ข้ามไปเนื้อหา

มด (บุคคล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลักษณะการแต่งกายของแม่มด ในแฟนตาซีตะวันตก

แม่มด หมายถึง หมอเวทมนตร์หรือหมอผี ถ้าเป็นชายเรียก พ่อมด ถ้าเป็นหญิงเรียก แม่มด หรือหญิงแก่เรียก ยายมด คำว่า "มด" นี้ ยังใช้เป็นคำประกอบกับคำ "หมอ" เป็น "มดหมอ" หมายความว่า หมอทั่ว ๆ ไป อีกด้วย[1]

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

คำว่า "มด" นั้น เท่าที่ปรากฏเก่าแก่ที่สุด มีในวรรณกรรมลิลิตพระลออันสันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวในระหว่าง พ.ศ. 1991−2026[2] โดยในตอนที่พระเพื่อนและพระแพงได้สดับคำร่ำลือเกี่ยวกับรูปโฉมของพระลอก็เกิดหลงรัก นางรื่นและนางโรยพระพี่เลี้ยงจึงอาสาไปติดต่อหายายมดมาทำเสน่ห์ให้พระลอหลงรักเจ้านายของตนบ้าง ซึ่งยายมดได้ปฏิเสธ อ้างว่าตนเคยทำใส่แต่สามัญชน ไม่เคยและไม่อาจหาญไปทำเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ได้แนะนำให้ไปหาปู่เจ้าสมิงพรายซึ่งเป็นผู้มีวิชาอาคมแกร่งกล้ากว่าตน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากลิลิตพระลอว่า สมัยนั้นคำว่า "หมอ" ยังใช้ในความหมายเดียวกับ "มด" คือ ผู้มีเวทมนตร์คาถาด้วย ซึ่งในปัจจุบันคำว่า "มดหมอ" มีความหมายถึง หมอทั่ว ๆ ไปเท่านั้น

ลิลิตพระลอตอนดังกล่าวว่า[3]

"จึงแสวงหายายมด ไปจรดผู้ยายำ จำเอาแต่ผู้สิทธิ์ รู้ชิดใช้กลคล่อง บอกทำนองทุกสิ่งอัน ครั้น ธ ช่วยลุไสร้ ตูจะให้ลาภจงครัน จะให้รางวัลจงพอ ครั้นพระลอสมสองแล้ว อยู่ช่างยายมดแก้ว อะคร้าวใดปาน เปรียบเลย ฯ

ยายฟังสารยายสั่นหัว ยายเคยลองแต่ตัวชั่วตัวช้า
ยายจักลองเจ้าหล้า บ่ได้หลานเอย ฯ
ยายเคยใครอย่าไสร้ ยายช่วยยายชักให้
ถ่องแท้ จักไป ฯ

หมอว่าในใต้ฟ้า ทั่วแหล่งหล้าผู้ใด ใครจักเทียมจับคู่ ปู่เจ้าปู่สมิงพราย ธ ว่าให้ตายก็ตายทันเห็น ธ ว่าให้เป็นก็เป็นทันใจ จะลองใครใครก็มา จะหาใครใครก็ บ อยู่ จะไปสู่ท่านไสร้ ไว้ตูจะนำไป เฒ่าว่าทางไกลจรล่ำ วันนี้ค่ำสองนางเมือ พรุ่งเช้าเขือเขียวมา สองนางลาสองเฒ่า ไปบอกแก่สองเจ้า สองอ่อนท้าวยินดี ยิ่งนา ฯ"

ในข่าวเผยแพร่ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา สันนิษฐานว่า คำว่า "มด" น่าจะมาจากคำภาษาบาลีคือ "มต" หรือ "มตะ" ซึ่งแปลว่า "ตายแล้ว" หรือ "ผี" ที่เป็นคำเดียวกันกับ "มรณ" หรือ "มรณะ" ในภาษาสันสกฤต ซึ่งข้างต้นสอดคล้องกับสำนวน "พ่อมดหมอผี" (คือ พ่อ"ผี"หมอผี) หมายถึงผู้ทำหน้าที่ติดต่อ (หรือผู้เชี่ยวชาญ — หมอ) กับผู้ตายหรือผีต่าง ๆ ได้ [4]

