สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 | |
---|---|
รามาโว สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ | |
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์ | |
ครองราชย์ | 3 สิงหาคม ค.ศ. 1828 – 16 สิงหาคม ค.ศ. 1861 |
รัชสมัย | 33 ปี 13 วัน |
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ |
รัชกาลถัดไป | พระเจ้าราดามาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ |
ประสูติ | ประมาณ ค.ศ. 1778 |
สวรรคต | 16 สิงหาคม ค.ศ. 1861 อันตานานารีโว,ประเทศมาดากัสการ์ (พระชนมพรรษาประมาณ 82-83 พรรษา) |
พระราชสวามี | พระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ ไรนิฮาโร ไรนิโจฮารี |
พระราชบุตร | พระเจ้ารามาดาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ |
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ | |
ราชวงศ์ | เมรีนา |
พระบรมราชชนก | เจ้าชายอันเดรียนทซารามันจากาแห่งมาเนเบ |
พระบรมราชชนนี | เจ้าหญิงราโบโดอันเดรียนแทมโป |
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ (อังกฤษ: Ranavalona I; ประมาณ ค.ศ. 1828 – 16 สิงหาคม ค.ศ. 1861) พระนามเดิมว่า รามาโว (Ramavo) หรือ รานาวาโล-มันจากาที่ 1 (Ranavalo-Manjaka I) เป็นพระประมุขของราชอาณาจักรมาดากัสการ์ ในช่วงปีค.ศ. 1828 ถึง ค.ศ. 1861 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถหลังจากการสวรรคตของพระสวามี คือ พระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์[1] สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 ทรงผลักดันนโยบายแยกตัวโดดเดี่ยวและนโยบายพึ่งพาตนเอง ลดทอนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับมหาอำนาจยุโรป ทรงขับไล่การโจมตีของมหาอำนาจฝรั่งเศสที่เมืองมาฮาเวโลนา บริเวณชายฝั่งของอาณาจักร และทรงดำเนินมาตรการเข้มงวดในการจัดการขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อศาสนาคริสต์มาลากาซีที่เติบโตขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าราดามาที่ 1 โดยสมาชิกของสมาคมมิชชันนารีลอนดอนเป็นผู้ดำเนินการหลัก พระนางทรงดำเนินการอย่างเข้มข้นตามจารีตประเพณีดั้งเดิมของระบบแรงงานเกณฑ์ (ระบบฟานอมโปอานา; fanompoana; เป็นการบังคับใช้แรงงานเพื่อแทนการจ่ายภาษี) เพื่อดำเนินการสร้างโครงการสาธารณูปโภคและพัฒนากำลังพลชาวเมรินาในกองทัพที่มีจำนวนระหว่าง 20,000 ถึง 30,000 นาย กองพลเหล่านี้สมเด็จพระราชินีนาถทรงส่งไปรักษาความสงบบริเวณรอบนอกของเกาะ และส่งไปขยายอาณาเขต รัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 เป็นรัชกาลที่มีศึกสงครามบ่อยครั้งที่สุด มีโรคระบาด มีการบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ และระบบยุติธรรมที่รุนแรงโหดร้าย อันเป็นผลให้อัตราการมรณะของประชากรมาดากัสการ์มีการเสียชีวิตสูงที่สุดทั้งทหารและพลเรือน ตลอดระยะเวลาในรัชกาลของพระนางที่ยาวนานถึง 33 ปี
ถึงแม้ว่านโยบายของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 จะสร้างอุปสรรคมากมายต่อมหาอำนาจยุโรปก็ตาม แต่ความสนใจทางการเมืองในมาดากัสการ์ของอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองในราชสำนักของสมเด็จพระราชินีนาถระหว่างฝ่ายจารีตดั้งเดิมกับฝ่ายฝักใฝ่ยุโรป กรณีนี้ได้สร้างโอกาสแก่คนกลางอย่างชาวยุโรปในความพยายามเร่งรัดให้พระโอรสของพระราชินีนาถรีบขึ้นสืบบัลลังก์แทนเป็น พระเจ้าราดามาที่ 2 เจ้าชายหนุ่มนั้นไม่ทรงเห็นด้วยกับพระราโชบายหลายเรื่องของพระราชชนนี และเจ้าชายทรงโอนอ่อนไปตามข้อเสนอของฝรั่งเศสที่จะขอประโยชน์จากการใช้สอยทรัพยากรบนเกาะ ตามข้อตกลงในกฏบัตรแลมแบร์ที่ดำเนินการโดยโฌแซ็ฟ-ฟรองซัวส์ แลมแบร์ ผู้แทนของฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1855 แต่แผนการรัฐประหารของฝรั่งเศสนั้นล้มเหลว และเจ้าชายราดามาก็ไม่ได้ครองราชบัลลังก์ จนกระทั่งค.ศ. 1861 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 83 พรรษา
