ข้ามไปเนื้อหา

สมพร สีม่วง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมพร หรือ สุนทร สีม่วง (ป.พ.ศ. 2501 - 26 สิงหาคม พ.ศ 2520) เป็นฆาตกรฆ่าข่มขืนเด็กชาวไทย ซึ่งต้องโทษประหารตามมาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ในความผิดฐานฆาตกรรมและข่มขืนสุชาดาวรรณ ครองยุทธ์ อายุ 8 ขวบ ที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2520 ซึ่งสุชาดาเป็นบุตรบุญธรรมของเสนีย์ ครองยุทธ์ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี[1][2][3]

สมพร สีม่วง
ภาพถ่ายหน้าตรงของสมพร
เกิดป.พ.ศ. 2501
อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย
เสียชีวิต26 สิงหาคม พ.ศ 2520 (19 ปี)
เรือนจำจังหวัดหนองคาย ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
อาชีพรับจ้างทำไร่มันสำปะหลัง
ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีและฆ่าคนตายเพื่อปกปิดความผิดของตน
บทลงโทษประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
รายละเอียด
ผู้เสียหายสุดาวรรณ ครองยุทธ, 8 ปี
วันที่13 มิถุนายน พ.ศ. 2520
ป.21.00 น.
ประเทศประเทศไทย
รัฐจังหวัดหนองคาย
ตำแหน่งริมห้วยบางบาด ตำบลโคกก่อง อำเภอบึงกาฬ
อาวุธผ้าขาวม้า
วันที่ถูกจับ
14 มิถุนายน พ.ศ. 2520

ประวัติ

[แก้]

สมพร สีม่วง มีบ้านเดิมอยู่ที่บ้านเหมือดแอ อำเภอเมืองหนองคาย เขาเป็นลูกคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 7 คน เขาถูกย่าเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาได้บวชเณรเป็นระยะเวลาหนึ่งปีเศษ แล้วสึกออกมาประกอบอาชีพรับจ้างเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือแม่กับย่า และช่วยเลี้ยงดูน้อง[4] ต่อมาในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 เขาได้ไปทำงานรับจ้างในไร่มันสำปะหลังในไร่ของลุงที่บ้านนาต้อง อำเภอบึงกาฬ[5]

การก่อคดี

[แก้]

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2520 เวลา 20.00 น. ระหว่างที่สุชาดาวรรณ ครองยุทธ กำลังนอนหลับกับบัวพา บุตรโคตร มารดา ได้มีญาติเรียกบัวพาไปดูอาการป่วยของน้องชายของเธอ บัวพาจึงสั่งให้สมพรดูแลเด็ก ต่อมาในเวลา 21.00 น. สมพรได้หลอกสุชาดาวรรณว่าจะไปซื้อของ จากนั้นได้อุ้มเธอไปยังห้วยบางบาด เมื่อถึงป่าละเมาะริมหมู่บ้านนาต้อง ริมห้วยบางบาด เขาได้ข่มขืนเธอโดยได้ข่มขืนจนสำเร็จความใคร่ 3 ครั้ง[6] ระหว่างนั้นเธอได้ขัดขืนและส่งเสียงร้อง[7] สมพรจึงใช้ผ้าขาวม้ารัดคอสุชาดาวรรณจนเสียชีวิตแล้วนำศพไปทิ้งลงในห้วยบางบาด จากนั้นได้หลบหนีไป[8]

การพบศพ และการสืบสวน

[แก้]

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2520 เวลา 07.00 น. ได้มีพลเมืองดีพบศพของสุดาวรรณจึงแจ้งร.ต.ท.สมพงษ์ ช่วงรังสี ร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอบึงกาฬ จากการสอบปากคำญาติและเพื่อนบ้านของสุดาวรรณทราบว่า สุดาวรรณออกไปกับญาติและเพื่อนบ้านเพื่อดูหนังกลางแปลงที่ฉายในหมู่บ้าน ภายหลังภาพยนต์เลิกในเวลา 23.00 น. สุดาวรรณได้เดินกลับบ้านเพียงลำพัง แล้วหายตัวจนกระทั่งพบเป็นศพถูกฆ่าข่มขืน[9][10]

ร้อยตำรวจโท สมพงษ์ ช่วงสาลี ได้สืบสวนติดตามตัวคนร้าย โดยสงสัยว่า ในวันเกิดเหตุบิดามารดาของสุดาวรรณออกไปทำธุระโดยทิ้งให้เธออยู่กับลูกจ้างไร่มันสำปะหลังจำนวน 2 คน แต่หลังจากพบศพของสุดาวรรณ สมพรซึ่งเป็นหนึ่งในลูกจ้างไม่ได้อยู่ที่บ้าน และสมพรยังรู้จักกับสุดาวรรณเป็นอย่างดี ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัยสมพร[11][12] ต่อมาในเวลา 12.00 น. ของวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมสมพรได้ที่ในหมู่บ้านนาต้อง[13]

