ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:อย่าสร้างเรื่องหลอกลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรื่องหลอกลวง (hoax) คือความพยายามลวงผู้ชมให้เชื่อว่าบางสิ่งที่เป็นเท็จนั้นเป็นจริง เนื่องจากวิกิพีเดียเป็น "สารานุกรมที่ทุกคนแก้ไขได้" จึงอาจถูกใช้ในทางที่ผิดเพื่อสร้างเรื่องหลอกลวง

ย้ำอีกครั้ง

[แก้]

โปรดอย่าพยายามเพิ่มสารสนเทศที่ผิดเข้ามายังวิกิพีเดียเพื่อลองภูมิของเราในการตรวจจับและนำออก เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้ว และผลก็ออกมาต่าง ๆ กัน เรื่องหลอกลวงส่วนใหญ่ถูกแจ้งลบในเวลาอันสั้นหลังถูกสร้างขึ้น

เคยมีการทดลอง ทดสอบ และยืนยันว่าการแทรกเรื่องหลอกลวงในวิกิพีเดียนั้นเป็นไปได้ เช่นเดียวกับการแทรกถ้อยคำหยาบโลน นี่เป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสารานุกรมเสรีที่ทุกคนแก้ไขได้ เรื่องหลอกลวงมิใช่อื่นใดนอกจากการก่อกวนในรูปแบบที่แอบแฝงมากกว่า ประจักษ์ชัดน้อยกว่า เรื่องหลอกลวงในวิกิพีเดียถือเป็นการก่อกวน และผู้สร้างเรื่องจำต้องถูกบล็อกและแบน (ban)

สารสนเทศที่ผิดในวิกิพีเดียทำให้ผู้อ่านหลงผิด ทำให้พวกเขาผิดพลาดในโลกแห่งความจริง เช่น เสียความรู้สึก อับอายต่อสาธารณะ ตีพิมพ์หนังสือใหม่ เสียคะแนนการบ้านหรืองานจากโรงเรียน เป็นต้น บทความบางสาขา เช่น หัวข้อแพทยศาสตร์ อาจถึงขั้นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ยิ่งไปกว่านั้น การคงไว้และพัฒนาบทความเรื่องหลอกลวงต้องใช้ทรัพยากรซึ่งอาสาสมัครน่าจะได้อุทิศไปกับหัวข้อที่เป็นประโยชน์ แม้ว่าการอ่านวิกิพีเดียอย่างมีวิจารณญาณจะสำคัญ สารนี้ก็ควรถ่ายทอดโดยตรงดีที่สุด มิใช่การหลอกลวง

หากคุณสนใจว่าวิกิพีเดียแม่นยำเพียงใด วิธีการทดสอบที่สร้างสรรค์กว่าคือพยายามมองหาถ้อยความที่ไม่แม่นยำที่มีอยู่แล้วในวิกิพีเดีย แล้วพยายามตรวจสอบว่าข้อความเหล่านั้นปรากฏอยู่นานเท่าใดแล้ว และแก้ไขให้ถูกต้อง หากเป็นไปได้

การพิสูจน์ยืนยันได้

[แก้]

วิกิพีเดียต้องการข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้จากแหล่งข้อมูลตีพิมพ์ที่น่าเชื่อถือ หากมีการคัดค้าน การพิสูจน์ว่าข้ออ้างในบทความเป็นจริงจะเป็นภาระของผู้ประพันธ์ดั้งเดิม ฉะนั้น การพยายามสานต่อเรื่องหลอกลวงจะไร้ผล เมื่อผู้เขียนวิกิพีเดียตรวจสอบแล้วว่าประชาชนทั่วไปมิได้เชื่อเรื่องหลอกลวงนั้นภายนอกวิกิพีเดีย ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้หลอกลวงสามารถทำให้สาธารณชนหลงเชื่อได้ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเขียนบทความเรื่องนั้นเอง เพราะย่อมมีผู้อื่นเขียนให้

เรื่องหลอกลวงและบทความ "เกี่ยวกับ" เรื่องหลอกลวง

[แก้]

วิกิพีเดียมีบทความเกี่ยวกับเรื่องหลอกลวงอันโดดเด่น ซึ่งได้อธิบายว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวง เช่น ข่าวลวงเรื่องไดไฮโดรเจนมอนอกไซด์ แตกต่างจากบทความที่พยายามนำเสนอว่าเรื่องหลอกลวงเป็นจริง

เรื่องหลอกลวงต้องโดดเด่นเพียงพอที่จะปรากฏอยู่ในวิกิพีเดีย ไม่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น เรื่องหลอกลวงอาจได้รับความสนใจจากสื่ออย่างต่อเนื่อง มีผู้เชื่อหลายพันคน ซึ่งรวมนักวิชาการ หรือมีผู้เชื่อเป็นเวลาหลายปี

การจัดการกับเรื่องหลอกลวง

[แก้]

หากคุณพบเห็นบทความหรือไฟล์ที่อาจเป็นเรื่องหลอกลวง ให้ทำเครื่องหมายด้วย {{หลอกลวง}} หรือ {{hoax}} และหากพบว่าเป็นเรื่องหลอกลวงโดยแท้ควรเสนอให้ลบ การเตือนผู้ใช้ที่เผยแพร่ก็เหมาะสมเช่นกัน

เรื่องที่สงสัยว่าเป็นการหลอกลวงควรสืบสวนอย่างถี่ถ้วน เฉพาะบางกรณีที่เป็นเรื่องหลอกลวงที่โจ่งแจ้งเท่านั้นที่ควรติดป้ายแจ้งลบทันที

อีกประการหนึ่ง ข้อความที่อัศจรรย์พันลึกอาจเป็นการพรรณนาในบันเทิงคดีที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ และหากพบ ควรเรียบเรียงบทความใหม่ด้วยมุมมองในความเป็นจริง