ชาวยุโรปร่วมสมัยประณามนโยบายของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 และระบุว่าพระนางทรงเป็นจอมเผด็จการและบ้าคลั่งอย่างเลวร้าย ทัศนคติต่อพระนางในแง่ลบเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่ในวรรณกรรมต่างชาติจนกระทั่งถึงช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ในการวิจัยล่าสุดได้มองทัศนคติต่อพระนางในมุมใหม่ว่า การกระทำของพระนางรันฟาลูนาที่ 1 นั้น เป็นการกระทำไปในฐานะสมเด็จพระราชินีนาถที่พยายามขยายขอบเขตของราชอาณาจักร โดยทรงปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาวมาลากาซี ต่อต้านการรุกรานทางวัฒนธรรมและอิทธิพลทางการเมืองของมหาอำนาจยุโรป
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]เจ้าหญิงรามาโว ประวูติในปีค.ศ. 1778 ที่ตำหนักในอัมบาโตมาโนอินา[2] ระยะทาง 16 กิโลเมตร ทางตะวันออกของอันตานานารีโว[3] เป็นพระราชธิดาในเจ้าชายอันเดรียนทซารามันจากากับเจ้าหญิงราโบโดอันเดรียนแทมโป[4] เมื่อเจ้าหญิงรามาโวยังทรงพระเยาว์ พระบิดาของพระนางได้ทูลเตือนพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนา (ครองราชย์ค.ศ. 1787-1810) ถึงการวางแผนลอบปลงพระชนม์ของอดีตกษัตริย์อันเดรียนจาฟี ผู้เป็นพระปิตุลาของกษัตริย์ ซึ่งทรงถูกพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนาปลดจากราชบัลลังก์ที่เมืองอัมโบฮิมันกา ดังนั้นเพื่อตอบแทนที่ช่วยพระชนม์ชีพพระองค์ไว้ พระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนาจึงทรงจัดพิธีหมั้นและเสกสมรสเจ้าหญิงรามาโวให้กับพระโอรสของพระองค์คือ เจ้าชายราดามา ผู้ซึ่งกษัตริย์ทรงตั้งให้เป็นองค์รัชทายาท นอกจากนี้พระองค์ทรงประกาศว่าทายาทของคู่สมรสทั้งสองนี้จะได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจากเจ้าชายราดามา[5]
แม้ว่าจะทรงยกย่องเจ้าหญิงรามาโวขึ้นในฐานะพระชายาเอก แต่เจ้าหญิงก็ไม่ใช่พระชายาที่เจ้าชายราดามาทรงโปรดปราน และทั้งสองพระองค์ไม่ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกัน จนกระทั่งพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนาสวรรคตในปี ค.ศ. 1810 พระเจ้าราดามาที่ 1 จึงครองราชย์สืบต่อพระราชบิดา และตามประเพณีของราชวงศ์คือต้องมีการประหารชีวิตญาติวงศ์ต่างๆที่อาจกระด้างกระเดื่อง พระเจ้าราดามาที่ 1 ทรงมีพระราชโองการให้ประหารพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระราชินีรามาโว เหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลง[5] สมเด็จพระราชินีรามาโวไม่ทรงมีความสุขกับพระชนม์ชีพสมรสที่ไร้ซึ่งความรัก สมเด็จพระราชินีรามาโวผู้ถูกทอดทิ้งและเหล่าข้าราชบริพารหญิงจึงทรงใช้เวลาทั้งวันในการสนทนาและดื่มเหล้ารัมกับมิชชันนารี เดวิด กริฟฟิทส์และเหล่าคณะมิชชันนารีที่บ้านพักของกริฟฟิทส์ การเสด็จเยือนพบปะกับกริฟฟิทส์หลายครั้งนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ฉันท์มิตรสืบต่อไปอีกถึงสามสิบปี[6]
สืบราชบัลลังก์
[แก้]เมื่อพระเจ้าราดามาที่ 1 เสด็จสวรรคตโดยที่ไม่มีทายาท จากสาแหรกราชวงศ์เมรีนาทรงมีพระโอรส 1 พระองค์และพระธิดา 1 พระองค์ที่ประสูติแต่พระมเหสีรองคือ สมเด็จพระราชินีราซาลิโม (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1866) ได้แก่ เจ้าชายอิตซีมานเดรียมโบโวกา (1823-1824) และเจ้าหญิงราเคตากา ราซานาคินิมันจากา (1824-1828) เจ้าชายวัย 1 พรรษานั้นถูกลอบปลงพระชนม์โดย สมเด็จพระพันปีหลวงรามโบลามาโซอันโดร พระอัยยิกาของพระองค์ในปี ค.ศ. 1824 ซึ่งพระนางไม่ต้องการให้เชื้อสายชนเผ่าซากาลาวาทางฝั่งพระราชินีราซาลิโม ขึ้นครองราชย์ และสร้างอิทธิพลต่อต้านพระนาง ส่วนเจ้าหญิงราเคตากา ราซานาคินิมันจากา วัย 4 พรรษา ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาท คาดว่าทรงถูกลอบปลงพระชนม์หลังจากพระราชบิดาสวรรคตเช่นกัน[7] ดังนั้นพระเจ้าราดามาที่ 1 จึงสวรรคตโดยไร้ทายาทในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1828 ตามกฎมณเฑียรบาล รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์คือ เจ้าชายราโกโตเบ (1808-1828) พระโอรสองค์โตในเจ้าหญิงราโบโดซาฮอนดา (1790 - 1828) พระเชษฐภคินีในพระเจ้าราดามาที่ 1 ซึ่งสิทธิของเจ้าชายได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระพันปีหลวง ผู้เป็นพระราชอัยยิกา[8] เจ้าชายราโกโตเบทรงเป็นผู้เฉลียวฉลาดและมีอัธยาศัยดี และเป็นนักเรียนคนแรกในโรงเรียนแห่งแรกของมาดากัสการ์ที่ก่อตั้งโดยสมาคมมิชชันนารีลอนดอนในกรุงอันตานานารีโว ที่ตั้งขึ้นในเขตพระราชวัง พระเจ้าราดามาที่ 1 เสด็จสวรรคตโดยทรงฝากฝังข้าราชสำนักสองคนที่ทรงไว้วางพระทัยให้สนับสนุนการครองราชย์ของเจ้าชายราโกโตเบ แต่ข้าราชบริพารสองคนนั้นลังเลที่จะประกาศข่าวการสวรรคตของกษัตริย์เป็นเวลานานหลายวัน เนื่องจากพวกเขากลัวการตอบโต้จากศัตรูของกษัตริย์ ที่มีสิทธิสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าราดามาที่ 1[5][9] ในช่วงนี้ ข้าราชบริพารคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูง ที่ชื่อว่า อันเดรียมัมบา ได้ทราบความจริง และร่วมวางแผนกับข้าราชการที่ทรงอำนาจคนอื่นๆ ได้แก่ อันเดรียมิฮาจา, ไรนิโจฮารี และราวาโลท์ซาลามา ในการวางแผนสนับสนุนให้สมเด็จพระราชินีรามาโวขึ้นครองบัลลังก์[10] เพื่อชิงอำนาจก่อนกลุ่มของเจ้าชายราโกโตเบและสมเด็จพระพันปีหลวงรามโบลามาโซอันโดร ซึ่งสมเด็จพระราชินีรามาโวในขณะนั้นไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจมากมาย
เหล่าข้าราชการกลุ่มนี้ได้รีบนำพาสมเด็จพระราชินีรามาโวและพระสหายไปหลบซ่อนยังสถานที่ที่ปลอดภัย จากนั้นข้าราชการกลุ่มนี้ได้รีบเร่งหากำลังสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจผู้ทรงอิทธิพลต่างๆ รวมถึงกลุ่มคณะตุลาการและผู้รักษาซัมปี (Sampy; เครื่องรางประจำราชวงศ์) โดยรีบดำเนินการก่อนกลุ่มของเจ้าชายราโกโตเบและสมเด็จพระพันปีหลวงรามโบลามาโซอันโดร เหล่าข้าราชการได้รวบรวมกำลังพลเพื่อสมเด็จพระราชินีรามาโว[5][9] ดังนั้นในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1828 พระนางทรงประกาศพระองค์เองในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระเจ้าราดามาที่ 1 และทรงอ้างว่าเป็นไปตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าราดามา ซึ่งไม่ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน สมเด็จพระราชินีรามาโวทรงเลือกใช้พระนามว่า "รันฟาลูนา" (Ranavalona; แปลว่า "ปกคลุม" หรือ "เก็บไว้") จากนั้นทรงปฏิบัติตามพระราชประเพณีโบราณอย่างทันทีโดยทรงมีพระรับสั่งให้จับกุมศัตรูทางการเมืองทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ของพระเจ้าราดามาที่ 1 และทรงสั่งประหารชีวิตในทันที ผู้สิ้นพระชนม์ได้แก่ เจ้าชายราโกโตเบ, สมเด็จพระพันปีหลวงรามโบลามาโซอันโดร อดีตพระสัสสุของพระนาง, เจ้าหญิงราโบโดซาฮอนดา พระเชษฐภคินีในกษัตริย์องค์ก่อน ซึ่งเป็นพระชนนีในเจ้าชายราโกโตเบ รวมถึงทรงสั่งประหารพระอนุชา พระเชษฐภคินีและพระขนิษฐาของพระเจ้าราดามาที่ 1 เกือบทุกพระองค์ที่ทรงเห็นว่าเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ทรงทำเช่นนี้กับพระราชตระกูลสายอดีตพระสวามีเพราะทรงต้องการแก้แค้นกับสิ่งที่พระเจ้าราดาที่ 1 ทรงเคยสั่งฆ่าล้างพระราชตระกูลสายของพระนาง[5] รัฐประหารวังหลวงมาดากัสการ์ ค.ศ. 1828 นี้สิ้นสุดลงเมื่อ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1829[11]
จากการสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระสวามี ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงเป็นพระประมุขสตรีพระองค์แรกแห่งราชอาณาจักรเมรีนา นับตั้งแต่ก่อตั้งในปีค.ศ. 1540 การก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาจของพระนางเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพสังคมที่ชื่นชอบผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในทางการเมือง ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของอิเมรีนา ผู้ปกครองจะได้รับการยกย่องอย่างเป็นพิเศษด้วยอำนาจที่จะต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยหลีกเลี่ยงจากกรอบบรรทัดฐานและธรรมเนียมที่ถูกกำหนดไว้ เหล่าผู้ปกครองมักจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของอำนาจผ่านการสร้างรูปแบบการเกี่ยวดองทางเครือญาติแบบใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของระเบียบทางการเมือง อย่างไรก็ตามผู้หญิงมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและจะเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการใช้บทบาทและอำนาจในฐานะประมุข และผู้หญิงถูกมองว่าไม่เหมาะสมที่จะขึ้นมาปกครองประเทศ[12] แม้ว่าการมีประมุขสตรีครั้งหนึ่งจะเคยเป็นเรื่องปกติในหมู่พวกวาซิมบา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกอธิบายไว้ว่าเป็นผู้อาศัยดั้งเดิมในเกาะมาดากัสการ์ ประเพณีผู้ปกครองสตรีสิ้นสุดลงในที่ราบสูงภาคกลางในรัชกาลของพระเจ้าอันเดรียมาเนโล (1540-1575) กษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรเมรีนา พระองค์ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชชนนีซึ่งเป็นชาววาซิมบาคือ สมเด็จพระราชินีนาถราฟอไฮแห่งอาราโซรา (1530-1540)[13] หลังจากนั้นก็ไม่มีประมุขสตรีอีก จนล่วงมาถึงสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1
