ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:การก่อกวน

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วิกิพีเดีย:Vandalism)

การก่อกวน คือ การเพิ่ม ลบหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาซึ่งเป็นความพยายามโดยเจตนาเพื่อทำลายวิกิพีเดีย ตัวอย่างการก่อกวนตามแบบ เช่น การเพิ่มความลามกที่ไม่เกี่ยวข้องและอารมณ์ขันดิบลงในหน้า การทำหน้าว่างโดยผิดกฎ และการแทรกเรื่องไร้สาระอย่างชัดเจนลงในหน้า การสร้างหรือการใช้บัญชีผู้ใช้และเลขที่อยู่ไอพีอย่างละเมิดอาจครบองค์ประกอบการก่อกวนได้

การก่อกวนเป็นสิ่งต้องห้าม แม้จะส่งเสริมให้ผู้เขียนตักเตือนและอบรมผู้ก่อกวน แต่ผู้ดูแลระบบไม่จำเป็นต้องเตือนก่อนบล็อก (แม้ว่าปกติผู้ดูแลระบบจะบล็อกก็ต่อเมื่อตักเตือนไปแล้วหลายครั้ง)

ความพยายามโดยสุจริตใจใด ๆ เพื่อพัฒนาวิกิพีเดียไม่ถือเป็นการก่อกวน แม้ว่าหลงผิด เจตนาขัดต่อมติหรือรบกวนสงครามแก้ไขเหนือเนื้อหาก็มิใช่การก่อกวน อาจต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อแยกระหว่างการแก้ไขซึ่งมีประโยชน์ เป็นโทษแต่มีเจตนาดี และการก่อกวน การตีตราการแก้ไขโดยสุจริตใจอย่างผิด ๆ อาจถือเป็นอันตรายได้

คุณควรย้อนการแก้ไขที่ก่อกวนอย่างชัดเจนทันทีที่พบ โดยใช้ฟังก์ชันทำกลับหรือเครื่องมือต่อต้านการก่อกวน แล้วตักเตือนผู้เขียนที่ก่อกวน ให้แจ้งผู้ใช้ที่ก่อกวนอย่างต่อเนื่องแม้ได้รับคำเตือนแล้วแก่ผู้ดูแลระบบทางรายชื่อการก่อกวน และผู้ดูแลระบบควรเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องเนื้อหาและป้องกันการรบกวนต่อไปโดยบล็อกผู้ใช้คนดังกล่าวมิให้แก้ไข บัญชีซึ่งมีการใช้งานหลักหรือเฉพาะเพื่อก่อกวนอย่างชัดเจนหรือดำเนินกิจกรรมต้องห้ามอื่น ๆ อาจถูกบล็อกโดยไม่ต้องเตือน ซึ่งปกติไม่มีกำหนด

ลักษณะของการก่อกวน

ลักษณะต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการก่อกวนที่พบได้บ่อยในวิกิพีเดีย ทั้งนี้การกระทำอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรายการด้านล่างอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการก่อกวนก็ได้:

ทำหน้าว่าง
ลบข้อมูลทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ ซึ่งทำให้ข้อความสำคัญได้ถูกลบออกไป อย่างไรก็ตามการลบข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปนั้นบางครั้งไม่ถือว่าเป็นการก่อกวน หากมีข้อความก่อกวนอยู่แล้วก่อนหน้า หรือเป็นการลบข้อความที่ซ้ำซ้อนกับข้อความอื่นอย่างชัดเจน หรือการลบข้อความที่ละเมิดลิขสิทธิ์จากเว็บไซต์อื่น ตามนโยบายลิขสิทธิ์
สแปม
โดยการใส่ลิงก์ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้าไปในบทความ อาจจะเพื่อโฆษณาเว็บไซต์ของตนเอง
การแก้ไขไร้สาระ
การใส่ข้อความเขียนเล่น รวมทั้งข้อความและตัวอักษรที่ไม่มีความหมายลงไป ซึ่งในบางครั้งการแก้ไขเหล่านี้เกิดจากการทดลองเขียนจากผู้ใช้ใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ถือว่าเป็นการก่อกวนโดยเจตนา
การใส่คำหยาบสอดแทรก
ใส่คำด่า คำหยาบ หรือคำต้องห้าม เขียนเล่นลงไปโดยเขียนสอดแทรกในส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ คำอธิบายอย่างย่อ หรือใส่ในหน้าพูดคุย
การแอบก่อกวน
การก่อกวนประเภทนี้ส่วนใหญ่จะทำการแอบแก้ไขข้อมูลเพียงเล็กน้อยในบทความซึ่งยากต่อการสังเกต เช่นการแก้ไขจำนวนตัวเลข (เช่น แอบแก้ไขวันที่)
การก่อกวนหน้าผู้ใช้
ใส่คำด่าหรือคำพูดดูถูกต่อผู้ใช้ ในหน้าผู้ใช้หรือหน้าพูดคุยของผู้ใช้ (ดูวิกิพีเดีย:อย่าว่าร้ายผู้อื่น) การแก้ไขหน้าผู้ใช้ของคนอื่นเช่นการสะกดคำไม่ถือว่าเป็นการก่อกวน แต่โดยทั่วไปตามมารยาทในวิกิพีเดียควรจะขออนุญาตผู้ใช้คนนั้นก่อน
การก่อกวนผ่านภาพ
อัปโหลดภาพไม่เหมาะสม ภาพโป๊ ภาพผีสาง ภาพคนตาย และสอดแทรกไปในบทความที่ไม่เกี่ยวข้องถือเป็นการก่อกวนในวิกิพีเดีย อย่างไรก็ตามในวิกิพีเดียนั้น บางบทความที่เกี่ยวกับเพศศึกษาหรือศิลปะอาจจะมีภาพโป๊หรือเปลือยสอดแทรกอยู่
อัปโหลดภาพที่อาจละเมิดลิขสิทธิ์ติดต่อกัน
อัปโหลดหรือใช้สื่อในวิกิพีเดียที่ละเมิดนโยบายลิขสิทธิ์ หลังจากได้ถูกเตือนแล้ว ถือว่าเป็นการก่อกวน เนื่องจากว่าผู้ใช้อาจไม่ทราบว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะถือว่าเป็นการก่อกวน หากผู้ใช้ยังดำเนินการต่อไปหลังจากที่ได้มีการแจ้งผู้ใช้ให้ทราบแล้ว
การเจตนาใส่ป้ายผิด
การเจตนาใส่ป้ายผิด เช่น ป้ายลบ หรือป้ายเตือนก่อกวนกับผู้ใช้ที่ไม่ได้ก่อกวน นั้นถือว่าเป็นการก่อกวนต่อวิกิพีเดียในภาพรวม (ดูวิกิพีเดีย:อย่าว่าร้ายผู้อื่น)
เจตนาย้ายป้ายออก
การลบป้าย {{ลบ}} {{ละเมิดลิขสิทธิ์}} หรือป้ายอื่นที่ใกล้เคียงกัน โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการลบบทความอาจถือเป็นการก่อกวนได้ โปรดทราบว่าผู้ใช้ใหม่อาจไม่เข้าใจระบบในวิกิพีเดีย และควรให้ความเห็นใจ พร้อมทั้งแจ้งผู้ใช้ให้ทราบโดยชี้แนะไปหน้าที่อธิบายถึงนโยบายดังกล่าว
เจตนาใส่ลิงก์ไปผิด
การแก้ไขลิงก์ในวิกิพีเดียหรือใส่ลิงก์ที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยบางครั้งการแสดงผลเหมือนเดิมแต่หน้าปลายทางเป็นหน้าที่ไม่เกี่ยวข้อง
เจตนาเปลี่ยนชื่อบทความ หรือเปลี่ยนทางผิด
การเปลี่ยนชื่อบทความ หรือเปลี่ยนทางไปอีกชื่อที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เหมาะสม นั้นอาจถือว่าเป็นการก่อกวนเพื่อหลอกผู้ใช้ไปหน้าที่ผิด หรือสร้างความเข้าใจผิด
บิดเบือนความเห็นผู้อื่น
การแก้ไขข้อความพูดคุยหรือความเห็นของผู้อื่นในหน้าพูดคุย โดยเจตนาให้ผู้อ่านเข้าใจผิด ยกเว้นเสียแต่ว่าการลบคำหยาบหรือคำด่าออกจากบทพูดคุย อย่างไรก็ตามในวิกิพีเดียไม่สนับสนุนให้ผู้ใช้แก้ไขตัวสะกดผิดของผู้ใช้อื่น
การสร้างเรื่องหลอกลวง
การสร้างเรื่องหลอกลวงต่าง ๆ เช่น บุคคลที่ไม่มีตัวตน สถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง หรือข่าวลวง เพื่อให้ผู้อ่าน หรือผู้ใช้อื่น ๆ หลงเชื่อและเข้าใจผิดนั้นถือเป็นการก่อกวน เว้นแต่เรื่องหลอกลวงที่โดดเด่นพอที่จะปรากฎในวิกิพีเดีย หรือเรื่องดังกล่าวปรากฎอยู่ในบันเทิงคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง

อะไรที่ไม่ใช่การก่อกวน

อย่างไรก็ตามบางครั้งอาจเกิดความเข้าใจผิดกันได้ว่าสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่มีลักษณะคล้ายการก่อกวน

การทดลองเขียนจากผู้ใช้ใหม่
บางครั้งการแก้ไขจากผู้ทดลองเขียนใหม่ อาจดูเหมือนเป็นการก่อกวน ซึ่งควรจะแนะนำให้ผู้ใช้ใหม่ทดลองเขียนในหน้า ทดลองเขียน โดยควรจะต้อนรับผู้เขียนใหม่และใส่ป้าย {{test}} เข้าไปเตือน ซึ่งผู้ใช้ใหม่ที่มีเจตนาดีจะหยุดการแก้ไข และอาจไปทดลองเขียนก่อน
การใช้คำผิดและใช้คำสั่งผิด
ผู้เขียนใหม่ในวิกิพีเดียอาจจะใช้คำสั่งผิด หรือการจัดรูปแบบหน้าผิด โดยอาจจะสลับส่วน "ดูเพิ่ม" กับ "แหล่งข้อมูลอื่น" หรืออาจจะใส่คำสั่งทำตัวหนากับทำตัวเอียงผิด ซึ่งควรจะเข้าไปแนะนำการใช้งาน และอาจจะชี้ให้เข้าไปอ่านเพิ่มเติมที่ วิกิพีเดีย:การแก้ไขหน้า หรือ วิกิพีเดีย:วิธีการแก้ไขหน้าพื้นฐาน
การใส่ข้อความไม่เป็นกลาง
การใส่ข้อความไม่เป็นกลางนั้นไม่ถือว่าเป็นการก่อกวนในวิกิพีเดีย เว้นเสียแต่ว่าใส่ข้อความซ้ำแล้วซ้ำอีกหลังจากที่ถูกลบออก
ใส่ข้อมูลผิดพลาด
บางครั้งผู้ใช้บางคนใส่ข้อความที่ไม่ถูกต้องเข้าไปโดยอาจจะเชื่อว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขนี้ไม่ถือว่าเป็นการก่อกวน เพราะเนื่องจากต้องการปรับปรุงวิกิพีเดียให้ดีขึ้น ซึ่งถ้าคุณมีข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมแหล่งอ้างอิง ควรที่จะอภิปรายทั้งสองฝ่ายและแก้ไขให้ถูกต้อง
ใส่ข้อความภาษาอื่นแทรก
การใส่ข้อความในภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยแทรกในบทความหลายส่วนไม่ถือเป็นการก่อกวน โดยผู้เขียนอาจจะมีเจตนาใส่ภาษาอื่นเพื่อไว้เป็นการอ้างอิง ยกเว้นเสียแต่ว่าใส่ภาษาอื่นหมดทั้งหมดหรือใส่ภาษาอื่นเป็นภาษาหลักในหน้านั้น

ตรวจสอบการก่อกวน

  • ตรวจดูหน้าเปลี่ยนแปลงล่าสุด โดยใช้ลิงก์เปลี่ยนแปลงล่าสุดเพื่อตรวจหาการแก้ไขที่น่าสงสัย
  • ตรวจรายการเฝ้าดูของคุณ
  • อาจตรวจสอบประวัติการแก้ไขของหน้าเพื่อย้อนดูการแก้ไขผิดปกติที่ผ่าน ๆ มา และเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าที่จะมีการทำกลับ หรือกลุ่มการแก้ไขที่ไม่มีพิรุธ วิธีนี้สามารถตรวจสอบการแก้ไขที่ผิดปกติหลายครั้งได้ในคราวเดียว ขนาดของบทความ ซึ่งมีหน่วยเป็นไบต์ มักจะมีขนาดเพิ่มขึ้นทีละน้อยเมื่อเวลาผ่านไป การที่บทความมีขนาดลดลงไปมากอย่างฉับพลันอาจบ่งชี้ถึงการก่อกวน

จากวิธีการข้างต้น อาจพบตัวอย่างของการแก้ไขที่ผิดปกติเช่น การแก้ไขจากไอพี, การทำลิงก์แดง, หรือจากผู้ใช้ลงทะเบียนที่ใช้ชื่อประหลาด ๆ การคลิกดูทุกการแก้ไขในรายการเฝ้าดู, ประวัติหน้า ฯลฯ โดยให้ความสงสัยว่าการแก้ไขนั้นเป็นการก่อกวนมีน้อยที่สุด ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้ใช้สามารถทราบว่าความย่อการแก้ไขแบบใดควรค่าที่จะทำการตรวจสอบต่อไป และแบบใดที่อาจละเลยได้ ความย่อการแก้ไขเช่น "เพิ่มข้อมูล" หรือ "แก้ไข" เนื่องจากเป็นความย่อที่มักจะนึกได้อันดับต้น ๆ พึงระลึกว่าไม่ควรเข้าหาผู้ใช้ไอพีโดยที่ที่ตั้งสมมติฐานไปก่อนว่ามีจุดประสงค์เพื่อก่อกวน แม้ว่าผู้ก่อกวนบางรายจะทำการก่อกวนโดยไม่ได้ลงทะเบียนผู้ใช้ กระนั้นผู้ใช้ไอพีบางรายก็มีส่วนร่วมอันเป็นประโยชน์ต่อวิกิพีเดีย โปรดตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของหน้า จากนั้นจึงทำการพิจารณา แทนที่จะดูว่าใครเป็นผู้แก้ไข หรือจากความย่อการแก้ไข

  • ดูวิธีใช้:หน้าที่ลิงก์มา
  • วิธีใช้:ความย่อการแก้ไขอัตโนมัติก็อาจช่วยผู้ใช้ตรวจสอบการก่อกวนได้
  • ตรวจปูมตัวกรองการละเมิดกฎ
  • เฝ้าดูการแก้ไขที่ตัวกรองการละเมิดกฎทำป้ายระบุไว้ อย่างไรก็ดี การแก้ไขจำนวนมากที่มีป้ายระบุก็ใช่ว่าเป็นการก่อกวน ฉะนั้นจึงไม่ควรทำการย้อนโดยที่ยังไม่ได้อ่านการแก้ไข
  • การแก้ไขที่ดูเหมือนน่าเชื่อถือ หรือการแก้ไขเล็กน้อย ที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงหรือเอกสารมารองรับ โดยเฉพาะที่ไม่มีความย่อการแก้ไขกำกับมา อาจเป็นนัยของการก่อกวน การเปลี่ยนแปลงตัวเลข เช่นเพิ่มหรือลดทีละ 1 เป็นพฤติการณ์ที่พบได้บ่อย

วิธีโต้ตอบการก่อกวน

หากคุณพบว่ามีการก่อกวนในบทความ สิ่งง่ายที่สุดที่สามารถทำได้คือการลบออกหรือทำกลับ แต่บางครั้งการก่อกวนก็เกิดขึ้นซ้อนกับการก่อกวนที่เกิดขึ้นมาก่อนและยังไม่ถูกตรวจพบ เป็นชั้น ๆ ไป บางครั้งผู้ใช้ก็ทำการแก้ไขไปโดยไม่ทราบว่ามีการก่อกวนอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งสามารถทำให้การตรวจสอบและลบการก่อกวนกวนทำได้ยากขึ้น ด้วยเหตุที่อยู่ปนกันกับการแก้ไขอื่น ๆ บางครั้งบอตก็พยายามแก้ความเสียหายที่ลุกลาม แต่กลับกลายเป็นว่าทำให้เสียหายยิ่งกว่าเดิม ตรวจสอบประวัติของหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้ย้อนการแก้ไขกลับไปยังรุ่นที่ "สะอาด" ของหน้า ในกรณีที่คุณไม่แน่ใจว่ารุ่นไหนเหมาะสมที่สุด ให้คุณใช้วิจารณญาณอย่างสุดความสามารถ และทิ้งข้อความไว้ในหน้าอภิปราย (พูดคุย) ของบทความ เพื่อผู้ใช้ที่คุ้นเคยกับบทความนั้นมากกว่าจะสามารถระบุปัญหาได้ หรือคุณอาจลบการก่อกวนออกด้วยมือโดยไม่ต้องใช้การทำกลับก็ได้เช่นกัน

หากคุณพบการก่อกวนบนหน้าสำหรับแสดงการเปลี่ยนแปลง (เช่นบนรายการเฝ้าดูของคุณ) ขอให้ย้อนการก่อกวนนั้นทันที คุณสามารถใช้ปุ่ม "ทำกลับ" (ซึ่งจะสร้างความย่อการแก้ไขโดยอัตโนมัติ) และทำเครื่องหมายว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย การตรวจดูประวัติการแก้ไขของหน้าจะช่วยระบุว่าการแก้ไขครั้งก่อน ๆ โดยผู้ใช้รายเดียวกันนี้หรือรายอื่น แสดงให้เห็นลักษณะของการก่อกวนหรือไม่ โปรดลบการก่อกวนทุกอย่างที่คุณสามารถระบุได้ออก

สำหรับหน้าที่สร้างขึ้นใหม่ ถ้าการแก้ไขทุกครั้งเป็นการก่อกวนทั้งสิ้น ให้ร้องขอการลบแบบเร่งด่วนด้วยการติดป้าย {{ลบ|WP:ท3}}

การย้อนกลับการก่อกวนสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย สคริปต์จัดให้ ซึ่งผู้ใช้ลงทะเบียนสามารถติดตั้งได้ สคริปต์นี้มีฟังก์ชันย้อนรวดเดียวสำหรับย้อนข้ามการก่อกวนและการแก้ไขที่รบกวนระบบอื่น ๆ ได้หลายรุ่นในปุ่มเดียว

หากคุณพบว่าผู้ใช้รายหนึ่งกระทำการก่อกวนบทความ คุณอาจตรวจสอบการแก้ไขที่ผ่านมาของเขาด้วย (คลิกที่ "การมีส่วนร่วมของผู้ใช้" บนแถบด้านซ้ายของหน้าจอ) ถ้าการแก้ไขส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเป็นการก่อกวน คุณอาจรายงานผู้ใช้นี้ที่ วิกิพีเดีย:รายชื่อการก่อกวน เพื่อให้ผู้ดูแลระบบจัดการบล็อกผู้ใช้นั้น ในกรณีนี้คุณยังควรส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ก่อกวนก่อน เว้นเสียแต่ว่ามีเหตุเร่งด่วนที่จะต้องบล็อกผู้ใช้นี้ (ผู้ก่อกวนที่แกล้งใส่ข้อความขำขันโดยทั่วไปมักจะเลิกก่อกวนไปเองภายหลังจากที่ได้รับการแจ้งเตือน) ในประการอื่น คุณสามารถทิ้งข้อความเตือนที่เหมาะสมไว้บนหน้าพูดคุยของผู้ใช้นั้น พึงระลึกว่าผู้ใช้สามารถลบข้อความใด ๆ บนหน้าพูดคุยของเขาเองได้ ทำให้ข้อความดังกล่าวปรากฏอยูแต่ในประวัติของหน้า หากว่าผู้ใช้ยังคงทำการรบกวนระบบทั้งที่ได้รับคำเตือนแล้ว ให้รายงานผู้ใช้นั้นที่ วิกิพีเดีย:แจ้งผู้ดูแลระบบ/แจ้งความ ที่ซึ่งผู้ดูแลระบบจะทำการพิจารณาว่าจะบล็อกผู้ใช้นั้นหรือไม่

สำหรับการก่อกวนซ้ำซากโดยผู้ใช้ไอพี อาจพิจารณาการติดตามที่อยู่ไอพี (เช่น http://whois.domaintools.com/) จากนั้นเพิ่ม {{whois|Name of owner}} ไปยังหน้าพูดคุยของไอพีนั้น หากปรากฏว่าเป็นที่อยู่ไอพีที่ใช้ร่วมกัน ให้เพิ่ม {{SharedIP|Name of owner}} หรือ {{Shared IP edu|Name of owner}} แทน

ตรวจสอบ ไอพีแอดเดรส

คุณอาจจะตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ก่อกวน ได้โดยการตรวจสอบจากแหล่งต่อไปนี้:

  • ARIN (ทวีปอเมริกาเหนือ)
  • RIPE (ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง)
  • APNIC (เอเชียแปซิฟิก)
  • LACNIC (ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน)
  • AfriNIC (แอฟริกา)

ดูเพิ่ม