ข้ามไปเนื้อหา

วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย
สถาบันการอาชีวศึกษา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑
ชื่อย่อNKTC
ประเภทรัฐบาล - วิทยาลัย สังกัด สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑
สถาปนา2 มกราคม พ.ศ. 2481
ที่ตั้ง
วิทยาลัยเทคนิคหนองคายแห่งที่1 306 หมู่ 5 ถนนมิตรภาพ ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย 43000 วิทยาลัยเทคนิคหนองคายแห่งที่2 กิโลเมตรที่ 7 ถนนหนองคาย-โพนพิสัย ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย 43000
เว็บไซต์วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย

วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย เป็นศูนย์กลางอำนวยการของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย และเปิดสอน 3 หลักสูตร คือ ปวช., ปวส. และปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) โดยทั้งนี้วิทยาลัยฯ ยังแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ วิทยาลัยเทคนิคหนองคายแห่งที่ 1 อยู่ตำบลโพธิ์ชัย และ วิทยาลัยเทคนิคหนองคายแห่งที่ 2 อยู่ที่ตำบลหาดคำ

ประวัติวิทยาลัย

[แก้]

วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2481 เดิมคือโรงเรียนช่างไม้หนองคาย โดยอาศัยโรงอาหารของโรงเรียนสตรีปทุมเทพรังสรรค์เป็นสถานที่เรียนและฝึกงาน

ต่อมาได้งบประมาณมาจัดสร้าง คือ สถานที่ตั้งในปัจจุบัน สภาพการจัดการเรียนการสอน เริ่มต้นด้วยโรงฝึกงานเล็ก ๆ 2 หลัง และบ้านพักครู 4 หลัง จำนวนนักเรียน 28 คน รับนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยเปิดหลักสูตร 3 ปี เมื่อ พ.ศ. 2482 บนพื้นที่ 18 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา และโรงเรียนช่างไม้หนองคายดำเนินกิจการเรื่อยมา

พ.ศ.  2489 เกิดกรณีพิพาท ระหว่างไทยกับอาณานิคมฝรั่งเศส คือ ประเทศลาว (สปป.ลาว ในปัจจุบัน) ไทยมีความจำยอมที่ต้องมอบดินแดนบางส่วนคืนให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งดินแดนที่ต้องมอบคืนนั้นมีโรงเรียนช่างไม้ของไทยตั้งอยู่แห่งหนึ่ง คือโรงเรียนช่างไม้ล้านช้าง เมื่อเป็นเช่นนั้นโรงเรียนช่างไม้ล้านช้าง จึงต้องย้ายเข้ารวมกับโรงเรียนช่างไม้หนองคายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2499 กรมอาชีวศึกษา ได้มีนโยบายให้โรงเรียนช่างตัดผมหนองคาย ในจังหวัดหนองคายสมัยนั้น มารวมเป็นโรงเรียนช่างไม้หนองคาย 

พ.ศ. 2502 โรงเรียนช่างไม้หนองคายได้ยกฐานะเป็นโรงเรียนการช่างหนองคาย

พ.ศ. 2503 โรงเรียนการช่างหนองคาย ได้เข้าร่วมอยู่ในโครงการฝึกช่างฝีมือของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ทำให้ได้รับงบประมาณที่เพิ่มขึ้น  จึงมีการปรับปรุงอาคารโรงฝึกงานและอาคารสถานที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อเตรียมเปิดทำการสอน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.ศ. 4) ในปีต่อมาได้เปิดแผนกช่างเพิ่มอีก 2 แผนกคือ แผนกช่างก่อสร้าง แผนกช่างประสม (ปัจจุบันคือแผนกช่างเชื่อมโลหะ)

พ.ศ. 2507 เปิดเพิ่มอีก 2 แผนก คือ แผนกช่างยนต์ และแผนกช่างกลโรงงาน

พ.ศ. 2508 ทางราชการยุบโรงเรียนช่างปั้นโพนพิสัย มารวมกับโรงเรียนการช่างหนองคาย

พ.ศ. 2509 โรงเรียนการช่างสตรีหนองคาย ได้ย้ายเข้ามารวมกับโรงเรียนการช่างชายหนองคาย

พ.ศ. 2511  เปิดแผนกช่างวิทยุและโทรคมนาคม (ปัจจุบันเรียก แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์) จากนั้นโรงเรียนการช่างหนองคายได้ดำเนินกิจการก้าวหน้ามาโดยตลอดมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนเกิดปัญหาเรื่อง การขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องมือเครื่องจักร ตลอดจนอาคารสถานที่ไม่เพียงพอ  จึงปรับการรับนักเรียนเข้าเรียน 2 ผลัด (เช้า - บ่าย)  และจำนวนครู - อาจารย์ก็เพิ่มมากขึ้น

