ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (หม่อมราชวงศ์เจริญ ญาณฉนฺโท)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

(หม่อมราชวงศ์เจริญ ญาณฉนฺโท)
ส่วนบุคคล
เกิด17 สิงหาคม พ.ศ. 2400 (70 ปี 45 วัน ปี)
มรณภาพ1 ตุลาคม พ.ศ. 2470
นิกายมหานิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 5 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบทพ.ศ. 2421
พรรษา49
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ฉายา ญาณฉนฺโท นามเดิม หม่อมราชวงศ์เจริญ ราชสกุล อิศรางกูร เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และอดีตเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหารและวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร[1]

ประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มีนามเดิมว่าหม่อมราชวงศ์เจริญ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2400 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง เป็นบุตรของหม่อมเจ้าถึก (พระโอรสในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์) ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านบางอ้อ (อำเภอบ้านนา) จังหวัดนครนายก แล้วติดตามบิดาเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เริ่มแรกได้ศึกษากับบิดา ต่อมาไปศึกษาภาษาบาลีกับพระอาจารย์จีน จนอายุได้ 7 ขวบ บิดาจึงนำไปถวายเป็นศิษย์ของหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด เสนีวงศ์) ขณะพระองค์ยังเป็นหม่อมเจ้าพระเปรียญอยู่วัดระฆังฯ และศึกษากับพระอมรเมธาจารย์ (เกษ) ขณะยังเป็นมหาเปรียญ กับหม่อมเจ้าชุมแสงซึ่งเป็นลุง และกับพระโหราธิบดดี (ชุม) ศึกษากับอาจารย์ทั้ง 4 ท่านนี้เป็นหลัก นอกจากนี้ก็ศึกษากับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เป็นต้นด้วย[2]

ปีมะเมีย พ.ศ. 2413 บรรพชาเป็นสามเณร และเข้าสอบพระปริยัติธรรมได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ขณะอายุได้ 14 ปี ถึงปีชวด พ.ศ. 2419 ได้เข้าสอบอีก ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 1 ประโยคเป็นเปรียญธรรม 4 ประโยค ต่อมาในปีขาล พ.ศ. 2421 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ขณะยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันธน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และในปีมะเมีย พ.ศ. 2425 ได้เข้าสอบอีกเป็นครั้งสุดท้ายที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่ม 1 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค[3]

หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระราชานุพัทธมุนีแล้ว โปรดให้ท่านพร้อมด้วยฐานานุกรม 1 รูป มหาเปรียญ 1 รูป และพระอันดับ 4 รูป ย้ายไปอยู่วัดโมลีโลกยาราม โดยมีขบวนแห่ทางเรือประกอบด้วยเรือศรีม่านทองทรงพระพุทธรูป 1 ลำ เรือโขนม่านทองแย่งของพระราชานุพัทธมุนี 1 ลำ เรือม่านลายของพระที่ติดตาม 1 ลำ และเรือดั้งพิณพาทย์กลองแขก 2 ลำ ออกจากวัดระฆังตอนเช้าวันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 8[4] (ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2430)

เมื่อทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ได้ทรงโปรดฯ ให้ท่าน (ขณะยังเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์) เป็นเจ้าคณะมณฑลนครสวรรค์[5] และพระราชทานสัญญาบัตรเจ้าคณะมณฑลแก่ท่าน ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 กรกฎาคม ศกนั้น[6] ต่อมาท่านเกิดขัดแย้งกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ถึงกับแสดงกิริยาและวาจามิบังควรเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงทรงพระดำริจะถอดท่านจากสมณศักดิ์ แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ขอพระราชทานโทษไว้ จึงมีพระบรมราชโองการให้ท่านกราบทูลขอขมาโทษต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ในท่ามกลางเถรสมาคม ให้ลดนิตยภัตลงมาเท่าพระราชาคณะชั้นสามัญตลอดปี และให้ถอดเสียจากตำแหน่งผู้บัญชาการคณะมณฑลนครสวรรค์[7]

สมณศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2430 ตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระราชานุพัทธมุนี
  • 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธี ศีลวิบุลนายก ตรีปิฎกธาดา มหาคณฤศณ บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตรเดือนละ 4 ตำลึงกึ่ง[8]
  • 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 เป็นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะฝ่ายใต้ที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ญาณปรีชาปรินายก ตรีปิฎกธรามหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
  • 25 มกราคม พ.ศ. 2453 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2454) สถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายเหนือที่ พระพิมลธรรมมหันตคุณ วิบุลยปรีชาญาณ ตรีปิฎกคุณาลังการวิภูษิต อุดรทิศคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี สังฆนายก[10]
  • 30 ธันวาคม พ.ศ. 2458 ย้ายมาเป็นเจ้าคณะรองหนกลาง[11]
  • 24 กันยายน พ.ศ. 2464 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะเหนือที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลยสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี มหาสังฆนายก[12]

มรณภาพ

[แก้]

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อาพาธด้วยโรคปอดมาช้านาน อาการทรงและทรุดเรื่อยมาจนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2470 เวลา 18.05 น. สิริอายุได้ 70 ปี 45 วัน

เวลา 16.00 น. วันต่อมา สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จมาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โกศไม้สิบสอง ชั้นรอง 2 ชั้น ฉัตรเครื่องตั้ง 7 คัน พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 15 วัน[13]

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เปลี่ยนโกศไม้สิบสองเป็นโกศมณฑปสำหรับออกเมรุ วันต่อมาจึงตั้งริ้วกระบวนราชอิสริยยศเคลื่อนศพจากวัดระฆังฯ ไปยังเมรุท้องสนามหลวง ถึงเวลา 18.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดผ้าบังสุกุลและพระราชทานเพลิงศพ[14]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. "พระราชานุพัทธมุนี". วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-10. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 222
  3. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 223
  4. ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการแห่พระสงฆ์ไปอยู่พระอารามหลวง, เล่ม 4, ตอน 12, 26 มิถุนายน ร.ศ. 106, หน้า 90
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งราชาคณะเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 19, ตอน 16, 20 กรกฎาคม ร.ศ. 121, หน้า 296
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 19, ตอน 17, 27 กรกฎาคม ร.ศ. 121, หน้า 334
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ ประกาศถอนพระพิมลธรรมจากตำแหน่งผู้บัญชาการคณะมณฑลนครสวรรค์, เล่ม 31, ตอน 0 ง, 7 มิถุนายน 2457, หน้า 520-521
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรแลเลื่อนตำแหน่งยศ, เล่ม 13, ตอน 1, 5 เมษายน ร.ศ. 115, หน้า 15
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ และรายนามพระสงฆ์ที่รับพัดรอง พระราชลัญจกร แลตราตำแหน่งต่าง ๆ, เล่ม 19, ตอน 8, 25 พฤษภาคม ร.ศ. 121, หน้า 127
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ สมเด็จพระราชาคณะและราชาคณะ, เล่ม 27, ตอน 0 ง, 29 มกราคม ร.ศ. 129, หน้า 2635-2636
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี พระราชทานตราตำแหน่งย้ายเจ้าคณะรอง, เล่ม 32, ตอน 0 ง, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458, หน้า 2826
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ, เล่ม 38, ตอน 0 ง, 2 ตุลาคม พ.ศ. 2464, หน้า 1825-1826
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวมรณภาพ, เล่ม 44, ตอน ง, 9 ตุลาคม 2470, หน้า 875-877
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ณ เมรุท้องสนามหลวง, เล่ม 45, ตอน ง, 10 มิถุนายน พ.ศ. 2464, หน้า 875-877
บรรณานุกรม
  • "พระราชานุพัทธมุนี". วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-10. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 218-222. ISBN 974-417-530-3