สารประกอบของแก๊สมีสกุล
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
สารประกอบของแก๊สมีสกุล คือสารประกอบทางเคมีของธาตุในหมู่ขวาสุดของตารางธาตุ หรือกลุ่มแก๊สมีสกุล
เบื้องหลัง ประวัติ และความเป็นมา
[แก้]ในสมัยก่อนศตวรรษที่ 20 ผู้คนในสมัยนั้นยังเชื่อกันว่าแก๊สมีสกุลไม่สามารถเกิดสารประกอบได้ เนื่องจากธาตุเหล่านั้นมีเวเลนซ์อิเล็กตรอนครบแปดตัว จึงทำให้มันเสถียรและไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาได้ แก๊สมีสกุลทุกชนิดมีอิเล็กตรอนเต็มใน s และ p ออร์บิทัล ในระดับพลังงานที่สูงที่สุด เว้นเสียแต่ธาตุฮีเลียมที่มีเฉพาะ s ออร์บิทัลในวงนอกสุดเท่านั้น รวมทั้งยังมีค่าพลังงานไอออไนเซชันสูงและค่าสัมพรรคภาพอิเล็กตรอนต่ำอีกด้วย ผู้คนในสมัยก่อนจึงเชื่อกันว่าธาตุเหล่านี้ไม่สามารถเกิดสารประกอบได้ด้วยเหตุผลเหล่านี้นั่นเอง
ในปี พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) ไลนัส พอลลิง ได้ทำนายว่าแก๊สมีสกุลที่มีเลขอะตอมสูงจะสามารถทำปฏิกิริยากับฟลูออรีนและออกซิเจนได้ ยิ่งไปกว่านั้น เขายังทำนายอีกว่าสามารถเกิดสารประกอบ คริปตอนเฮกซะฟลูออไรด์ และ ซีนอนเฮกซะฟลูออไรด์ ได้ และยังทำนายอีกว่า จะเกิดสารประกอบซีนอนออกตะฟลูออไรด์ซึ่งไม่เสถียร รวมทั้งทำนายว่า กรดซีนิก จะให้เกลือเป็นเกลือเปอร์ซีเนต การทำนายนี้ใกล้เคียงความเป็นจริงมาก ยกเว้นเพียงแค่ซีนอนออกตะฟลูออไรด์เท่านั้นที่ในปัจจุบันนี้มีการทำนายเพิ่มเติมว่า สารประกอบนี้นอกจากจะไม่เสถียรในทางอุณหพลศาสตร์แล้ว ยังไม่เสถียรในทางจลนพลศาสตร์อีกด้วย และสารประกอบนี้ยังผลิตไม่ได้จนถีง พ.ศ. 2549
แก๊สมีสกุลที่เป็นธาตุหนักจะมีออร์บิทัลของอิเล็กตรอนมากกว่าธาตุเบา (ธาตุที่อยู่ทางตอนบนของตารางธาตุ) ดังนั้น อิเล็กตรอนในระดับพลังงานชั้นที่สูงสุด (ชั้นที่อยู่ห่างจากนิวเคลียสมากที่สุด) ก็จะถูกกำบังจากบรรดาอิเล็กตรอนในระดับพลังงานชั้นต่ำ จึงเป็นเหตุให้ธาตุแตกตัวเป็นไอออนได้ง่าย เนื่องจากอิเล็กตรอนเหล่านั้นได้รับแรงดึงดูดทางไฟฟ้าจากนิวเคลียสน้อยมาก จึงส่งให้ค่าพลังงานไอออไนเซชันของธาตุเหล่านั้นต่ำพอที่จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับธาตุที่มีค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตีสูง อันได้แก่ ออกซิเจน และ ฟลูออรีน
สารประกอบที่ผลิตได้ก่อนปี พ.ศ. 2505
[แก้]คลาเทรต
[แก้]สารประกอบคลาเทรต (en:Clathrate) เหล่านี้เกิดจากการที่อะตอมของแก๊สมีสกุลถูกดักจับอยู่ภายในช่องโหว่ของผลึกสารประกอบอินทรีย์และอนินทรีย์บางชนิด เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเกิดสารประกอบเหล่านี้คืออะตอมของแก๊สมีสกุลต้องมีขนาดที่เหมาะสมที่จะบรรจุในช่องโหว่ของผลึกนั้นได้ ตัวอย่างเช่น อาร์กอน คริปตอน และซีนอนสามารถเกิดสารประกอบคลาเทรตกับ β-quinol ได้ แต่ฮีเลียมและนีออนไม่สามารถถูกจับได้เพราะว่าขนาดของอะตอมเล็กเกินไป ซึ่งคลาเทรตเหล่านี้นำไปใช้ในการแยกฮีเลียมและนีออนออกจากอาร์กอน คริปตอน และซีนอนได้ รวมทั้งสารประกอบคลาเทรตของคริปตอน-85 เป็นแหล่งรังสีบีตาที่ปลอดภัย ในขณะที่สารประกอบคลาเทรตของซีนอน-133 เป็นแหล่งที่ปลอดภัยในการให้รังสีแกมมา
สารประกอบโคออร์ดิเนชัน
[แก้]สารประกอบโคออร์ดิเนชันของแก๊สมีสกุลเช่น Ar·BF3 ได้ถูกสมมติว่ามีจริงที่อุณหภูมิต่ำ แต่ยังไม่เคยมีการพิสูจน์แต่อย่างใด ส่วนสารประกอบ WHe2 และ HgHe2 ก็ได้มีการรายงานว่ามีการสร้างขึ้นโดยการ electron bombardment แต่งานวิจัยล่าสุดนั้นชี้ให้เห็นว่าอะตอมของฮีเลียมอาจถูกดูดซับไว้พนผิวของโลหะ นั่นหมายความว่าสารประกอบเหล่านี้จึงไม่อาจเรียกว่าเป็นสารประกอบที่แท้จริง
สารประกอบไฮเดรต
[แก้]สารประกอบนี้สามารถเตรียมได้โดยการอัดแก๊สมีสกุลในน้ำ ซึ่งเชื่อกันว่าโมเลกุลของน้ำซึ่งมีสภาพขั้วแรงจะเหนี่ยวนำให้เกิดสภาพขั้วอย่างอ่อนภายในอะตอมของแก๊สมีสกุล ส่งผลให้เกิดแรงไดโพลซึ่งกันและกัน อะตอมที่หนักกว่าจะถูกเหนี่ยวนำได้ง่ายกว่าอะตอมแก๊สมีสกุลประเภทธาตุเบา ดังนั้น Xe·6H2O จึงเป็นสารประกอบไฮเดรตที่มีเสถียรภาพสูงสุด แต่ทว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานั้นได้มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับการมีอยู่จริงของสารประกอบเหล่านี้
สารประกอบของแก๊สมีสกุลที่แท้จริง
[แก้]ในปี พ.ศ. 2505 นีล บาร์เลตต์ สังเกตว่าสารประกอบแพลทินัมเฮกซะฟลูออไรด์ ทำให้ O2 เสียอิเล็กตรอนกลายเป็น O2+ และค่าพลังงานไอออไนเซชันของออกซิเจนในสภาวะโมเลกุล (1165 kJ mol–1) นั้นใกล้เคียงกับของซีนอน (1170 kJ mol–1) เขาจึงทดสอบการเกิดปฏิกิริยาระหว่างซีนอนกับแพลทินัมเฮกซะฟลูออไรด์ ซึ่งได้ผลิตภัณฑ์เป็นผลึกของซีนอนเฮกซะฟลูออโรแพลทิเนต (en:xenon hexafluoroplatinate) ซึ่งเขาได้เสนอสูตรของสารประกอบนี้ว่า Xe+[PtF6]– และในเวลาต่อมา ได้มีการแสดงให้เห็นว่าสูตรสารประกอบนี้มีความซับซ้อนมากกว่าที่บาร์เลตต์ได้นำเสนอไว้ ซึ่งสารประกอบนี้ประกอบด้วย XeFPtF6 และ XeFPt2F11 ซึ่งสารประกอบนี้เป็นสารประกอบที่แท้จริงของแก๊สมีสกุลชนิดแรก
ต่อมาในปีเดียวกัน ได้มีการสังเคราะห์สารประกอบธาตุคู่ของแก๊สมีสกุลสารแรกโดยฮาเวิร์ด คลาสเซน (Howard Claassen) โดยการให้ก๊าซฟลูออรีนและก๊าซซีนอนทำปฏิกิริยากันที่อุณหภูมิสูง
ไม่นานมานี้ สารประกอบหลายชนิดของแก๊สมีสกุลโดยเฉพาะซีนอนได้มีการสังเคราะห์ขึ้นมา ได้แก่สารจำพวกฟลูออไรด์ (XeF2, XeF4, XeF6) , ออกซีฟลูออไรด์ (XeOF2, XeOF4, XeO2F2, XeO3F2, XeO2F4) และออกไซด์ (XeO3 และ XeO4) ซีนอนไดฟลูออไรด์สามารถเตรียมได้โดยปฏิกิริยาระหว่างแก๊สซีนอนและแก๊สฟลูออรีนโดยใช้แสงอาทิตย์ ในขณะที่มีความพยายามกว่า 50 ปี ในการที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาระห่างซีนอนและฟลูออรีน แต่ไม่มีใครเคยคาดคิดถึงการใช้แสงอาทิตย์ช่วยเลย
เรดอนสามารถทำปฏิกิริยากับฟลูออรีนได้สารประกอบเรดอนไดฟลูออไรด์ (RnF2) ซึ่งสามารถเรืองแสงสีเหลืองในสภาวะของแข็ง คริปตอนสามารถทำปฏิกิริยากับฟลูออรีนได้คริปตอนฟลูออไรด์ (KrF2) รวมไปถึงโมเลกุล Xe2 ในสภาวะกระตุ้น (ซึ่งมีอายุสั้น) และสารประกอบแฮไลด์ของแก๊สมีสกุลเช่น ซีนอนคลอไรด์ (XeCl2) นั้นใช้ในเอกซ์ไซเมอร์เลเซอร์ และได้มีการประกาศถึงการค้นพบสารประกอบอาร์กอนฟลูออโรไฮไดรด์ (HArF) ในปี พ.ศ. 2543 แต่ยังไม่มีการค้นพบสารประกอบของฮีเลียมและนีออน
ล่าสุดได้มีการค้นพบสารประกอบของซีนอนที่มีสูตรทั่วไปว่า XeOxY2 เมื่อ x คือ 1,2 หรือ 3 และ Y เป็นหมู่อะตอมที่มีประจุเป็นลบ เช่น CF3, C (SO2CF3) 3, N (SO2F) 2, N (SO2CF3) 2, OTeF5, O (IO2F2) เป็นต้น และได้มีการค้นพบสารประกอบของแก๊สมีสกุลกว่าพันชนิด และเกิดพันธะระหว่างซีนอนกับธาตุอื่นๆ อาทิเช่น ออกซิเจน, ไนโตรเจน, คาร์บอน และแม้กระทั่งทองคำ สารประกอบอื่นๆ ได้แก่ กรดเปอร์ซีนิก, แฮไลด์หลายชนิด และไอออนเชิงซ้อน สารประกอบ Xe2Sb2F11 มีพันธะซีนอน-ซีนอนยาว 308.71 pm ซึ่งเป็นค่าความยาวพันธะระหว่างอะตอม-อะตอมที่ยาวที่สุดที่เคยมีมา
สารประกอบของธาตุกับฟูลเลอรีน
[แก้]แก๊สมีสกุลสามารถเกิดสารประกอบเอนโดฮีดรัลฟูลเลอรีน (en:endohedral fullerine) เมื่ออะตอมของแก๊สมีสกุลถูกดักจับไว้ภายในโมเลกุลของฟูลเลอรีน ในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการค้นพบว่า ถ้า C60 ถูกอัดด้วยความดันประมาณ 3 บาร์ในก๊าซฮีเลียมหรือก๊าซนีออน จะเกิดสารเชิงซ้อน He@C60 และ Ne@C60
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การนำไปใช้ประโยชน์
[แก้]สารประกอบเหล่านี้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเป็นตัวออกซิไดส์ กรดซีนิกเป็นสารออกซิไดส์ที่มีราคาสูงมาก เนื่องจากมันจะไม่ไปเกิดปฏิกิริยากับสิ่งเจือปนใดๆ เลย เกลือเปอร์ซีเนตเป็นสารออกซิไดส์ที่มีประสิทธิภาพสูง และฟลูออไรด์ของซีนอนเป็นสารเติมฟลูออรีนที่ดี
ไอโซโทปกัมมันตรังสีของคริปตอนและซีนอนนั้นจัดเก็บได้ยาก และสารประกอบของมันสามารถเก็บรักษาไว้ได้ดีกว่าในสถานะก๊าซ