รัชกาล
[แก้]ระยะเวลารัชกาล 33 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนา ได้ถูกระบุว่าเป็นรัชกาลทรงพยายามเสริมสร้างพระราชอำนาจในประเทศของราชอาณาจักรเมรีนา ด้วยการกำราบแคว้นต่างๆ และปกป้องอำนาจอธิปไตยทางการเมืองและวัฒนธรรมของมาดากัสการ์ นโยบายเหล่านี้ถูกกำหนดจากบริบทการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลมหาอำนาจยุโรปภายในราชอาณาจักร และเกิดการแข่งขันด้านอิทธิพลกันระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษเหนือเกาะแห่งนี้ ช่วงต้นรัชกาล สมเด็จพระราชินีนาถทรงดำเนินการตามลำดับขั้นเพื่อให้มาดากัสการ์ถอยหากจากมุมมองของยุโรป ประการแรก ทรงยุติสนธิสัญญามิตรภาพกับอังกฤษ จากนั้นทรงวางข้อจำกัดแก่การเผยแพร่ศาสนาของสมาคมมิชชันนารีลอนดอนให้มากขึ้น ซึ่งสมาคมนี้ดำเนินการสอนด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาด้านการค้า นอกจากนั้นยังสอนเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ในปีค.ศ. 1835 สมเด็จพระราชินีนาถประกาศห้ามให้มีการประกอบพิธีกรรมตามหลักคริสต์ศาสนาในหมู่ชาวมาลากาซี และภายในหนึ่งปี ชาวต่างชาติทั้งหมดได้เดินทางออกจากราชอาณาจักรของพระนางเสียสิ้น[14]
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงดำเนินนโยบายพึ่งพาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยกเลิกสนธิสัญญาทางการค้ากับต่างประเทศเกือบทั้งหมด ทรงยึดมั่นในนโยบายตามแบบโบราณที่เรียกว่า ระบบฟานอมโปอานา (fanompoana) หรือ ระบบแรงงานเกณฑ์ เป็นการบังคับใช้แรงงานเพื่อแทนการจ่ายภาษีในรูปแบบเงินหรือสินค้า สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงดำเนินนโยบายสงครามขยายอาณาเขต ต่อจากรัชกาลก่อน คือ พระเจ้าราดามาที่ 1 ซึ่งทรงพยายามขยายอำนาจครอบคลุมทั้งเกาะ และทรงลงโทษอย่างหนักต่อผู้ที่ทรงมองว่ากระทำการต่อต้านพระราชประสงค์ของพระนาง ยุทธการทางการทหารของพระนางนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตประชาชนตลอดระยะเวลาหลายปี รวมถึงมีอัตราการตายในหมู่แรงงานฟานอมโปอานาสูงมาก และการเสียชีวิตจากระบบยุติธรรมตามจารีตประเพณีของพระนางที่รุนแรง ทำให้จำนวนประชากรของมาดากัสการ์ลดลงจากจำนวนประมาณ 5 ล้านคน เหลือประมาณ 2.5 ล้านคน ในช่วงปีค.ศ. 1833 และ 1839 และในราชอาณาจักรเมรีนาเอง ประชากรลดลงจาก 750,000 คน เหลือ 130,000 คน ในรอบปีค.ศ. 1829 ถึงค.ศ. 1842[15] ด้วยสถิติเหล่านี้ทำให้บันทึกประวัติศาสตร์จำนวนมากค่อนข้างจะบันทึกไปในเชิงต่อต้านรัชกาลสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาเป็นส่วนใหญ่[16]
รัฐบาล
[แก้]ตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อมาจากพระมหากษัตริย์เมรีนาในรัชกาลก่อนๆ[17] สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงปกครองประเทศจากศูนย์กลางที่พระราชวังรูวาแห่งอันตานานารีโว ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1839 ถึง 1842 ฌ็อง ลาบอร์ดเป็นผู้ดำเนินการสร้างพระตำหนักใหม่ของสมเด็จพระราชินีนาถที่มีชื่อว่า มันจากามิอาดานา (Manjakamiadana) ซึ่งเป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกสร้างในเขตรูวา พระตำหนักสร้างขึ้นจากไม้เกือบทั้งหมดและสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชาวเมรีนา ชนชั้นอันเดรียนา (Andriana; ชนชั้นสูง) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีการใช้เสาหลัก (Andry; อันดรี) เพื่อรองรับหลังคา นอกเหนือจากนี้มีการเปิดเผยนวัตกรรมแบบยุโรปเข้ามาด้วย ก็คือเป็นการสร้างอาคารสามชั้นล้อมรอบด้วยระเบียงไม้ และมีการสร้างหน้าต่างไว้รวมกับมุงหลังคา ต่อมาพระราชวังถูกติดคลุมภายนอกด้วยหินในปีค.ศ. 1867 โดยเจมส์ คาเมรอนจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอนในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 พระราชวังเดิมที่สร้างจากไม้ของสมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 1 รวมถึงอาคารเกือบทั้งหมดของเขตวังรูวาได้ถูกเพลิงไหม้ทำลายใปในปีค.ศ. 1995 คงเหลือแต่เปลือกนอกอาคารที่เป็นหินที่ยังคงตั้งโดดเด่นอยู่จนปัจจุบัน[18]
