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเอโดะในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ชื่อ ไอแซก ทิทซิงก์ กล่าวว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในวิถีบูชิโด [1]

เรื่องราวกล่าวถึงกลุ่มนักรบซามูไรจำนวน 47 คนในสังกัดของไดเมียวอาซาโนะ นางาโนริ ซึ่งถูกบังคับให้กระทำเซ็ปปูกุ เมื่อปี ค.ศ. 1701 หลังจากบันดาลโทสะ ใช้ดาบทำร้ายคิระ โยชินากะ ข้าหลวงผู้มีอิทธิพลของโชกุนโทกูงาวะ สึนาโยชิ ที่ปราสาทมัตสึโอะโอโรกะ เนื่องจากผิดกฎหมายโดยชักอาวุธออกมาภายในปราสาทของโชกุน ตามกฎแล้วอาซาโนะ นางาโนริจะต้องทำเซ็ปปูกุ ถูกยึดทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และประหารสมาชิกตระกูลอาซาโนะทุกคน

เมื่อสูญเสียเจ้านายไป ซามูไรทั้งหมดสามร้อยกว่าคนในตระกูลจึงกลายเป็นโรนิน ในจำนวนนี้ 47 คนได้ซุ่มวางแผนการแก้แค้นเป็นเวลากว่าสองปี นำโดยหัวหน้าชื่อ โออิชิ โยชิโอะ จากนั้นจึงบุกเข้าโจมตีคฤหาสน์ของคิระในเอโดะ สังหารข้าหลวงคิระโดยการตัดศีรษะ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1703 และนำศีรษะไปไว้ที่หลุมศพของเจ้านายที่วัดเซ็งงากูจิ เพื่อเป็นการกอบกู้ศักดิ์ศรี ภายหลังเหตุการณ์เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้เข้าจับกุมและตัดสินให้โรนิงทั้ง 47 กระทำผิดข้อหาฆาตกรรม แต่อนุญาตให้กระทำเซ็ปปูกุ แทนการลงโทษโดยประหารชีวิต

เรื่องราวของโรนิงสี่สิบเจ็ดคนได้รับการเผยแพร่ผ่านการแสดงละครคาบูกิและละครหุ่นชัก [2] โดยเปลี่ยนชื่อตัวละคร ในชื่อเรื่อง "ชูชิงงูระ" (ญี่ปุ่น: 忠臣蔵Chūshingura) เนื่องจากในยุคเก็นโรกุ มีกฎหมายห้ามการวิพากษ์เหตุการณ์การเมืองในขณะนั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Screech, T. (2006). Secret Memoirs of the Shoguns: Isaac Titsingh and Japan, p. 91.
  2. "Kanadehon". Columbia University.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]