สมเด็จพระวรราชินี (แป้น)
สมเด็จพระวรราชินี (แป้น) | |
---|---|
พระวรราชมารดา | |
ประสูติ | พ.ศ. 2356 |
สวรรคต | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2438 (81 พรรษา) อุดงฦๅไชย กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส |
คู่อภิเษก | สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี |
พระราชบุตร | พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระองค์เจ้าจงกลนี พระองค์เจ้าเกสร |
ราชวงศ์ | ตรอซ็อกผแอม (อภิเษกสมรส) |
พระบิดา | พระยาสุภาธิบดี (โตจ) |
ศาสนา | พุทธ |
สมเด็จพระวรราชินีบรมบพิตร (พ.ศ. 2356 – 27 มิถุนายน พ.ศ. 2438) พระนามเดิม แป้น เป็นพระเทพีในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี และเป็นพระวรราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร
พระราชประวัติ
[แก้]สมเด็จพระวรราชินีบรมบพิตร ประสูติเมื่อปีกุน สัปตศก[1] มีพระนามเดิมว่า แป้น เป็นธิดาคนหนึ่งของพระยาสุภาธิบดี (โตจ)[2][3] มีพระเชษฐารับราชการในราชสำนักกัมพูชา คนหนึ่งชื่อเหม เป็นมหาดเล็ก[2] อีกคนชื่อเอก เป็นที่ออกญาราชเดชะ[4] พระยาสุภาธิบดีถวายบุตรสาวแก่สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ช่วงสยามทำสงครามกับญวนที่เมืองพนมเปญเมื่อ พ.ศ. 2376[2] เบื้องต้นทรงเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในตำแหน่งพระสนมชั้นแม่นาง[3] ตามเสด็จนักองค์ด้วงเมื่อครั้งประทับอยู่วังเจ้าเขมรในกรุงเทพมหานคร[5] จากการที่พระองค์ตามเสด็จพระสวามีไปกรุงเทพมหานคร ทำให้พระองค์มีความเป็นอยู่อย่างชาวสยาม[6] บางแหล่งข้อมูลระบุว่าครอบครัวของพระองค์เป็นชาวสยาม[7] ต่อมาได้ตามเสด็จไปประทับที่ตำหนักหลวง เมืองมงคลบุรี ช่วง พ.ศ. 2376–2380 (ปัจจุบันคือวัดหลวงสีสุวัตถิ์รัตนาราม จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา)[8]
สมเด็จพระวรราชินีประสูติการพระราชโอรส-ธิดาสามพระองค์ คือ
- พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (พ.ศ. 2377–2447) พระนามเดิม นักองค์จรอเลิ้ง หรือราชาวดี[9] ต่อมาเสวยราชสมบัติกรุงกัมพูชาสืบพระราชบิดา[10]
- พระองค์เจ้าจงกลนี (พ.ศ. 2382–2445) ต่อมาเป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ พระเชษฐาต่างมารดา[11]
- พระองค์เจ้าเกสร (พ.ศ. 2383–2452)
หลังสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงกัมพูชาแล้ว ทรงตั้งพระนามแก่เจ้านายฝ่ายในและบรรดาศักดิ์บาทบริจาริกาในราชสำนักทั้งหมด ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามแก่นักนางแป้น เป็น พระปิโยพระบรมท้าวธิดา ในตำแหน่งพระเทพี คู่กับนักนางเภา ที่ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามว่า พระปิโยพระบรมอัจฉราอับศร[12]
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระสวามี ก็สถาปนาพระนามพระวรราชมารดาขึ้นเป็น พระปิโยพระบรมชาติกระษัตรี ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าวัตถาและพระองค์เจ้าศิริวงษ์ทรงก่อการกบฏช่วง พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารเกรงว่าทัพของข้าศึกจะตีอุดงฦๅไชยแตก จึงทรงนำพระปิโยพระบรมชาติกระษัตรี และบาทบริจาริกาที่เป็นหญิงทั้งหมดลงเรือหนีไปเมืองพระตะบอง เหลือแต่สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า (พระองค์เจ้าศรีสวัสดิ) กับสมเด็จพระวรราชินี (รศ) และสมเด็จพระราชธิดาอีกสองพระองค์ ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังอุดงฦๅไชยเพื่อเฝ้าพระบรมศพสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[13]
พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารโปรดให้จัดพระราชพิธีอภิเษกพระหิรัญบัตรสมเด็จพระมาตุจฉาและสมเด็จพระมารดาในพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระราชมารดานั้น เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระวรราชินี กัมพูชาธิบดี ราชมารดา ศิริสุนทร ธรรมจาริยา เมตตาสัตตะละหฤไทย อโนปมัยบุญญการกุศล มงคลรัตนขัติยประสิทธิ พิพิธมไหสุรสมเหศวร สุชาตชาตา มหากระษัตรีอุดมบพิตร สัมฤทธิทีฆายุวัณณะสุขะพละ[14]
สมเด็จพระวรราชินีบรมบพิตรสวรรคตเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2438 สิริพระชนมายุ 81 พรรษา[1] พระอัฐิถูกบรรจุภายในพระเจดีย์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี บนเขาพระราชทรัพย์ อำเภอพญาฦๅ จังหวัดกันดาล เคียงข้างพระสวามี และสมเด็จพระวรราชินี (เภา)[15][16]
พระราชอำนาจ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระราชโอรส มีนโยบายต่อต้านสยามและสนับสนุนฝรั่งเศสอย่างแข็งขัน ผิดกับสมเด็จพระวรราชินี (แป้น) ซึ่งเป็นผู้นำของราชสำนักฝ่ายในของกัมพูชาที่ทรงอิทธิพล ทรงแสดงตัวว่าทรงเป็นแกนนำกลุ่มนิยมสยาม และคอยสนับสนุนกลุ่มกบฏ หนึ่งในนั้นคือพระองค์เจ้าดวงจักร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ที่ประสูติแต่พระแม่นางสุชาติบุปผา ซึ่งบาทบริจาริกานางนี้เป็นนางข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระวรราชินีมาก่อน[17]
หลังสมเด็จพระมไหยิกา ขัติยาวงษ์ศิริเสโฐวโรดม เสวยทิวงคต พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางที่ขึ้นตรงต่อสมเด็จพระมไหยิกาไปขึ้นต่อสมเด็จพระวรราชินี (แป้น) ทั้งหมด[18] ขุนนางที่ขึ้นต่อพระองค์สามคนปกครองสามจังหวัด ได้แก่จังหวัดเปร๊ยเวง อันลงราช และมุขกำปูล[19]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 71
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 227-228
- ↑ 3.0 3.1 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 177
- ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 330
- ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 186
- ↑ อภิญญา ตะวันออก (3 กันยายน 2562). "ฤๅเคยมี "เจ้าคุณพระ" ในราชสำนักเขมร?". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สุภัตรา ภูมิประภาส (17 พฤศจิกายน 2555). "เรื่องจริงไม่อิงนิยายของราชสำนักกัมพูชา (3): บัลลังก์นี้ไม่มีรัชทายาท". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (3 ตุลาคม 2565). "เปิดความเป็นมาของ "มงคลบุรี" เมืองใหม่สมัยรัชกาลที่ 3 สู่เส้นทางตกเป็นของฝรั่งเศส". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 261
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 307
- ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 294
- ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 267-268
- ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 312
- ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 332-333
- ↑ เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 68
- ↑ ศิลปะเขมร, หน้า 151
- ↑ ไกรฤกษ์ นานา (12 กรกฎาคม 2563). "สายลับเขมร ช่วงวิกฤติ ร.ศ.112 คือใคร? มีบทบาทอย่างไรท่ามกลางความแตกแยกในราชสำนักเขมร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 335
- ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 277
- บรรณานุกรม
- ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560. 360 หน้า. ISBN 978-616-514-575-6
- เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
- รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 232 หน้า. ISBN 978-974-02-1324-6
- ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 224 หน้า. ISBN 978-974-02-1147-1