หลายคนให้การยอมรับว่า การปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนานั้นเป็นการสานต่อแนวนโยบายของพระเจ้าราดามาที่ 1 พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆและองค์ความรู้จากต่างชาติ เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายการทำให้เศรษฐกิจเป็นแบบอุตสาหกรรม และรับมาตรฐานการสร้างกองทัพให้มีลักษณะเป็นทหารอาชีพ แต่ทั้งสองพระองค์มีความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกันในเรื่องชาวต่างชาติ มีการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวและมีการใช้ความคิดความรู้ความชำนาญของพวกเขาให้เป็นประโยชน์ ในขณะที่มีตั้งข้อจำกัดต่างๆแก่ชาวต่างชาติเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและวัฒนธรรมที่อาจเกิดขึ้นอันส่งผลกระทบต่อความมั่นคง นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องในการริเริ่มพัฒนาระบบราชการให้มีความซับซ้อน ซึ่งทำให้ราชสำนักเมรีนาสามารถควบคุมแคว้นต่างๆที่อยู่ห่างไกลรอบเกาะได้ที่มีอาณาเขตใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่[12]
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 ทรงสามารถรักษาประเพณีการปกครองได้ด้วยการสนับสนุนจากเหล่าคณะที่ปรึกษาที่ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนชนชั้นขุนนาง เสนาบดี หรือ รัฐมนตรีที่มีอำนาจมากที่สุดคือ คู่อภิเษกสมรสของพระนางเอง ประธานคณะที่ปรึกษาคนแรกของพระนางคือนายทหารหนุ่มจากนาเมฮานา ที่ชื่อว่า อันเดรียมิฮาจา ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งเป็น อัครมหาเสนาบดี ตั้งแต่ปีค.ศ. 1829 ถึง 1830 พลตรีอันเดรียมิฮาจาถูกเชื่อว่าเป็นบิดาที่แท้จริงของพระราชโอรสองค์เดียวในพระราชินี คือ เจ้าชายราโกโต (ต่อมาคือ พระเจ้าราดามาที่ 2)[19] ซึ่งประสูติขึ้นหลังจากพระบิดาตามกฎหมายคือ พระเจ้าราดามาที่ 1 สวรรคตไปแล้ว 11 เดือน[20] ในช่วงต้นรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 อันเดรียมิฮาจาเป็นผู้นำฝ่ายหัวก้าวหน้าในราชสำนัก ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องการให้คงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในยุโรปตั้งแต่สมัยพระเจ้าราดามาที่ 1 ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำโดยสองพี่น้อง คือ ไรนิมาฮาโร และไรนิฮาโร ไรนิฮาโร ผู้น้องคนนี้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้รักษาซัมปี (Sampy; เครื่องรางประจำราชวงศ์) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลสูงมาก เครื่องรางประจำราชวงศ์อันนี้ถูกเชื่อว่าเป็นสิ่งรวบรวมและเป็นทางผ่านของพลังอำนาจเหนือธรรมชาติทั้งหลายของแต่ละรัชกาล และเครื่องรางนี้มีบทบาทหลักต่อจิตวิญญาณของประชาชนชาวเมรีนาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าราลามโบในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามลดทอนอำนาจของแนวคิดหัวก้าวหน้าของอันเดรีนมิฮาจาที่มีอิทธิพลเหนือสมเด็จพระราชินีนาถ และในเดือนกันยายน ค.ศ. 1830 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามโน้มน้าวจนสมเด็จพระราชินีนาถหลงเชื่อในข้อกล่าวหาต่ออันเดรียมิฮาจา พระนางลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งประหารชีวิตอันเดรียมิฮาจาในข้อหากระทำการใช้เวทมนตร์คาถาและข้อหากบฏ เขาถูกจับกุมตัวที่พำนักในทันทีและถูกสังหาร[21][22]
หลังมรณกรรมของอันเดรียมิฮาจา อิทธิพลของกลุ่มการเมืองเก่าหัวก้าวหน้าที่มีอำนาจในรัชสมัยของพระเจ้าราดามาที่ 1 ได้ถูกลดทอนความสำคัญลง แทนที่ด้วยคณะที่ปรึกษาฝ่ายอนุรักษ์นิยมในราชสำนัก ซึ่งใกล้ชิดสมเด็จพระราชินีนาถมากขึ้น ในที่สุดมีการจัดพิธีอภิเษกสมรสทางการเมืองระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนากับไรนิฮาโร เจ้าพนักงานผู้รักษาซัมปี และได้ขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยม จอมพลไรนิฮาโรแห่งเนินเขาอิลาฟี (Ilafy) (เขามักถูกเรียกชื่อว่า ราโวนินาฮิทรีนิอาริโว) ในปีค.