จากการสอบสวนสมพร เขารับสารภาพว่า ขณะที่พ่อแม่ของเธอไม่อยู่บ้าน เขาได้หลอกสุดาวรรณไปซื้อของ แล้วอุ้มเธอไปจากบ้าน เมื่อออกจากเป็นระยะทาง 500 เมตร เขาได้เปลี่ยนให้เอมานั่งด้านหลัง แล้วนำผ้าขาวม้ามาตวัดรอบคอกับเอวเพื่อกันตก แต่เมื่อเดินข้ามห้วยบางบาด เธอได้ล้มลงกับพื้น เมื่อสมพรพบว่าเธอเสียชีวิตแล้ว เขาจึงข่มขืนศพเธอจนสำเร็จความใคร่ แล้วหลบหนีไป[14]

ภายหลังจากการสอบปากคำ ในเวลา 14.00 น. พ.ต.อ. อนันต์ วรอุไร และ ร.ต.อ. แก้ว ที่เจริญได้ควบคุมตัวสมพรไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ โดยระหว่างทำแผนสมพรมีอาการหวาดกลัวอย่างชัดเจน สมพรบอกผู้สื่อข่าวว่ากลัวถูกม.21 ภายหลังจากการทำแผนเสร็จสิ้นในเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวสมพรกลับมาสอบสวนต่อ[15]

ภายหลังการสอบสวนเสร็จสิ้น พ.ต.อ. อนันต์ วรอุไร ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสนอต่อพล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่นเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นได้ย้ายสมพรไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดหนองคาย[16]

การประหารชีวิต

[แก้]

วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2520 จอน สีม่วง มารดาของสมพรได้เยี่ยมสมพรเป็นครั้งสุดท้ายที่เรือนจำจังหวัดหนองคาย สมพรได้ปลอบใจเธอว่า อย่าให้ตนได้เป็นห่วงอะไรเลย ถ้าหากจะมีอะไรเกิดขึ้นเพราะเมื่อได้ทำกรรมชั่วมาแล้ว ก็ขอรับกรรม ตนได้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองจริง เมื่อจะตายก็ไม่เสียดาย ขออย่าให้จอนเป็นห่วง[17]

วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2520 สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 มีคำสั่งให้ประหารชีวิตสมพรที่เรือนจำจังหวัดหนองคาย โดยพิจารณาถึงพฤติการณ์และการกระทำที่เหี้ยมโหด ซึ่งกระทำต่อเด็กหญิงอายุเพียง 8 ปี นับว่าเป็นการก่อกวน และคุกคามความสงบเรียบร้อยของประชาชน สมควรลงโทษสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป นอกจากนี้ในวันเดียวกันได้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 21 มีคำสั่งให้ประหารชีวิตวิชิต ปานนท์ อายุ 25 ปี ที่เรือนจำจังหวัดนครสวรรค์ กับ อุดร อำรินทร์ อายุ 23 ปี ที่เรือนจำจังหวัดระยอง และมีคำสั่งให้จำคุก 25 ปี สุชาติ นิพนธ์ ผู้ก่อเหตุร่วมของวิชิต เนื่องจากเป็นผู้เยาวน์ โดยการประหารชีวิตทั้งสามจะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น[18]

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เวลา 16.20 น. เจ้าหน้าที่เรือนจำได้เบิกตัวสมพรจากห้องขังไปยังโรงเลี้ยง เมื่อถึงโรงเลี้ยง ชำนาญ พจนา ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้อ่านคำสั่งประหารชีวิตให้สมพรฟัง แล้วให้เซ็นทราบในคำสั่ง หลังจากเซ็นรับทราบในคำสั่งสมพรบอกเจ้าหน้าที่ว่า"ผมเตรียมใจไว้แล้วพี่ ผมรู้ว่ายังไงต้องถูกประหาร" หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ให้สมพรเขียนจดหมายและพินัยกรรม สมพรไม่ได้ทำพินัยกรรมเนื่องจากไม่มีทรัพย์สินติดตัว สมพรได้สั่งเสียถึงพ่อแม่โดยมีใจความว่าผ่านชำนาญ โดยมีใจความว่า ช่วยบอกพ่อแม่ผมด้วยว่าผมถูกประหารชดใช้กรรมไปแล้ว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้จัดอาหารมื้อสุดท้ายมาให้สมพร แต่สมพรไม่ยอมรับประทานเนื่องจากอาหารไม่ถูกปากจึงกินไม่ลง สมพรจึงขอกินลาบเลือดสดๆเป็นอาหารมื้อสุดท้าย เพราะแข็งแรงมีกำลังดี เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงออกไปซื้อลาบเนื้อวัว และต้มยำเครื่องในมาให้สมพร สมพรกินลาบเนื้อวัว และต้มยำเครื่องในอย่างเอร็ดอร่อยจนหมดจาน แล้วกล่าวว่า "ลาบเลือดอร่อยมากครับพี่ ผมจะไม่มีวันลืม ขอบคุณครับ"

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวสมพรไปฟังเทศนาธรรมกับพระเทพบัณฑิตมาเทศน์ให้สมพรฟังในเรื่อง กฎแห่งกรรม สมพรได้นั่งฟังอย่างสงบเป็นเวลา 20 นาที เมื่อพระเทศน์จบ ชำนาญจึงได้ให้เงินสมพรจำนวน 39 บาทเพื่อถวายเป็นเงินติดกัณฑ์เทศน์ สมพรจึงรับเงินจากชำนาญแล้วยกชูขึ้นเหนือหัวแล้วถวายพระเทพมหาบัณฑิต

ในเวลา 17.00 น. สมพรบอกพัศดีว่า "ผมพร้อมแล้วครับพี่ ช่วยพาผมไปตายทีเถอะครับ" จากนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำได้นำผ้าขาวผูกตาแล้วประคองสมพรเดินไปยังหลักประหารที่กำแพงด้านทิศใต้บริเวณแดน 2 ของเรือนจำ โดยสมพรเดินไปยังหลักประหารด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม[19] ในเวลา 17.05 น. ประถม เครือเพ่ง เพชฌฆาตได้ยิงปืนชุดแรก แต่กระสุนไม่ถูกสมพร จึงทิ้งช่วง 1 นาที แล้วยิงชุดที่ 2 แต่กระสุนยังไม่เข้าไป จึงทิ้งช่วง 1 นาที แล้วยิงชุดที่สามซึ่งสมพรเสียชีวิตทันที ใช้กระสุนจำนวน 32 นัด[20] โดยระหว่างการประหารชีวิตสมพรได้มีประชาชนที่ทราบข่าวหลายพันคนมาร่วมเป็นกลุ่มอยู่หน้าเรือนจำ[21]

ในวันรุ่งขึ้น จอน สีม่วง มารดาของสมพร และเทียม สีม่วง ย่าของสมพร ได้เดินทางไปติดต่อขอรับศพสมพรจากเรือนจำ โดยพัสดีเรือนจำได้บริจาคเงินให้จอน 200 บาท เนื่องจากจอนไม่มีเงินติดตัวไปเลยเพราะมีฐานะยากจน และเรือนจำได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องการฌาปนกิจศพ โดยการติดต่อวัดอรุณรังสีที่ติดกับเรือนจำให้ช่วยฌาปนกิจศพให้ ศพของสมพรถูกนำไปไว้ที่วัดอรุณรังสีแล้วเผาศพในวันเดียวกัน[22]

การประหารชีวิตสมพรนับเป็นการประหารชีวิตครั้งที่สองจากสองครั้งซึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดหนองคาย ส่วนการประหารชีวิตครั้งแรกคือสมศักดิ์ แซ่ฉั่ว, บุญช่วย ไซยปะ และประเสริฐ ขันทะยา 3 นักค้าอาวุธซึ่งถูกจับกุมขณะพยายามลักลอบซ่อนอาวุธสงครามที่ลักลอบนำมาจากประเทศลาว ทั้งสามถูกประหารชีวิตในที่สาธารณะตามคำสั่งของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจของหัวหน้าคณะปฎิวัติ ที่สนามกอล์ฟทางทิศตะวันตกของสนามบินจังหวัดหนองคายเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515[23][24]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ขืนใจ". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 16 June 1977. p. 20.
  2. "ข่มขืน". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 16 June 1977. p. 16.
  3. "หักคอ". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 16 June 1977. p. 16.
  4. "แม่ฆาตกร". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 28 August 1977. p. 16.
  5. "ฆาตกร". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 17 June 1977. p. 2,3.
  6. "หักคอ". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 16 June 1977. p. 16.
  7. "ประหาร". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 27 August 1977. p. 2.
  8. "ข่มขืน". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 16 June 1977. p. 16.
  9. "ข่มขืน". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 16 June 1977. p. 16.
  10. "ขืนใจ". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 16 June 1977. p. 20.
  11. "ขืนใจ". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 16 June 1977. p. 16.
  12. "หักคอ". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 16 June 1977. p. 16.
  13. "ฆาตกร". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 17 June 1977. p. 2,3.
  14. "ฆาตกร". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 17 June 1977. p. 2,3.
  15. "ฆาตกร". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 17 June 1977. p. 2,3.
  16. "ใช้ม.21". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 16 June 1977. p. 20.
  17. "แม่ฆาตกร". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 28 August 1977. p. 16.
  18. "ยิงเป้า". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 27 August 1977. p. 16.
  19. "ประถมเครือเพ่ง ยิงที่หนองคาย". หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. 27 August 1977. p. 2.
  20. "ยิงเป้า". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 27 August 1977. p. 16.
  21. "ใช้ม.21". หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. 16 June 1977. p. 20.
  22. "แม่ฆาตกร". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 28 August 1977. p. 16.
  23. "คณะปฎิวัติ". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 7 June 1972. p. 16.
  24. "หัวหน้าแก๊งค์ค้าอาวุธ". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 7 June 1972. p. 16.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า
อัศวิน พูนเต่า
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2520
บุคคลที่ถูกประหารชีวิตในประเทศไทย
สมพร สีม่วง
, วิชิต ปาหนนท์ และอุดร อำรินทร์
26 สิงหาคม พ.ศ. 2520
ถัดไป
ดอน เกิดเป็ง
16 กันยายน พ.ศ. 2520