ข้ามไปเนื้อหา

ปลาตอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สกุลปลากราย)
ปลาตอง
ปลากราย หรือ ปลาหางแพน (C. ornata)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Osteoglossiformes
วงศ์: Notopteridae
สกุล: Chitala
Fowler, 1934
ชนิด
ดูในเนื้อหา

ปลาตอง (อังกฤษ: Clown knifefishes, Featherbackfishes) เป็นสกุลปลากระดูกแข็งที่อยู่ใน วงศ์ปลากราย (Notoperidae) อันดับปลาลิ้นกระดูก (Osteoglossiformes) ใช้ชื่อสกุลว่า Chitala (/ไค-ตา-ลา/)

ลักษณะ

[แก้]

มีรูปร่างโดยรวมคือ มีลำตัวแบนข้างมาก ครีบอกเล็กมาก ครีบหลังเล็ก ส่วนหัวมีขนาดเล็ก ตาโต ปากกว้าง โดยมีมุมปากอยู่เลยดวงตาไปอีก สันหลังยกสูง มีจุดเด่นคือ ครีบท้องที่ติดกับครีบก้นเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งจะเคลื่อนไหวอย่างพริ้วไหวมากเมื่อว่ายน้ำ จนได้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า "ปลาขนนก" (Featherbackfish) หรือ "ปลาใบมีด" (Knifefish) และเหตุที่ได้ชื่อว่า "ปลาตอง" ในภาษาไทย เนื่องจากมีรูปร่างแบนเหมือนใบตอง[1] มีลายเส้นจาง ๆ เป็นบั้งอยู่ตามแนวของลำตัว ที่ฐานครีบหูมีจุดสีดำ และมีจุดเด่นอีกประการ คือ มีจุดสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำอยู่ในช่วงท้ายของลำตัว ซึ่งแตกต่างออกไปตามชนิดและอายุวัยของปลา ซึ่งปลาในวัยอ่อนจุดเหล่านี้มักจะรวมตัวกันดูไม่ชัดเจน แต่จะแตกกระจายเห็นเด่นชัดเจนเมื่อปลาโตขึ้น และยังถือได้ว่าเป็นลวดลายเฉพาะในแต่ละตัวอีกด้วย สีของตัวปลาในธรรมชาติแล้วมักจะออกสีขาวนวล แต่เมื่อจับขึ้นมาแล้วจะค่อย ๆ กลายเป็นสีคล้ำขึ้น ๆ

อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดเล็กในแม่น้ำและลำคลองทั่วไป พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดีย, อินโดจีน จนถึงเกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา ในอินโดนีเซีย โดยกินอาหารจำพวก ปลาขนาดเล็กและสัตว์น้ำชนิดอื่น

จัดเป็นปลาขนาดใหญ่ โดยมีความยาวเต็มที่ประมาณ 1 เมตร และอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร ในบางชนิด ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ เช่น ก้อนหินหรือตอม่อของสะพาน โดยไข่มีลักษณะสีขาวขุ่น โดยที่ทั้งปลาตัวผู้และตัวเมียช่วยกันดูแลไข่ จำนวนไข่ปริมาณ 500-1,000 ฟอง ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 7 วัน [2]

การจำแนก

[แก้]

ปลาตองแบ่งออกได้เป็น 6 ชนิด ได้แก่[3]

ชื่อภาษาไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ ขนาด
(โดยประมาณ)
ลักษณะเด่น สถานที่พบ
ปลาตองลาย Chitala blanci 1 เมตร มีจุดและลวดลายมากที่สุด พบเฉพาะลุ่มน้ำโขงและบางส่วนของแม่น้ำน่านเท่านั้น
ปลากรายบอร์เนียว Chitala borneensis 40 เซนติเมตร เป็นชนิดที่เล็กที่สุดในสกุลนี้[4] พบได้บนเกาะบอร์เนียว
ปลากรายอินเดีย Chitala chitala 1.5 เมตร มีจุดที่เล็กที่สุด แต่มีขนาดลำตัวใหญ่ พบได้ที่ประเทศอินเดีย
ปลากรายสุมาตรา Chitala hypselonotus 1 เมตร
-
พบได้ที่เกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายู
ปลาสะตือ Chitala lopis 1.5 เมตร มีสีค่อนข้างคล้ำ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ พบได้ในภูมิภาคอินโดจีนจนถึงคาบสมุทรมลายู และประเทศอินโดนีเซีย
ปลากราย Chitala ornata 1 เมตร นิยมรับประทานและเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม พบในภูมิภาคอินโดจีน

มีความสำคัญต่อมนุษย์ในแง่ของการเป็นปลาเศรษฐกิจ ซึ่งมีการบริโภคด้วยการปรุงสดและแปรรูปเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ลูกชิ้น, ทอดมัน หรือห่อหมก และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนิด C. ornata โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือกหรือสีที่แปลกออกไปเหมือนสีทองคำขาว เป็นต้น

อนึ่ง ปลาในสกุล Chitala เคยอยู่จัดอยู่ในสกุลเดียวกับ Notopterus โดยถือเป็นสกุลย่อย แต่ปัจจุบันได้แยกออกมาต่างหาก เนื่องจาก ไทสัน โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันได้ศึกษาและทำการอนุกรมวิธานแยกออกมาในปี ค.ศ. 1992 เพราะมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างกัน 3 ประการคือ

  1. กระดูกกะโหลกหัวด้านหลังเว้าลึก
  2. มุมปากยื่นเลยขอบนัยน์ตา
  3. เกล็ดที่หัวมีขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับเกล็ดบนลำตัว [5]

ซึ่งปลาที่อยู่ในสกุล Notopterus นี้ก็เหลือเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ Notopterus notopterus ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก และมีส่วนลาดที่สันหลังน้อยกว่า ส่วนหน้ากลมมน อีกทั้งความกว้างของปากก็ไม่ยาวจนเลยลูกตา

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
อ้างอิง
  1. "ตุ๊ป่อง (ไก่แป๊ะซะ) อุดร". ไทยรัฐ. 21 December 2014. สืบค้นเมื่อ 21 December 2014.
  2. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 20-21
  3. Fishbase
  4. Fishbase.org
  5. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 16
บรรณานุกรม
  • อัคคะทวีวัฒน์, สมโภชน์ (2547). สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. องค์การค้าของคุรุสภา. ISBN 974-00-8738-8.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Chitala ที่วิกิสปีชีส์