ศ. 1833 ไรนิฮาโรเดิมได้เข้าสู่ราชสำนักเพราะความดีความชอบของบิดาของเขา บิดาของเขาคือ อันเดรียนท์ซิลาโวนานเดรียนา เป็นคนชนชั้นโฮวา (Hova; สามัญชน) ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษเหนือประชาชนคนธรรมดาในการเข้าร่วมกับคณะขุนนางที่ปรึกษาของพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนา กษัตริย์ในสองรัชกาลก่อน[19] จอมพลไรนิฮาโรได้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในสมเด็จพระราชินีนาถในปีค.ศ. 1830 ถึง 1832 และต่อมาได้เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้บัญชาการทหาร ในปีค.ศ. 1832 ถึง 1852 ต่อมาเมื่อไรนิฮาโรถึงแก่อสัญกรรม สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงอภิเษกสมรสใหม่กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกคนหนึ่ง คือ จอมพลอันเดรียนิซา (มักถูกเรียกชื่อว่า ไรนิโจฮารี) ซึ่งเป็นพระสวามีของพระราชินีเรื่อยมาจนกระทั่งพระนางสวรรคตในปีค.ศ. 1861 และเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในปีค.ศ. 1852 ถึง 1862 ก่อนที่จะถูกเนรเทศไปยังอัมโบฮิมันกา เมืองหลวงเก่า จากข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนต่อต้านพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ คือ พระเจ้าราดามาที่ 2[10]
ตามธรรมเนียม ประมุขเมรีนาจะพึ่งพาระบบถ้อยคำแถลงคาบารี (Kabary; คำสุนทรพจน์) ในการเสด็จออกมหาสมาคมเป็นนโยบายในการเข้าถึงประชาชนและยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างประมุขและประชาชน เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 ทรงขาดประสบการณ์ในการมีพระราชดำรัสในที่สาธารณะและขาดประสบการณ์ทางการเมือง พระนางทรงโปรดที่จะสั่งการและแจ้งข้าราชบริพารผ่านทางการเขียนหนังสือและจดหมาย ซึ่งทรงได้รับการสอนวิธีการเขียนจากคณะมิชชันนารี พระนางทรงพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนด้วยการออกมหาสมาคมคาบารีในแต่ละโอกาส และทรงพยายามปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมของประมุขเมรีนาในฐานะผู้ประทานฮาซินา (Hasina; พรจากบรรพบุรุษ) โดยการเป็นผู้ประกอบพระราชประเพณีแบบดั้งเดิม รวมถึงพิธีฟานโดรอานา (Fandroana; พิธีกรรมต่อายุปีใหม่) ที่มีการประกอบยัญกรรมบูชาภาพแทนพระราชวงศ์ และถวายเครื่องกำนัลโวดิออนดรี (vodiondry) และอาหารประเภทเนื้อที่เรียกว่า จากาในงานประเพณีต่างๆ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงริเริ่มพิธีกรรมแบบดั้งเดิมเหล่านี้โดยทรงเพิ่มขั้นตอนให้ซับซ้อนมากขึ้นและเพิ่มนัยสัญลักษณ์เพื่อให้มีความสำคัญและสร้างความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น[12]
การฟื้นฟูและการปราบปราม
[แก้]ในพระราชพิธีครองราชสมบัตินั้น พระราชินีรันฟาลูนาทรงให้สัตย์สาบานว่าจะสนับสนุนพิธีกรรมดั้งเดิมและความเชื่อเก่าแก่ และป้องกันขอบเขตราชอาณาจักรของพระนาง ในรัชสมัยของพระเจ้ารามาดาทรงเริ่มการทันสมัยและผูกสัมพันธ์กับชาวตะวันตก แต่ในรัชสมัยพระราชินีรันฟาลูนาทรงริเริ่มกลุ่มนายหน้าเก่าเช่น บาทหลวง,ผู้พิพากษา,พ่อค้าทาส ได้การควบคุมกลับมาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเมรีนา ในวันที่พระนางประกอบราชิภิเษกนั้น พระนางทรงสั่งประหารชีวิตพระญาติใกล้ชิดกับพระนางทันที่ถึง 7 คนเป็นการเอาฤกษ์ ตามรายงานของคณะมิชชันนารีอังกฤษได้ระบุว่าพระนางทรงสั่งให้ประหารพระญาติฝ่ายพระสวามีทั้งหมด รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ที่มีสิทธิในการครองราชย์ เนื่องจากพระเจ้ารามาดาทรงผูกสัมพันธ์กับอังกฤษ และพระนางทำให้การค้าทาสเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย พระนางทรงมีวิธีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาคือ ให้ผู้ถูกกล่าวหาดื่มยาพิษเข้าไปแล้วรอดชีวิต จะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และจะได้รับเงินทำขวัญ ความหวาดกลัวชาวต่างชาติและการเตือนเกี่ยวกับอาณานิคมยุโรป พระนางทรงสั่งประหารชีวิตชาวต่างชาติทุกคนโดยเฉพาะชาวอังกฤษที่พระนางเกลียดชังอย่างมาก ทรงประหารชีวิตชาวพื้นเมืองที่ถือสัญชาติอังกฤษหรือเป็นลูกผสมระหว่างชนพื้นเมืองกับชาวอังกฤษโดยทันที แม้แต่คณะมิชชันนารีก็ไม่ละเว้นถูกขับไล่ออกไปจากมาดากัสการ์ พระนางทรงออกกฎหมายลงโทษขั้นประหารชีวิตผู้ที่บังอาจเผยแพร่ศาสนาคริสต์
การไล่ล่าชาวคริสเตียน
