ข้ามไปเนื้อหา

สงครามพันวัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามพันวัน
(Guerra de los Mil Días)

เรือ เลาตาโร อับปางที่เมืองปานามาซิตี
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1902
วันที่17 ตุลาคม ค.ศ. 1899 – 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1902
(1130 วัน)
สถานที่
ผล ฝ่ายรัฐบาลอนุรักษนิยมชนะ
สาธารณรัฐโคลอมเบียดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
คู่สงคราม

ฝ่ายเสรีนิยม

สนับสนุนโดย:
เวเนซุเอลา
ฝ่ายอนุรักษนิยม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ราฟาเอล ยูริเบ ยูริเบ
เบนจามิน เอร์เรรา
พรอสเพโร ปินซอน
รามอน กอนซาเลซ บาเลนเซีย
เปโดร เนล ออสปินา
ความสูญเสีย
120,000[1]

สงครามพันวัน (สเปน: Guerra de los Mil Días) เป็นสงครามกลางเมืองที่สู้รบในประเทศโคลอมเบียระหว่างปีค.ศ. 1899–1902 ช่วงแรกเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคเสรีนิยมกับรัฐบาลนำโดยพรรคชาตินิยม ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยพรรคอนุรักษนิยม สงครามพันวันมีสาเหตุมาจากการขัดกันทางอุดมการณ์ระบอบสหพันธรัฐกับรัฐเดี่ยวระหว่างฝ่ายเสรีนิยม อนุรักษนิยม และชาตินิยม ในปี ค.ศ. 1884 ประธานาธิบดีราฟาแอล นูเญซดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองที่เรียกว่า เรเกเนราซิยอน (Regeneración) ซึ่งแทนที่รัฐบาลท้องถิ่นด้วยรัฐบาลกลางและฟื้นฟูอำนาจคริสตจักรโรมันคาทอลิก[2] หลังจากนั้นมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญแห่งโคลอมเบีย ค.ศ. 1886 ที่เปลี่ยนสหรัฐโคลอมเบียเป็นสาธารณรัฐโคลอมเบีย และยุติการครอบงำของฝ่ายเสรีนิยมหัวรุนแรงที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ ค.ศ. 1863[3]

ความตึงเครียดมาถึงขีดสุดเมื่อมานูเอ็ล อันโตนิโอ แซนเกลเมนตีจากพรรคชาตินิยมชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1898 ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1899 ฝ่ายเสรีนิยมก่อการจลาจลต่อต้านรัฐบาลชาตินิยมในจังหวัดซันตันเดร์ ก่อนจะลุกลามไปเป็นสงครามเมื่อฝ่ายเสรีนิยมพยายามเข้ายึดเมืองบูการามังกาในเดือนพฤศจิกายน[4] เวเนซุเอลาเข้าช่วยเหลือฝ่ายเสรีนิยมหลังฝ่ายเสรีนิยมพ่ายแพ้ในยุทธการที่ปาโลเนโกรในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1900[5] หลังจากนั้นความขัดแย้งแปรสภาพเป็นสงครามกองโจรตามเขตชนบทที่ยืดเยื้อ หลังตระหนักว่าไม่สามารถชนะสงครามได้ ฝ่ายเสรีนิยมตัดสินใจเจรจาและลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับฝ่ายรัฐบาล บนเรือรบ วิสคอนซิน ของสหรัฐที่เป็นคนกลางในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1902 เป็นอันสิ้นสุดสงครามพันวัน[6]

สงครามพันวันเป็นหนึ่งในสงครามที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์โคลอมเบีย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 120,000 คน และทำให้ภาคสังคมเศรษฐกิจโคลอมเบียเสียหายอย่างมาก สงครามนี้ยังส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเสียปานามาในปี ค.ศ. 1903 โดยมีสหรัฐอยู่เบื้องหลัง[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. BBC. "Colombia Timeline". สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
  2. "Rafael Núñez - President of Colombia". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 3, 2021.
  3. "Colombia - THE GOVERNMENTAL SYSTEM". Country Studies. สืบค้นเมื่อ January 3, 2021.
  4. Grueso, Eduardo Riascos (1950). Geografía guerrera de Colombia (ภาษาสเปน). Impr. Bolivariana. p. 24.
  5. de La Pedraja, René (2015). Wars of Latin America, 1899-1941. McFarland. pp. 30–31. ISBN 9780786482573.
  6. Minster, Christopher (January 2, 2020). "The Thousand Days' War". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ January 3, 2021.
  7. "The War of a Thousand Days - Colombian history". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 3, 2021.