แม่มดร่วมสมัย

[แก้]

แม่มดในยุคปัจจุบัน ก็ยังคงมีการสืบทอดกันอยู่ แม้จะเป็นเพียงกลุ่มบุคคลเล็ก ๆ ก็ตาม โดยมดในยุคปัจจุบันเรียกว่า "วิคคา" (Wicca) เป็นกลุ่มบุคคลที่นับถือศาสนาเพแกน โดยกลุ่มวิคคานี้มีประวัติมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ทว่าเพิ่งมีชื่อเรียกในยุคทศวรรษที่ 50 โดยแรกเริ่มเรียกว่า "กลุ่มการ์ดนอเรียน" (Gardnerian group) ตามชื่อของเจอราร์ด การ์ดเนอร์ ผู้นำกลุ่ม ซึ่งผู้นับถือศาสนาเพแกนมีด้วยกันหลายกลุ่ม หลายสาย แต่ผู้ที่จะเป็นมด จะเป็นผู้ที่นับถือธรรมชาติ โดยใช้สัญลักษณ์ดาวห้าแฉก (Pentagram) เป็นตัวแทนของธาตุพื้นฐานทั้งห้า และมดก็แบ่งออกด้วยกันได้หลายสาย เช่น กลุ่มที่เคร่งครัด, กลุ่มที่เป็นหมอปรุงยา, กลุ่มที่ระลึกชาติได้ หรือกลุ่มที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

แม่มด ในยุคปัจจุบันนั้นมิได้มีภาพลักษณ์ที่น่ากลัวเหมือนอย่างภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยกันในอดีต ที่เป็นหญิงแก่จมูกงุ้มยาว คางแหลม ผมยาวรุงรังดูน่ากลัว แต่งกายด้วยชุดผ้าคลุมยาวและหมวกทรงสูงแหลม หากแต่จะเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นวัยหนุ่มสาวที่แต่งตัวตามยุคสมัย บางคนอาจแต่งตัวโฉบเฉี่ยวตามแฟชั่นด้วยซ้ำ และจะมีวิถีชีวิตเป็นของตนเอง แต่จะประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตนเอง เช่น การขี่ไม้กวาด แท้จริงแล้วมิได้ใช้เป็นพาหนะในการเหาะไปในอากาศ หากแต่เป็นเพียงการกระโดดข้ามเพื่อที่จะเป็นการประกาศแต่งงาน และมีความเข้าใจผิดว่ามดนั้นนับถือปิศาจ เช่น ซาตาน แต่แท้ที่จริงนับถือเทพแพน เทพเจ้าองค์หนึ่งตามเทพปกรณัมกรีก ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติ ที่มีรูปลักษณ์เป็นกึ่งมนุษย์เพศชายกึ่งแพะ จึงทำให้ดูรูปลักษณ์คล้ายซาตานไป เป็นต้น โดยมดจะมีเครื่องมือของอุปกรณ์ที่เป็นของตนเองหลัก ๆ ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม ได้แก่ ไม้คทา, มีดปลายทื่อ, ตัวแทนธาตุทั้งสี่ ซึ่งมดบางตนอาจสร้างวงกลมเวทมนตร์ของตนเองขึ้นมาได้โดยการใช้การโรยเกลือเป็นตัวช่วยแทนธาตุทั้งสี่ได้ และสมุนไพร ที่ได้แก่ พืช ตลอดจนเปลือกหอยหรือกระดูกสัตว์ต่าง ๆ ใช้สำหรับปรุงยา [5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 9 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2551. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน >. (เข้าถึงเมื่อ: 18 ตุลาคม 2551).
  2. กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร, 2540:หน้า 111
  3. กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร, 2540: หน้า 394-395
  4. จำนงค์ ทองประเสริฐ มดหมอ อ้างอิง ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. 2528. หน้า 404-406. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564.
  5. จุดประกาย 2 Second Life, แม่มด...ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นหรอก!! โดย วนิดา แก่นจันทร์, กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10429: วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560
บรรณานุกรม
  • กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร (2540). วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 1. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]