[แก้]พระราชินีรันฟาลูนาทรงเป็นผู้ประหัตประหารชาวครีสเตียนที่บริสุทธิ์หลังจากการขับไล่คณะมิชชันนารีออกจากเกาะแต่พระนางทรงล้มเหลวในการกวาดล้างศาสนาคริสต์ในประเทศให้หมดสิ้น ประชาชนทุกคนที่ครอบครองคัมภีร์ไบเบิลและประกาศเป็นคริสต์ศาสนิกชนจะถูกประหารทั้งหมด บ้างถูกจับตรึงเหมือนไก่และโยนจากยอดเนินเขาหลายๆครั้งจนกว่าจะตาย คนอื่นๆถูกราดด้วยเลือดและให้ฝูงสุนัขป่ารุมกินทั้งเป็น บ้างถูกอาวุญที่เป็นโลหะแบนๆเสียบทะลุเข้าไปในกระดูกสันหลังหลายๆแผ่นจนกว่าจะตาย บางคนอาจถูกตีตายก่อนที่จะตัดหัวเสียบประจาน บางถูกจับลงเป็นในน้ำที่ต้มเดือด บางคนถูกจับนอนแล้วให้หินกลิ้งลงมาทับ หนึ่งในวิธีประหารที่พระนางรันฟาลูนาทรงโปรดปรานที่สุดคือ การให้ดื่มยาพิษ หรือไม่ก็ขายให้เป็นทาส
สาเหตุที่ทรงเกลียดชังศาสนาคริสต์คือ พระนางทรงไม่ชอบพฤติกรรมของชาวคริสต์ พวกเขาสวดเป็นประจำแต่ปฏิเสธที่จะเคารพพระเจ้าของพระนาง พวกเขาหลีกเลี่ยงการบูชาเทวรูป พวกเขารวมตัวกันสักการะอย่างซ้ำซาก พระนางทรงกริ้วมากเมื่อชาวคริสต์โกรธแค้นที่พระนางประหารชาวคริสต์ถึง 1,600 คน ได้พยายามยึดบัลลังก์ พระนางทรงแก้แค้นด้วยการแขวนผู้นำคริสเตียน 15 คนด้วยเชือกยาว 150 ฟุตเหนือช่องหินในหุบเขาข้างพระราชวัง โดยทรงถามว่าจะนับถือศาสนาคริสต์หรือพระเจ้าของราชินี เหล่าผู้นำตอบปฏิเสธ เชือกจึงถูกตัด บางคนสวดกลอนศาสนาก่อนที่ร่างจะลงไปกระแทกกับก้อนหินที่อยู่เบื้องล่าง ปัจจุบันที่นั่นคือศาลเจ้าอิมพรอมตู
ลาบอร์ด
[แก้]ฝรั่งเศสซึ่งได้รับบางเกาะของมาดากัสการ์ ได้สนใจที่จะครอบครองมาดากัสการ์ การเคลื่อนไหวนั้นเกืดการต่อต้านจากอังกฤษซึ่งสนใจเส้นทางหลักในการเดินทางไปอินเดีย ด้วยการล้มเลิกสนธิสัญญาอังกฤษ-เมรีนา อย่างไรก็ตามพระนางรันฟาลูนาคิดว่าอาจทรงถูกทำลายได้ง่ายโดยอังกฤษในเวลาไม่นาน พระนางทรงขับไล่การโจมตีของฝรั่งเศสที่ฟัวพอยน์ในปีพ.ศ. 2372 แต่พระนางทรงอยู่ในจุดยืนที่อันตราย เคราะห์ดีของพระนางที่ทรงได้รับการช่วยเหลือเมื่อฌอง ลาบอร์ดซึ่งเรืออัปปางที่มาดากัสการ์ในปีพ.ศ. 2375
ลาบอร์ดได้ให้คำแนะนำแก่พระนางและได้นายหน้าผลิตปืนใหญ่,ปืนคาบศิลาและดินปืน เขาได้กำลังแรงงานคนและวัตถุดิบสำหรับสร้างอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัย สร้างอิสรภาพแก่ราชอาณาจักรจากอาวุธอาณานิคม
แผนการลับ
[แก้]พระโอรสของพระนางเจ้าชายราโกโต ประสูติในปีพ.ศ. 2372 และพระบิดาตามกำหมายของพระองค์คือ พระเจ้าราดามาที่ 1 ผู้ซึ่งสวรรคตมานานกว่า 9 เดือนก่อนที่พระองค์ประสูติ อย่างไรก็ตามธรรมเนียมโบราณกำหนดให้เป็นพระโอรสของพระเจ้าราดามา ลาบอร์ดสนิทกับพระองค์มากและให้การศึกษาแก่พระองค์ การเพิ่มขึ้นของความเกลียดชังตลอดรัชกาลของพระราชินีระหว่างมาดากัสการ์กับยุโรป โจเซฟ-ฟรังซัว แลมเบิร์ตได้หาทางช่วยชาวฝรั่งเศสในประเทศ เขาได้เดินทางมาในราชสำนักของพระนางในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2400 และได้วางแผนการลับกับลาบอร์ดและผู้นำท้องถิ่นเพื่อโค่นราชบัลลังก์ของพระนางและอัญเชิญเจ้าชายราโกโตครองราชย์ต่อ นักท่องเที่ยวรอบโลก อีดา ไฟเฟอร์ได้เข้าร่วมแผนการอย่างไม่เจตนา แต่แผนการนี้รั่วไหล พระนางสั่งประหารผู้นำท้องถิ่นทั้งหมดและสั่งห้ามชาวยุโรปเข้ามา พระราชินีรันฟาลูนาทรงไม่สังหารชาวยุโรปเนื่องจากทรงกลัวการแก้แค้น เกิดโรคระบาดในมาดากัสการ์ชาวยุโรปหลายคนล้มตาย อีดา ไฟเฟอร์ไม่ได้รับการรักษาและเสียชีวิตด้วยไข้มาลาเรีย
เสด็จสวรรคต
[แก้]ระหว่างปีสุดท้ายของการครองราชย์ของพระนาง ทรงกังวลต่อการขยายของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งไม่ยอมรับการค้าทาส พระนางยังคงรักษาความโหดเหี้ยมของพระนางและต้องการรักษาระบบค้าทาสไว้ สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 1 เสด็จสวรรคตอย่างสงบในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2404 หลังจากทรงปกครองประเทศยาวนานถึง 33 ปี ท่ามกลางความโล่งอกของพสกนิกร อังกฤษและฝรั่งเศสทำสัญญาร่วมกัน ฝรั่งเศสเข้าครอบครองเกาะนี้กลายเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศสและการค้าทาสได้ถูกล้มเลิกอย่างสมบูรณ์ ด้วยการเปิดคลองสุเอซในปีพ.ศ. 2412 อังกฤษสนใจที่จะขับไล่ฝรั่งเศสที่กำลังทรุดตัวออกจากมาดากัสการ์
พระโอรสของพระนาง เจ้าชายราโกโตได้ครองราชย์ต่อเป็น พระเจ้าราดามาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Genealogy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-03. สืบค้นเมื่อ 2018-02-11.
