สงครามคิมเบรียน
สงครามคิมเบรียน | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
เส้นทางที่คาดว่าชนเผ่าคิมบรีและทิวทันใช้อพยพ โรมันชนะ คิมบรีและทิวทันชนะ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
สาธารณรัฐโรมัน เซลติเบเรียน |
คิมบรี ทิวทัน อัมโบรน ทิกูรินี | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
กาอิอุส มาริอุส ควินตุส ลูตาติอุส กาตุลุส ควินตุส เซอร์วิลิอุส แกปิโอ แกนัส มัลลิอุส แม็กซิมุส แกนัส ปาปิลิอุส การ์โบ ลูกิอุส กัสซิอุส ล็องกีนุส † ลูกิอุส กัลเปอร์นิอุส ปิโซ † มาร์กุส ยูนิอุส ซิลานุส |
โบอิโอริกซ์ † (คิมบรี) ลูจิอัส † (คิมบรี) แคลโอดิกัส (เชลย) (คิมบรี) ซีซอริกซ์ (เชลย) (คิมบรี) ดิวิโก (ทิกูรินี) ทิวโทบอด (เชลย) (ทิวทัน) | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
หนัก ทหารโรมันมากกว่า 110,000 คนถูกฆ่า |
ถูกฆ่า 340,000+ คน[1] ตกเป็นทาส 150,000 คน (ชาวคิมบรี 60,000 คนและชาวทิวทัน 90,000 คน)[2] |
สงครามคิมเบรียน หรือ สงครามคิมบริก (ละติน: Bellum Cimbricus) เป็นความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐโรมันกับชนเผ่าคิมบรี ทิวทัน อัมโบรนและทิกูรินี ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มชนเจอร์แมนิกและชาวเคลต์ที่อพยพมาจากคาบสมุทรจัตแลนด์ เกิดขึ้นระหว่าง 113–101 ปีก่อนคริสตกาล สงครามคิมเบรียนเป็นความขัดแย้งแรกนับตั้งแต่สงครามพิวนิกครั้งที่สองที่โรมและอิตาเลียเผชิญกับภัยคุกคามอย่างจริงจัง
ช่วงเวลาของสงครามส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในและการจัดการกองทัพโรมัน สงครามนี้ยังส่งผลต่อกาอิอุส มาริอุสที่ตำแหน่งกงสุลของเขากำลังท้าทายอำนาจสถาบันการเมืองของโรม สงครามคิมเบรียนร่วมกับสงครามยูเกอร์ไทน์ ทำให้มาริอุสตัดสินใจปฏิรูปกองทัพ
แม้จะสูญเสียอย่างหนักในยุทธการที่อะเราซิโอและยุทธการที่นอเรอา ซึ่งนับเป็นความปราชัยครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามพิวนิกครั้งที่สอง แต่ท้ายที่สุดโรมเป็นฝ่ายชนะ ด้านชนเผ่าเจอร์แมนิกถูกทัพโรมันทำลายจนเกือบหมดสิ้น แต่มีบันทึกว่าบางส่วนที่รอดชีวิตเข้ากับกลาดิอาตอร์ที่ก่อกบฏในสงครามทาสครั้งที่สาม[3]
การอพยพและความพ่ายแพ้ของโรมช่วงแรก
[แก้]บันทึกโรมันบางแหล่งระบุว่าราว 120–115 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าคิมบรีละทิ้งถิ่นฐานเดิมแถบทะเลเหนือเนื่องจากอุทกภัย (ขณะที่สตราโบบันทึกว่าไม่น่าเป็นไปได้[4]) คาดว่าเดินทางลงมาตะวันออกเฉียงใต้และพบกับชาวทิวทันที่เป็นมิตรและอาจจะมีความเกี่ยวข้องกัน ก่อนที่ทั้งสองเผ่าจะเอาชนะชนเผ่าสกอร์ดิสชีและโบไยที่อาศัยอยู่แถบยุโรปกลาง ใน 113 ปีก่อนคริสตกาล คิมบรีและทิวทันมาถึงแม่น้ำดานูบในนอริคัม และปะทะกับเทาริสชี ชนเผ่าเคลต์สายหนึ่งที่เป็นพันธมิตรกับโรม ชนเผ่าเทาริสชีสู้ไม่ได้จึงขอความช่วยเหลือจากโรม[5]
112 ปีก่อนคริสตกาล แกนัส ปาปิลิอุส การ์โบ กงสุลโรมันเดินทัพไปที่นอริคัมและสั่งให้คิมบรีและทิวทันออกจากพื้นที่ทันที เริ่มแรกคิมบรียินยอมจากไปแต่โดยดี แต่หลังพบว่าโรมันวางกำลังซุ่มโจมตีพวกเขา คิมบรีก็เข้าโจมตีจนทัพโรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในยุทธการที่นอเรอา
จากนั้นคิมบรีเดินทางลงมาทางตะวันตกที่กอล 109 ปีก่อนคริสตกาล คิมบรีรุกเข้าแกลเลียนาร์โบเนนซิส เอาชนะทัพโรมันของมาร์กุส ยูนิอุส ซิลานุส 107 ปีก่อนคริสตกาล ทัพคิมบรี-ทิวทัน-ทิกูรินีเอาชนะทัพโรมันได้อีกครั้งในยุทธการที่เบอร์ดิกาลา และสังหารลูกิอุส กัสซิอุส ล็องกีนุส กงสุลผู้นำทัพ
หายนะที่อะเราซิโอและมาริอุสเข้ามาบัญชาการ
[แก้]105 ปีก่อนคริสตกาล แกนัส มัลลิอุส แม็กซิมุส กงสุลและควินตุส เซอร์วิลิอุส แกปิโอ โปรกงสุลโรมันแต่งทัพขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามพิวนิกครั้งที่สองไปที่แม่น้ำโรน ใกล้ออร็องฌ์ แต่ด้วยความไม่ลงรอยระหว่างกงสุลทั้งสองและการจัดการที่ผิดพลาดทำให้ถูกทัพคิมบรี-ทิวทันตีแตกในยุทธการที่อะเราซิโอ ซึ่งในยุทธการนี้โรมสูญเสียทหารกว่า 80,000 คน[6] นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โรมโบราณ[7]
หลังความพ่ายแพ้ที่อะเราซิโอ สาธารณรัฐโรมันเกิดความระส่ำระส่าย มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและเลือกกาอิอุส มาริอุส แม่ทัพผู้นำโรมชนะสงครามยูเกอร์ไทน์เป็นกงสุล มาริอุสทำการปรับปรุงกองทัพใหม่ ใน 102 ปีก่อนคริสตกาล มาริอุสเดินทัพไปที่วาล็องซ์เพื่อสังเกตการณ์ฝ่ายทิวทัน ด้านทิวทันพยายามยั่วยุให้ทัพโรมันเข้าต่อสู้ด้วยการโจมตีค่ายโรมันแต่ล้มเหลว มาริอุสปล่อยให้ฝ่ายทิวทันผ่านไปยังแอควายเซ็กติเอที่เป็นที่ราบมีเนินและป่าอยู่สองฟาก ที่นั่นมาริอุสล่อให้ทิวทันโจมตีก่อนจะให้ทหารที่ซุ่มอยู่ในป่าเข้าโอบล้อมทั้งสองด้าน สังหารหมู่ฝ่ายทิวทันและจับตัวทิวโทบอด กษัตริย์ของชาวทิวทันเป็นเชลย[8]
ยุทธการที่เวอร์เคลเลและหลังจากนั้น
[แก้]101 ปีก่อนคริสตกาล คิมบรีมาถึงซิสอัลไพน์กอล ผ่านเทือกเขาแอลป์และเข้าสู่ทางเหนือของอิตาลี ก่อนจะปะทะกับทัพโรมันในยุทธการที่เวอร์เคลเลใกล้แม่น้ำซีเซีย ในยุทธการนี้ฝ่ายโรมสามารถสังหารสองผู้นำคิมบรี โบอิโอริกซ์และลูจิอัส และทำลายทัพคิมบรีจนย่อยยับ อย่างไรก็ตามมีบันทึกว่าบางส่วนที่รอดชีวิตเข้ากับกลาดิอาตอร์ที่ก่อกบฏในสงครามทาสครั้งที่สาม (73–71 ปีก่อนคริสตกาล)[3]
แม้จะปราบชนเผ่าเหล่านี้ลงได้ แต่ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้มาริอุสเป็นอริกับซัลลา แม่ทัพผู้ร่วมรบที่เวอร์เคลเลจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองซัลลาครั้งที่หนึ่ง (88–87 ปีก่อนคริสตกาล) นอกจากนี้การมอบความเป็นพลเมืองโรมันให้แก่พันธมิตรชาวอิตาลิกโดยพลการของมาริอุส ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่สงครามโซเชียล (91–87 ปีก่อนคริสตกาล)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Livy (27 August 2009). Rome's Mediterranean Empire: Books 41–45 and the Periochae. ISBN 9780199556021.
- ↑ Angus, Samuel (1915). The Environment of Early Christianity.
- ↑ 3.0 3.1 Strauss, Barry (2009). The Spartacus War. Simon and Schuster. pp. 21–22. ISBN 978-1-4165-3205-7.
marius german.
- ↑ Geographia Book VII Chapter 2
- ↑ Hughes, Tristan (February 4, 2020). "How Gaius Marius Saved Rome From the Cimbri". History Hit. สืบค้นเมื่อ May 1, 2021.
- ↑ Valerius Antias (1st century BC). Manubiae (quoted by Livy, Periochae, book 67 เก็บถาวร 2018-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน).
- ↑ http://www.historyofwar.org/articles/battles_arausio.html
- ↑ Hyden 2017, pp. 139–40.