พ.ศ. 2520 โรงเรียนการช่างหนองคาย ได้ยกฐานะเป็นโรงเรียนเทคนิคหนองคาย  

พ.ศ. 2522 โรงเรียนเทคนิคหนองคาย ได้ปรับยกฐานะเป็นวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522

พ.ศ. 2523 เปิดสอนคณะวิชาคหกรรม ได้แก่  แผนกวิชาผ้า แผนกวิชาอาหารและโภชนาการ และแผนกวิชาคหกรรมทั่วไป

พ.ศ. 2525 เปิดสอนคณะวิชาบริหารธุรกิจ ได้แก่ แผนกการบัญชี และแผนกการขาย

พ.ศ. 2527 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2 แผนกคือ แผนกช่างยนต์ และแผนกคหกรรม

พ.ศ. 2528 เปิดแผนกวิชาช่างเทคนิคอุตสาหกรรม

พ.ศ. 2533 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2 แผนก คือ แผนกวิชา การบัญชี และแผนกวิชาการตลาด

พ.ศ. 2534 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2 แผนก คือ แผนกวิชา ช่างไฟฟ้ากำลัง สาขาเครื่องกลไฟฟ้าและสาขาเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ และแผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์

พ.ศ. 2535 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกวิชาช่างก่อสร้างและวิทยาลัยเทคนิคหนองคายได้รับเลือกจากกรมอาชีวศึกษาให้เป็นสถานศึกษาดีเด่น ประเภทช่างอุตสาหกรรม

พ.ศ. 2536 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 3 แผนก คือแผนกวิชาช่างเทคนิคการผลิต แผนกวิชาช่างเทคนิคโลหะ แผนกวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ  นอกจากนี้ยังได้เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) 1 สาขา คือ สาขาเครื่องกล

พ.ศ. 2537 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคสมทบ คือ สาขา การจัดการงานบุคคล และในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2537 กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้วิทยาลัยเทคนิคหนองคายใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์  เพื่อเป็นที่จัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคหนองคายแห่งใหม่ (เป็นแห่งที่ 2)  ที่ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย (ห่างจากตัวจังหวัดไปตามเส้นทางอำเภอโพนพิสัย 7  กิโลเมตร)  มีเนื้อที่ 159 ไร่ 3 งาน 24  ตารางวา

พ.ศ. 2538 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคสมทบ คือ  สาขาการบัญชี

พ.ศ. 2539 วิทยาลัยอาชีวศึกษาหนองคาย ที่รวมอยู่กับวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษา สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม  พ.ศ. 2539  ดวยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2534 โดยแยกออกจากวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย และย้ายไป ณ ที่ทำการแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม  พ.ศ.  2541

พ.ศ.  2541 ได้ย้ายแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ไปยังพื้นที่แห่งใหม่ ซึ่งได้ก่อสร้างอาคารเรียนปฏิบัติการเสร็จเรียบร้อย มีพื้นที่ใช้สอย 2,400 ตารางเมตร และได้รับโครงการช่วยเหลือครุภัณฑ์จากโครงการเงินกู้กองทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น (OECF) ในวงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2541- 2543 ได้รับงบประมาณสิ่งก่อสร้างอาคารเรียนปฏิบัติการอีก 1 หลัง มีพื้นที่ใช้สอย 2,400 ตารางเมตร และได้ย้ายแผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง ไปเปิดทำการสอนที่วิทยาลัยเทคนิคหนองคายแห่งใหม่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2543          

พ.ศ. 2542 วิทยาลัยเทคนิคหนองคายได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัลพระราชทาน รางวัลชนะเลิศ ประเภทสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรี เขตการศึกษา 9

พ.ศ. 2542 เปิดทำการสอน ระดับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) สาขาวิชาโยธา

พ.ศ. 2546 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขางานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

พ.ศ. 2548 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขางานเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

พ.ศ. 2549 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) สาขาวิชาเทคนิคไฟฟ้าชั้นสูง

พ.ศ. 2548 เปิดศูนย์บัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาโท ตามโครงการความร่วมมือระหว่าง คณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  ณ  วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ในหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต (ค.อ.ม.) จำนวน 4 สาขา คือ สาขาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ

พ.ศ. 2551 เปิดทำการสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (เทคโนโลยีไฟฟ้า) หรือ (ทล.บ. เทคโนโลยีไฟฟ้า) เพื่อรองรับพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ให้จัดการอาชีวศึกษา ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 และมาตรา 8 ในระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการตามโครงการ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา   ณ  วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดยรับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 1 ห้อง 20 คน โดยเปิดทำการสอนภาคเรียนที่ 1/2551  เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2551 และให้รับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

พ.ศ. 2552 โครงการเปิดทำการสอนระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) เพิ่มเป็น 5 สาขา ในปีการศึกษา 2552 คือ สาขา ทล.บ.เทคโนโลยีไฟฟ้า (เดิม) ทล.บ. อุตสาหการ- เครื่องมือกล ทล.บ. อุตสาหการ- เชื่อมประสาน ทล.บ. โยธา และ ทล.บ. เครื่องกล  

ปีการศึกษา 2555 ได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ในโครงการคัดเลือกนักเรียน และสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลพระราชทานระดับ อาชีวศึกษา ขนาด ใหญ่ ประจำปีการศึกษา 2555

พ.ศ. 2557 เปิดทำการสอน  ระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) เปิดสอน 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีแม่พิมพ์ สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์  สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีก่อสร้าง สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ธุรกิจ  ตามโครงการหลักสูตรและแผนการศึกษาเทคโนโลยีบัณฑิต (ต่อเนื่อง) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1  ปีการศึกษา 2557

พ.ศ. 2558 โครงการเปิดทำการสอนปริญญาตรี หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) ภายใต้สถาบันอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 เปิดสอน 6 สาขาวิชา ได้แก่ เทคโนโลยีก่อสร้อง เทคโนโลยีแม่พิมพ์  เทคโนโลยีไฟฟ้า   เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์   เทคโนโลยียานยนต์   เทคโนโลยีสารสนเทศ

 วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ปัจจุบันมี 2 แห่ง แห่งเดิมตั้งอยู่เลขที่ 306 หมู่ 5 ถนนมิตรภาพ ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา และวิทยาลัยเทคนิคหนองคายแห่งที่ 2 มีเนื้อที่ 159 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา มีอาคารเรียน 3 หลัง โรงฝึกงาน 1 หลัง

การศึกษา

[แก้]

วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย สามารถอำนวยการสอนได้ 3 หลักสูตร 35 สาขาวิชาดังนี้

  • ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 12 สาขา
  • ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 17 สาชา
  • ระดับปริญญาตรี (ทล.บ.) 6 สาขา[1]

หลักสูตรปริญญาตรี

[แก้]
  • สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ (เทคโนโลยีบัณฑิต:ทล.บ.)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีแม่พิมพ์ (เทคโนโลยีบัณฑิต:ทล.บ.)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า (เทคโนโลยีบัณฑิต:ทล.บ.)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีก่อสร้าง (เทคโนโลยีบัณฑิต:ทล.บ.)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (เทคโนโลยีบัณฑิต:ทล.บ.)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (เทคโนโลยีบัณฑิต:ทล.บ.)
  • สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม (เทคโนโลยีบัณฑิต:ทล.บ.)


ทำเนียบผู้บริหาร วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย

[แก้]
รายนามผู้บริหาร วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย
รายนามผู้บริหาร วาระการดำรงตำแหน่ง
1.นายคำจันทร์ เวชชัชศาสตร์ 2 มกราคม พ.ศ. 2481 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2482
2.นายเสนาะ สุขพันธ์ 30 มีนาคม พ.ศ. 2482 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2485
3.นายสาย ประไพพงษ์ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2485 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485
4.นายเปื้อง นกสา 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 - 4 เมษายน พ.ศ. 2486
5.นายสำราญ โนนทะวงศ์ 5 เมษายน พ.ศ. 2486 - 11 กันยายน พ.ศ. 2495
6.นายชาย แย้มแก่นจันทร์ 12 กันยายน พ.ศ. 2495 - 30 เมษายน พ.ศ. 2496
7.นายวินิตย์ วรรณโก 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 - 30 เมษายน พ.ศ. 2501
8.นายประพงษ์ กลางท่าไค่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502
9.นายจำลอง อุณาพรหม 1 มกราคม พ.ศ. 2502 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2521
10.นายช่วง พรหมทะสาร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529
11.นายรุทร์ กล่อมชุ่ม 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538
12.นายโชค อ่อนพรม 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2540
13.นายทองทิพย์ ไชยทองสุก 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 - 30 กันยายน พ.ศ. 2546
14.นายเมธีศิน สมอุ่มจารย์ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2546 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2547
15.นายโชค อ่อนพรม 15 ธันวาคม พ.ศ. 2547 - 30 กันยายน พ.ศ. 2550
16.นายเมธีศิน สมอุ่มจารย์ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553
17.นายจีระพงษ์ หอมสุวรรณ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554
18.ดร.วรวิทย์ ศรีตระกูล 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554 - 4 สิงหาคม พ.ศ.2558
19.ดร.ณัฏฐพล พูนประสิทธิ์  5 สิงหาคม พ.ศ. 2558 - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
20.นายอุดมภูเบศวร์ สมบูรณ์เรส 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563
21.ดร.เดชวิชัย พิมพ์โคตร 29 ตุลาคม พ.ศ.2563 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ตำแหน่งผู้อำนวยการ เป็นคำนำหน้านามในขณะนั้น

อ้างอิง

[แก้]