ข้ามไปเนื้อหา

สมคิด ศรีสังคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมคิด ศรีสังคม
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด1 สิงหาคม พ.ศ. 2460
จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย
เสียชีวิต3 ตุลาคม พ.ศ. 2560 (100 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสฟรานเซสกา ศรีสังคม
ลายมือชื่อ

พันเอก สมคิด ศรีสังคม (1 สิงหาคม พ.ศ. 2460 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุดรธานี และอดีตประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) เคยถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่แพ้ให้ ศาสตราจารย์ พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 59 ต่อ 135

ประวัติ

[แก้]

สมคิด เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2460 (บางแห่งระบุเป็น พ.ศ. 2459) ที่ตำบลสร้างคอม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ในครอบครัวชาวนา และสมรสกับนางฟรานเซสกา ศรีสังคม มีบุตรธิดา 4 คน

สมคิด เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 ในโรงเรียนบ้านสร้างคอม และจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี พ.ศ. 2478 โดยได้รับคะแนนระดับดีเยี่ยมของประเทศ (ได้คะแนนเกินร้อยละ 75) ต่อมาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพฯ จนจบหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคประถม (ป.ป.) และกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนเดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 พร้อมทั้งได้เรียนปริญญาตรีวิชากฎหมาย จนสำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2492 ได้ไปศึกษาต่อปริญญาตรีทางด้านสังคมศาสตร์ ที่ประเทศอังกฤษ ใช้เวลา 8 ปี จึงกลับมาประเทศไทย[1]

การทำงาน

[แก้]

สมคิด ศรีสังคม เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นครูในปี พ.ศ. 2480 ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ต่อมาหลังจบปริญญาวิชากฎหมายแล้ว เขาสอบได้เป็นข้าราชการกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้ช่วยอัยการ แต่ทำงานได้เพียง 6 เดือน ก็สอบแข่งขันได้เป็นทหารในกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2484 จากนั้นเขาได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ และกลับมารับราชการจนมียศสูงสุดเป็น พันเอก หลังจากนั้นเขาจึงลาออกจากราชการไปทำหน้าที่เป็นนักวิชาการ สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2506 โดยการชักชวนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 ในสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่เขาได้รับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ต่อมาเขาได้ก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2514 แต่ก็ต้องยุบไปในปีเดียวกันเนื่องจากการปฏิวัติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 เขาจึงได้จัดตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยขึ้นมา และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค[2] ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519 ต่อมาได้จัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย ขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ภายหลังในปี พ.ศ. 2529 จึงย้ายมาร่วมงานกับนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร หัวหน้าพรรคแรงงานประชาธิปไตย

พ.อ.สมคิด เป็นประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย หรือ ครป. ในปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2529

ถึงแก่อนิจกรรม

[แก้]

พ.อ. สมคิดถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร[3] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ณ วัดทิพยรัฐนิมิต ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เบญจมาภรณ์ ตันหยง. แนวคิดและบทบาททางการเมืองของพันเอก สมคิด ศรีสังคม. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2552
  2. "ตำแหน่งหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2020-04-22.
  3. " 'พ.อ.สมคิด' อดีต ส.ส.-สว.อุดรฯถึงแก่กรรมอายุ100ปี2เดือน." คมชัดลึก. 3 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2560.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๗, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๓๒, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๕, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๐