ข้ามไปเนื้อหา

สิงโตทะเลกาลาปาโกส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สิงโตทะเลกาลาปาโกส
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Otariidae
สกุล: Zalophus
สปีชีส์: Z.  wollebaeki
ชื่อทวินาม
Zalophus wollebaeki
Sivertsen, 1953
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[1]
  • Zalophus californianus wollebaeki (Sivertsen, 1953)

สิงโตทะเลกาลาปาโกส (อังกฤษ: Galápagos sea lion; ชื่อวิทยาศาสตร์: Zalophus wollebaeki) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กินเนื้อ จำพวกสิงโตทะเลชนิดหนึ่ง

สิงโตทะเลกาลาปาโกส อยู่ในสกุลเดียวกันกับสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนีย (Z. californianus) แต่มีขนาดเล็กกว่า นับเป็นสิงโตทะเลหรือแมวน้ำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิหนาวเย็น หรือเขตขั้วโลก แต่อาศัยอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะในโลกยุคน้ำแข็ง มีกระแสน้ำเย็นทั้งเหนือและใต้ได้พัดพาเอาบรรพบุรุษของสิงโตทะเลกาลาปาโกส เดินทางมายังที่หมู่เกาะกาลาปาโกส อันเป็นสถานที่แห่งเดียวที่จะมีการพบเห็นสิงโตทะเลกาลาปาโกสได้

สิงโตทะเลกาลาปาโกส พบอาศัยอยู่แทบทุกเกาะในหมู่เกาะกาลาปาโกส[2] ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 225 กิโลกรัม โดยจะมีอาณานิคมหรืออาณาเขตเป็นของตนเอง ประกอบด้วยตัวเมียราว 30 ตัว และลูก ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ตัวผู้จะแสดงความเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองด้วยการดำผุดดำว่ายในน้ำใกล้ชายฝั่ง เพื่อป้องกันตัวผู้ตัวอื่นบุกรุกเข้ามา ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะทำให้ตัวผู้ตัวนั้นเหนื่อยล้าในเวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวผู้ตัวอื่นเข้ามาแย่งอาณาเขตและตัวเมียทั้งหมด ตัวผู้ที่พ่ายแพ้จะหลบไปพักฟื้นกันเป็นกลุ่มในสถานที่อื่น ซึ่งจะมีแต่ตัวผู้ที่มีสภาพเช่นเดียวกันรวมตัวกัน เพื่อรอเวลาบุกชิงอาณาเขตคืน สิงโตทะเลกาลาปาโกสกินปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นอาหารหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาซาร์ดีน สามารถออกไปหาอาหารได้ไกลถึง 15 กิโลเมตรในทะเล แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะะจอกับศัตรูตามธรรมชาติด้วย เช่น ปลาฉลาม และวาฬเพชฌฆาต[2]

สิงโตทะเลกาลาปาโกส มีฤดูผสมพันธุ์ที่ยาวนานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มกราคม ในปีถัดไป ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกสิงโตทะเลจะดูดกินนมแม่จนอายุได้ 1 ขวบ และจะได้รับการป้องกันดูแลจนอายุได้ 3 ขวบ[2] ในขณะที่แม่สิงโตทะเลออกไปหาอาหาร จะมีสิงโตทะเลตัวเมียตัวอื่นทำหน้าที่ดูแลแทน ขณะเดียวกันสิงโตทะเลตัวผู้ก็จะทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยให้เช่นกัน

สิงโตทะเลตัวเมียและลูกอ่อน

สิงโตทะเลกาลาปาโกส เป็นสัตว์ที่ไม่เกรงกลัวมนุษย์ มักเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ เมื่อพบเจอมนุษย์ รวมถึงดำน้ำใกล้กับนักดำน้ำด้วย จึงถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจประการหนึ่งที่เรียกผู้คนให้เดินทางมาท่องเที่ยวที่หมู่เกาะกาลาปาโกส[3] นอกจากนี้แล้วยังมีพฤติกรรมแย่งกินปลาจากร้านขายปลาบนเกาะซานตาครูซ ของหมู่เกาะกาลาปาโกสกับนกกระทุงสีน้ำตาล (Pelecanus occidentalis) อีกด้วย [4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Aurioles, D. & Trillmich, F. (2008). Zalophus wollebaeki. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 30 January 2009.
  2. 2.0 2.1 2.2 "สุดหล้าฟ้าเขียวปี 11 เอกวาดอร์ - กาลาปากอส". ช่อง 3. 7 March 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-16. สืบค้นเมื่อ 7 March 2015.
  3. สิงโตทะเล (Sea Lions), หน้า 2. นิตยสาร แม็ค 4 ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 สิงหาคม 2537
  4. "สุดหล้าฟ้าเขียว: กาลาปากอส 3". ช่อง 3. 31 Janaury 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-31. สืบค้นเมื่อ 31 Janaury 2015. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Zalophus wollebaeki ที่วิกิสปีชีส์