- ↑ Campbell (2012), p. 713
- ↑ Campbell (2012), p. 1078
- ↑ Académie malgache (1958), p. 375
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Freeman and Johns (1840), pp. 7–17
- ↑ Campbell (2012), p. 51
- ↑ Royal Ark
- ↑ Royal Ark
- ↑ 9.0 9.1 Oliver (1886), pp. 42–45
- ↑ 10.0 10.1 Rasoamiaramanana, Micheline (1989–1990). "Rainijohary, un homme politique meconnu (1793–1881)". Omaly sy Anio (ภาษาฝรั่งเศส). 29–32: 287–305.
- ↑ Ellis (1838), pp. 421–422
- ↑ 12.0 12.1 12.2 Berg, Gerald (1995). "Writing Ideology: Ranavalona, the Ancestral Bureaucrat". History in Africa. 22: 73–92. doi:10.2307/3171909. JSTOR 3171909.
- ↑ Bloch (1986), p. 106
- ↑ Campbell (2012), pp. 185–186
- ↑ Campbell, Gwyn (October 1991). "The state and pre-colonial demographic history: the case of nineteenth century Madagascar". Journal of African History. 23 (3): 415–445.
- ↑ Laidler (2005)
- ↑ L'habitation à Madagascar (1898), pp. 920–923
- ↑ Frémigacci (1999), p. 427
- ↑ 19.0 19.1 Ade Ajayi (1989), p. 423
- ↑ Oliver (1886), pp. 45–47
- ↑ Freeman and Johns (1840), pp. 17–22
- ↑ Prout (1863), p. 14
อ้างอิง
[แก้]- Académie malgache. Collection de documents concernant Madagascar et les pays voisins, Volume 4, Part 4 (ภาษาฝรั่งเศส). Antananarivo: Imprimerie Moderne de l'Emyrne.
- Ade Ajayi, Jacob Festus (1989). Africa in the Nineteenth Century until the 1880s. Paris: UNESCO. ISBN 978-0-520-03917-9.
- Andrew, David; Blond, Becca; Parkinson, Tom; Anderson, Aaron (2008). Lonely Planet Madagascar & Comoros. London: Lonely Planet. ISBN 978-1-74104-608-3.
- Bloch, Maurice (1986). From blessing to violence: history and ideology in the circumcision ritual of the Merina of Madagascar. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-31404-6.
- Campbell, Gwyn (2012). David Griffiths and the Missionary "History of Madagascar". Leiden, The Netherlands: Brill. ISBN 978-90-04-20980-0.
- Cole, Jennifer (2001). Forget Colonialism?: Sacrifice and the Art of Memory in Madagascar. Berkeley, CA: University of California Press. ISBN 978-0-520-92682-0.
- Ellis, William (1838). Volume 2 of History of Madagascar: Comprising Also the Progress of the Christian Mission Established in 1818. London: Fisher, Son & Co.
- Ellis, William (1870). The Martyr Church. London: J. Snow.
- Freeman, Joseph John; Johns, David (1840). A narrative of the persecution of the Christians in Madagascar: with details of the escape of six Christian refugees now in England. Berlin: J. Snow. สืบค้นเมื่อ February 5, 2011.
- Frémigacci, Jean (1999). "Le Rova de Tananarive: Destruction d'un lieu saint ou constitution d'une référence identitaire?". ใน Chrétien, Jean-Pierre (บ.ก.). Histoire d'Afrique (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Editions Karthala. pp. 421–444. ISBN 978-2-86537-904-0.
- Koschorko, Klaus; Ludwig, Frieder; Delgado, Mariano (2007). A history of Christianity in Asia, Africa and Latin America, 1450–1990. Cambridge, U.K.: Wm. B. Eerdmans Publishing Co. ISBN 978-0-8028-2889-7.
- Laidler, Keith (2005). Female Caligula: Ranavalona, the Mad Queen of Madagascar. London: John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-02226-9.
- "L'habitation à Madagascar". Colonie de Madagascar: Notes, reconnaissances et explorations (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 4. Imprimerie Officielle de Tananarive. 1898.
- MacDonald Fraser, George (1977). Flashman's Lady. London: Collins. ISBN 978-0-00-744949-1.
- Oliver, Samuel (1886). Madagascar: An Historical and Descriptive Account of the Island and its Former Dependencies. Vol. 1. New York: Macmillan and Co.
- Pfeiffer, Ida (1861). The last travels of Ida Pfeiffer: inclusive of a visit to Madagascar. London: Harper.
- Prout, Ebenezer (1863). Madagascar: Its Mission and Its Martyrs. London: London Missionary Society.
- Raison-Jourde, Françoise (1991). Bible et pouvoir à Madagascar au XIXe siècle. Antananarivo: Karthala Editions. ISBN 978-2-86537-317-8.
- Ralibera, Daniel; De Taffin, Gabriel (1993). Madagascar et le christianisme (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Karthala Editions. ISBN 978-92-9028-211-2.
- Sharp, Leslie (2002). The Sacrificed Generation: Youth, History, and the Colonized Mind in Madagascar. Berkeley, CA: University of California Press. ISBN 0-520-22951-7.
- Meanings in Madagascar by Oyvind and Yvind Dahl[ลิงก์เสีย]
- Madagascar Rediscovered by Mervin Brown.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ | สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์ (ราชวงศ์เมรีนา) (3 สิงหาคม พ.ศ. 2371 – 16 สิงหาคม พ.ศ. 2404) |
พระเจ้าราดามาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ |