ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:การถูกคุกคามอันเกี่ยวเนื่องจากแก้ไขวิกิพีเดีย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทุกหน้าในวิกิพีเดียแสดงประวัติการแก้ไขเป็นสาธารณะโดยมีข้อมูลสามส่วน ได้แก่ ชื่อผู้ใช้หรือไอพีของผู้แก้ไข เวลาที่บันทึก และเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแก้ไขนั้น ข้อมูลทั้งสามส่วนประกอบกันหรือส่วนใดส่วนหนึ่งรวมกันเป็นร่องรอยทางดิจิทัลที่อาจใช้เพื่อสืบทราบที่อยู่ผ่านอินเทอร์เน็ต [en] หรือ ระบุตัวตนของผู้ทำการแก้ไขได้ การสืบทราบที่อยู่หรือระบุตัวตนดังกล่าวอาจนำไปสู่การคุกคามอันไม่พึงประสงค์จากหลายภาคส่วนทั้งที่เป็นปัจเจกชน องค์กร รวมไปถึงตัวแสดงที่เป็นรัฐ [en] และอาจส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบประวัติ [en]ของผู้ทำการแก้ไขดังกล่าวในโลกความเป็นจริง เช่น ในการสมัครงาน การขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า)

สภาพปัญหาและภัยคุกคาม

วิสัยทัศน์ นโยบายและแนวปฏิบัติ

วิสัยทัศน์ของมูลนิธิวิกิมีเดีย โลกที่มนุษย์ทุกคนสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ทั้งมวลได้อย่างเสรี อยู่บนพื้นฐานของสิทธิมุษยชนและก่อให้เกิดสิทธิมนุษยชน ส่วนใหญ่การแบ่งปันความรู้ดังกล่าวไม่เป็นที่ถกเถียงกันและไม่ส่งผลกระเทือนต่อสิทธิของใครเป็นพิเศษ แต่ในหลายกรณีเนื้อหาที่เขียนหรือกระบวนการอภิปรายเพื่อหาข้อสรุปในการเขียนเนื้อหาบนวิกิพีเดียอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิ ความรู้สึก หรือผลประโยชน์ของบุคคลหรือองค์กรได้ ในการนี้วิกิพีเดียภาษาไทยมีนโยบายและแนวปฏิบัติอันได้ผ่านการรับรองจากชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทยแล้วเพื่อให้เนื้อหาและปฏิสัมพันธ์ของผู้เขียนบนเว็บไซต์ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว เนื้อหาหรือการหารือที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติไม่ควรส่งเข้ามาบันทึกในวิกิพีเดีย หากตรวจพบจะถูกดำเนินการตามและนโยบายการลบบทความ นโยบายการบล็อกและนโยบายการแบน [en]ผู้ใช้

ตัวอย่างนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
  1. วิกิพีเดีย:อะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย มีหัวข้อสำคัญพึงพิจารณาเกี่ยวกับเนื้อหาบนวิกิพีเดีย ได้แก่ วิกิพีเดียไม่มีการเซ็นเซอร์ วิกิพีเดียไม่ใช่อนาธิไปไตยหรือที่พูดข้อความเสรี วิกิพีเดียไม่ใช่ประชาธิปไตย วิกิพีเดียไม่ใช่องค์กรที่มีลำดับขั้นตัดสินใจซับซ้อน วิกิพีเดียไม่ใช่ห้องทดลอง และวิกิพีเดียไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือบังคับ
  2. วิกิพีเดีย:การหมิ่นประมาท เนื้อหาที่บันทึกลงในวิกิพีเดียไม่เป็นการกล่าวโทษ สบประมาท กลั่นแกล้ง ใส่ร้าย สร้างความเสื่อมเสียหรือเสียหาย แก่ผู้อื่น
  3. สำหรับปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครและผู้อ่าน วิกิพีเดียภาษาไทยมีนโยบายอย่าว่าร้ายผู้อื่นและงดขู่ดำเนินคดี และมูลนิธิวิกิมีเดียมีนโยบายพื้นที่อันเป็นมิตร
  4. หากเกิดความขัดแย้งที่ไม่อาจตกลงกันได้มีนโยบายการระงับข้อพิพาทเพื่อรองรับปัญหาส่วนใหญ่ไว้แล้ว

สภาพปัญหาและภัยคุกคาม

อย่างไรก็ดี แม้เนื้อหาจะผ่านตามเงื่อนไขตามนโยบายและแนวปฏิบัติ แต่อาจไม่เป็นที่พึงประสงค์ของบุคคลหรือองค์กรบางกลุ่ม ซึ่งต้องการให้มีหรือไม่มีเนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามประสงค์ของตน หากแต่วิกิพีเดียภาษาไทยไม่ดำเนินการให้เป็นได้ดั่งใจแล้วก็ใช้วิธีการคุกคามขู่เข็ญเพื่อให้ได้ดังต้องการ การใช้วิธีการคุกคากขู่เข็ญดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในภัยร้ายต่อความอยู่รอดของวิกิพีเดีย

ทั้งนี้ ประเทศไทยมิใช่เพียงประเทศเดียวที่มีการขู่เข็ญคุกคามอาสาสมัครวิกิพีเดียและอาสาสมัครวิกิพีเดียก็ไม่ใช่เพียงเป้าหมายเดียวของการขู่เข็ญคุกคามเหล่านั้น ปัญหาการคุกคามอันเกี่ยวเนื่องจากวิกิเดียภาษาไทยไม่อาจแยกออกได้จากสถานการณ์การตรวจพิจารณาในประเทศไทย (รวมถึง การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย) และเสรีภาพสื่อ อันเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบุคคลหรือองค์การหลายแห่งเลือกที่จะปิดกั้นตนเองหรือเลือกที่จะไม่พูด ไม่เขียน เพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคามและปัญหาที่ตามมา

ตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและในประเทศไทย

โดยทั่วไปแล้วการเปิดเผยกรณีที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสเป็นสาธารณะมักเป็นประโยชน์แก่การทำความเข้าใจและตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่มีเหตุผลบางประการที่ไม่ควรยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องหรือตัวอย่างที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น

  1. คดีความเกี่ยวกับมูลนิธิวิกิมีเดีย [en] มีกรณีสำคัญ ได้แก่ คดีในประเทศเยอรมนีเกี่ยวกับผู้ร้องที่ต้องการให้ลบข้อมูลตนเองออกจากบทความ แต่กลับกลายเป็นดึงความสนใจอย่างกว้างขวางแก่สาธารณชนในประเด็นที่เกิดขึ้น (เรียกว่าปรากฏการณ์สไตรแซนด์) ในกรณีนี้เป็นสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่พ้นโทษกับเสรีภาพในการพูด/เสรีภาพของสื่อ (คำตัดสิน ค.ศ. 2008 ศาลให้ผู้ร้องชนะ แต่คำตัดสินต่อมาใน ค.ศ. 2009 และ ค.ศ. 2018 ศาลยกคำร้องที่ให้เว็บทั้งหลายมีหน้าที่ลบข้อมูลของผู้ร้อง)
  2. ในกรณีร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (SOPA/PIPA) อันเป็นร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่มีนัยเป็นการตรวจพิจารณาทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ ค.ศ. 2011–12 มูลนิธิวิกิมีเดียและโครงการวิกิพีเดียในหลากหลายภาษาได้ร่วมกันปิดเว็บเป็นสีดำเป็นเวลา 24 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 05:00 UTC ของวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 เพื่อคัดค้านร่างรัฐบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมาร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวจึงได้ตกไปจากการพิจารณา
  3. ในประเทศไทยมีข่าวผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ระดับโลกและสื่อมวลชนในประเทศถูกเรียกพบโดยหน่วยงานของรัฐอยู่เป็นระยะ มูลนิธิวิกิมีเดียมิได้มีสำนักงานตัวแทนอยู่ในประเทศไทยและไม่เคยถูกเรียกไปพบ แต่อาสาสมัครในชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทยและโครงการพี่น้องได้รับการติดต่อ สอบถาม และถูกเรียกไปพบ ทั้งหลายคน หลายครั้ง ผ่านหลายช่องทาง โดยหลายหน่วยงานของรัฐบาลไทย รวมถึงยังได้รับการติดต่อที่ไม่ได้ร้องขอจากบุคคลหรือองค์กรอื่นในภาคเอกชนอีกด้วย
  4. ในประเทศไทยมีรายงานข่าว การแจ้งความ คุกคาม ขู่เข็ญ บุกเข้าจับกุมบุคคลอันเกิดจากการแก้ไขวิกิพีเดียภาษาไทย เช่น กรณีการแก้ไขบทความยง ภู่วรวรรณ (พ.ศ. 2564–65) สุขวิช รังสิตพล (พ.ศ. 2561–65) หรือ อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ซึ่งจำเป็นต้องมีการเซ็นเซอร์ชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บางคน ดูที่ [1] พ.ศ. 2563) และยังไม่รวมกรณีที่รู้กันภายในอีกหลายกรณี
  5. มีรายการกรณีดังอันเกี่ยวข้องกับวิกิพีเดียในหลายประเทศทั่วโลกจำนวนมาก หลายกรณีเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและการคุกคาม

ควรเขียนหรือไม่? ควรเขียนด้วยไอพีหรือบัญชีผู้ใช้?

ถ้าสิ่งที่ท่านกำลังจะเขียนไม่สอดคล้องกับนโนบายและแนวปฏิบัติของวิกิพีเดียภาษาไทยย่อมไม่อาจรับได้ในวิกิพีเดียแน่นอน หากแม้ว่าสิ่งที่ท่านกำลังจะเขียนเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามโนยายและแนวปฏิบัติ ท่านอาจต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องความปลอดภัยของตนเองด้วย เพราะท่านมีโอกาสถูกคุกคามจากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่รู้สึกไม่พอใจเนื้อหาที่ท่านเขียน มูลนิธิวิกิมีเดีย องค์กรพันธมิตร อาสาสมัครของทั้งวิพีเดียและโครงการพี่น้อง รวมถึงผู้อ่านที่ได้รับความรู้หรือข้อเท็จจริงจากสิ่งที่ท่านเขียน อาจจะซาบซึ่งและขอบคุณในความเสียสละของท่านแต่ไม่สามารถช่วยเหลือท่านได้เสมอไป

วิกิพีเดียและโครงการพี่น้องไม่ได้ห้ามการเขียนด้วยไอพี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทยสนับสนุนให้อาสาสมัครมีบัญชีผู้ใช้เป็นของตนเองที่สามารถใช้งานได้ในทุกโครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย เหตุผลหลักที่แนะนำเช่นนั้นเพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

ข้อความสำคัญ: แม้จะมีความพยายามในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของอาสาสมัครและผู้ใช้งาน แต่สิทธิความเป็นส่วนบุคคลที่ท่านได้รับอาจไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านเชื่อหรือคาดหมาย วิธีการที่รักษาความเป็นส่วนบุคคลไว้ได้มากที่สุดคือใช้บัญชีผู้ใช้อันเป็นนามแฝงที่ใช้กับวิกิพีเดียและโครงการพี่น้องโดยไม่ซ้ำกับบัญชีผู้ใช้ของท่านที่อื่นใดเลย ปกติผู้อื่นจะไม่อาจทราบข้อมูลส่วนตัวที่ใช้บัญชีผู้ใช้ได้ หากท่านไม่ได้เป็นผู้โพสต์ลงในวิกิพีเดียเอง เพราะฉะนั้นท่านพึงเข้าใจว่าการแก้ไขภายใต้ชื่อผู้ใช้จะช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของท่านได้ ตราบเท่าที่ท่านไม่ได้เผลอเรอปล่อยข้อมูลของตนเองไม่ว่าในวิกิพีเดีย ช่องทางอื่นทั้งบนอินเทอร์เน็ตและโลกแห่งความเป็นจริง

การเขียนด้วยไอพี

  1. การเขียนด้วยไอพีในที่นี้หมายถึงการแก้ไขวิกิพีเดียโดยมิได้ล็อกอิน หน้าส่วนใหญ่ของวิกิพีเดียภาษาไทยสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการนี้ ตามหลักการพื้นฐานของสารานุกรมเสรีที่ทุกคนสามารถแก้ไขได้ การแก้ไขเนื้อหาหรือความคิดเห็นของท่านมีคุณค่าได้เช่นเดียวกับสิ่งที่บันทึกจากบัญชีผู้ใช้
  2. เลขที่อยู่ไอพี เวลาที่บันทึก และข้อมูลที่แก้ไข จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติสาธารณะของหน้าที่ท่านทำการแก้ไข วิกิพีเดียภาษาไทยมีเครื่องมือมาตรฐานเบื้องต้น มีเดียวิกิ:Sp-contributions-footer-anon ช่วยให้ทราบว่าเลขที่อยู่ไอพีดังกล่าวมาจากผู้ให้บริการรายใด มีที่ตั้งอย่างไร ทั้งนี้ โดยหลักการ ข้อมูลเลขที่อยู่ไอพีและเวลาดังกล่าวเพียงพอที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะระบุว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นของใครส่งมาจากที่ใด
    1. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีน้อยรายและอาจให้ข้อมูลแก่เอกชนหากมีการบังคับใช้กฎหมายหรือแก่ภาครัฐหากมีการขอความร่วมมือ
    2. หากท่านใช้บริการผ่านพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์หรือเครือข่ายส่วนตัวเสมือน เลขที่อยู่ไอพีของท่านก็จะเป็นไปตามผู้ให้บริการนั้น
    3. เพื่อป้องกันสแปมวิกิพีเดียมีวิธีการในการปิดกั้นพร็อกซีเปิดที่มักใช้ในทางก่อกวน

การเขียนด้วยบัญชีผู้ใช้

  1. หากท่านสร้างบัญชีผู้ใช้และล็อกอินด้วยบัญชีที่สร้างขึ้นก่อนทำการบันทึก ประวัติที่แสดงผลเป็นสาธารณะจะกลายเป็นชื่อผู้ใช้ (ซึ่งไม่ซ้ำกันกับใครในวิกิพีเดียและโครงการพี่น้อง) เวลา และเนื้อหาที่ท่านแก้ไข ปัญหาที่อาจเกิดจากเลขที่อยู่ไอพีจะแทนด้วยปัญหาจากชื่อผู้ใช้ของท่านแทน
  2. โดยหลักการแล้วชุมชนอาสาสมัครวิกิพีเดียและโครงการพี่น้องคาดหมายว่าท่านจะใช้บัญชีผู้ใช้เพียงบัญชีเดียว และกำหนดชื่อผู้ใช้ให้เป็นไปตามนโยบาย หากท่านใช้ชื่อผู้ใช้เดียวกับสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนพ้อง ส่วนคล้าย หรือตรงกับชื่อในชีวิตจริงของท่าน รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในกล่องผู้ใช้อาจทำให้บุคคลอื่นรวมข้อมูลประกอบกันเพื่อสืบรู้ตัวตนของท่านได้
    • หากลืมรหัสผ่านยังสามารถกู้คืนได้ทางอีเมล อีเมลที่ถูกต้องและใช้งานได้ต่อเนื่องจึงสำคัญมากในตอนที่สร้างบัญชีผู้ใช้
    • หากต้องการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ใช้ ดูวิธีการได้ที่นี่
  3. การมีส่วนร่วมทั้งหมดของท่านจะบันทึกอยู่ภายใต้ชื่อผู้ใช้ที่ท่านตั้งขึ้นและเข้าถึงได้เป็นสาธารณะ อาจเป็นที่ภาคภูมิใจของอาสาสมัครหลายท่าน รวมทั้งอาจเป็นข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับความสนใจและการใช้เวลาของท่าน เช่นเดียวกับการตรวจสอบประวัติจากสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป ข้อมูลเหล่านี้โดยปกติจะมีประวัติเป็นสาธารณะตลอดไป อาจถูกร้องขอหรือสืบค้นเมื่อขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า)[1] อาจถูกตรวจสอบเองโดยนายจ้างในปัจจุบันหรือนายจ้างในอนาคตเพื่อเข้าใจทัศนคติ[2][3][4] หรือตรวจสอบการใช้เวลาและทรัพยากรในที่ทำงาน[5]

การป้องกัน การช่วยเหลือ หรือคุ้มครองสำหรับอาสาสมัคร

ความรับผิดชอบกับความเข้าใจผิด

เหนือสิ่งอื่นใดอาสาสมัครต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง ความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องจะช่วยให้อาสาสมัครมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนได้ตั้งแต่เริ่มเป็นอาสาสมัครใหม่

ความเข้าใจผิดหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หลายอย่างและผลลัพธ์ที่ควรทราบ
  1. การวางใจว่ามีมาตรการช่วยเหลือหรือคุ้มครองอาจทำให้เกิดการนำตัวเข้าไปเสี่ยง แต่เมื่อพบกับภยันตรายที่แท้จริงแล้วไม่พบความช่วยเหลือคุ้มครอง หรือได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาหรือตลอดระยะเวลาที่ปัญหารุมเร้า
  2. การมีผู้เขียนร่วมกันหลายคนไม่ทำให้ส่วนความรับผิดชอบของตนลดลง การเห็นผู้อื่นกระทำผิดแต่ไม่มีผลตามมาในทันทีหรือแต่เพียงน้อย มิได้หมายความว่าท่านทำผิดบ้างจะเกิดผลอย่างเดียวกัน
  3. การเข้าใจผิดไปว่าไม่มีผู้ใดสามารถสืบรู้ว่าตนแก้ไขเนื้อหาบนวิกิพีเดีย ทั้งที่ร่องรอยทางดิจิทัลมีอยู่ในทั้งฝั่งเครื่องแม่ข่ายและเครื่องของผู้ใช้งานเอง รวมทั้งพฤติการณ์ ความสนใจ เวลาในการเข้าใช้งาน และเนื้อหาที่เขียนสามารถใช้รวมกันเพื่อสืบหาตัวตนผู้เขียนได้
  4. อายุความหมดลง ไม่ได้ยุติความรับผิดทางวินัย ในทางสังคม หรือในทางอื่น ประวัติการแก้ไขบทความยังคงอยู่ต่อไป อาจยาวนานกว่าชีวิตของผู้เขียนหรือยาวนานกว่าอายุของวิกิพีเดีย[6]

การป้องกันและนโยบายที่เกี่ยวข้อง

การป้องกันไว้แต่ต้นก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุด ท่านต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกทางเดินของท่านเองข้อความด้านล่างเป็นเพียงแนวทางที่รวบรวมไว้จากข้อเท็จจริงและประสบการณ์ของอาสาสมัครเท่านั้น ทั้งนี้ วิกิพีเดียและโครงการพี่น้องมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการถูกคุกคามโดยตรง นโยบายเหล่านี้เป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก อาสาสมัครวิกิพีเดียภาษาไทยไม่ได้เป็นรายแรกหรือรายสุดท้าย และประเทศไทยอาจไม่ใช่ประเทศที่มีอันดับการคุกคามสูงที่สุดหรือต่ำที่สุด การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นอาจช่วยลดต้นทุนและภาระของการจัดการปัญหานี้ได้บางส่วน

แนวทางการป้องกันปัญหาโดยไม่ละทิ้งอุดมการณ์ของสารานุกรมเสรี
  1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาและทางเลือกวิธีการในการแก้ไขวิกิพีเดียภาษาไทยในส่วนที่อาจก่อให้เกิดการคุมคามให้ถ่องแท้เสียก่อน โปรดอ่าน สภาพปัญหาและภัยคุกคาม และ ควรเขียนด้วยไอพีหรือบัญชีผู้ใช้? ข้างต้น
    1. การทำกิจกรรทุกอย่างทั้งที่เป็นหน้าที่การงานและเป็นอาสาสมัครย่อมมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ความเสี่ยงของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ท่านที่อยู่ในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในต่างประเทศมีความเสี่ยงที่อาจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญสำหรับการคุกคามทางกายภาพหรือการขอความร่วมมือโดยรัฐบาลไทย
    2. อาสาสมัครทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน สิ่งที่ท่านทำแล้วสบายใจคืออะไร คุณค่าของงานอาสาสมัครของท่านคืออะไร คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ตามมาในระยะเวลาที่ยาวนานหรือไม่
  2. หลีกเลี่ยง ระงับ หรือชะลอ การเขียนหรือมีส่วนร่วมที่อาจนำมาซึ่งภัยคุกคามในปัจจุบันหรืออนาคตอันใกล้ (แม้จะเท่ากับว่ากลายเป็นการตรวจพิจารณาตนเอง ซึ่งขัดกับหลักการในอุดมคติแต่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดเฉพาะหน้า) ยังมีส่วนอื่นของวิกิพีเดียภาษาไทยและโครงการพี่น้องที่ท่านสามารถช่วยเหลือได้อีกมาก และวิกิพีเดียภาษาไทยก็มิใช่สถานที่แห่งเดียวที่จะทำให้เนื้อหาหรือผลงานอาสาสมัครของท่านมีคุณค่าได้ ในเรื่องเดียวกันท่านอาจพบ
    1. ช่องทางในวิกิพีเดียภาษาอื่น โครงการพี่น้อง หรือ สื่อเชิงสืบสวนอื่นที่เหมาะสมกับเนื้อหาและสถานการณ์ในปัจจุบัน
    2. อาสาสมัครท่านอื่นที่มีความพร้อม ความกล้า ความสามารถในการรับผิดชอบ หรือส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าในการเขียนเรื่องที่นำมาซึงความยุ่งยากเหล่านั้น
  3. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลบนวิกิพีเดีย รวมไปถึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในภาพของการรู้เท่าทันการใช้สื่อสังคมออนไลน์[7]และการจัดการร่องรอยทางดิจิทัล[8] เลือกวิธีการเขียนด้วยไอพีหรือเขียนด้วยบัญชีผู้ใช้เหมาะสมแก่สถานการณ์และความจำเป็น ภายใต้นโยบายและแนวปฏิบัติที่ชุมชนอาสาสมัครคาดหวัง
  4. หากท่านอยู่ในฐานะที่อาจจะช่วยเหลืออาสาสมัครที่ถูกคุกคามได้ โปรดร่วมกันลงมือลงแรงไม่ว่าทางวัตถุหรือทางจิตใจ ช่วยไม่นิ่งดูดายแม้จะเห็นการคุกคามที่ดาษดื่น ช่วยประคับประคองบรรยากาศของชุมชนอาสาสมัครให้มีขวัญกำลังใจต่อไป และช่วยสร้างทั้งภาพลักษณ์และภาพความเป็นจริงให้วิกิพีเดียภาษาไทยเป็นสารานุกรมเสรีออนไลน์คุณภาพที่ทุกคนแก้ไขได้
นโยบายและแนวปฏิบัติในวิกิพีเดียและโครงการพี่น้องที่เกี่ยวข้อง
  1. แม้จะมีนโยบายสำคัญคืองดขู่ดำเนินคดี แต่เราก็ไม่ควรนิ่งนอนใจกับคำเตือนทางกฎหมายและพิจารณาสาระของคำเตือนดังกล่าวเสียก่อน
  2. วิกิพีเดียมีนโยบายรับมือการขู่ทำร้าย (ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมูลนิธิวิกิมีเดียในภาษาอังกฤษ) ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ตรงตามนโยบายเท่านั้น
  3. แนวปฏิบัติการขอข้อมูลผู้ใช้งานของมูลนิธิวิกิมีเดียมีใจความสำคัญว่าหากมีเหตุผลอันสมควร อาจมีการอาศัยอำนาจตามกฎหมายสหรัฐร้องขอหรือบังคับมูลนิธิวิกิมีเดียให้เปิดเผยหมายเลขไอพีของบัญชีผู้ใช้บนวิกิพีเดียได้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลไอพีนี้เก็บไว้ในระยะเวลาอันสั้นและมูลนิธิวิกิมีเดียไม่มีนโยบายบังคับเก็บหรือตรวจสอบข้อมูลอื่นที่ระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ ข้อมูลส่วนใหญ่ของวิกิพีเดียและโครงการพี่น้องเปิดเผยเป็นสาธารณะอยู่แล้วเข้าดูได้ทันทีไม่ต้องมีการร้องขอหรือบังคับใช้กฎหมาย
    • สำหรับบัญชีผู้ใช้ที่เข้ามาก่อกวน ขู่เข็ญ หลอกลวง โฆษณา สแปม หรือสร้างความเสียหายอื่นใด วิกิพีเดียหรือโครงการพี่น้องมีนโยบายตรวจสอบหุ่นเชิดอันเป็นกระบวนการภายในที่อาจกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนบุคคลของผู้ถูกตรวจสอบได้
  4. วิกิพีเดียและโครงการพี่น้องมีข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในด้านเนื้อหา ด้านกฎหมาย และความเสี่ยง ใจความสำคัญคือ วิกิพีเดียและโครงการพี่น้องดำเนินการโดยอาสาสมัครและมูลนิธิวิกิมีเดียอันเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลพวงทั้งปวงอันเกิดจากการให้บริการฟรีนี้แก่ประชาชนทั่วไปได้ ผู้ที่เข้ามาใช้บริการเว็บไซต์ยอมรับความเสี่ยงด้วยตนเอง และหากประสงค์จะแก้ไขสิ่งใดให้ถูกต้องก็ทำได้ด้วนตนเองเช่นกัน

มาตรการช่วยเหลือหรือคุ้มครอง

การช่วยเหลือหรือคุ้มครองสำหรับอาสาสมัคร
  1. โปรแกรมค้นหาเว็บ มิเรอร์ไซต์ อินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์ รวมถึงเว็บแปลอัตโนมัติมิใช่วิกิพีเดียภาษาไทย ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน หากข้อมูลดังกล่าวเคยมีอยู่ในวิกิพีเดียแต่ได้ถูกลบออกไปแล้ว จะต้องใช้ระยะเวลาอีกพักหนึ่งเว็บอื่นที่นำข้อมูลจากวิกิพีเดียไปแสดงผลจะปรับปรุงเนื้อหาตามได้ทัน
    • วิกิพีเดียภาษาอังกฤษอาจมีเนื้อหาที่มีความเสี่ยงต่อการคุกคามมากกว่าวิกิพีเดียภาษาไทยและโดยเฉพาะเมื่อถูกแปลเป็นไทยโดยอัตโนมัติด้วยเว็บแปลภาษา นอกจากนี้การแปลอัตโนมัติที่คลาดเคลื่อนสามารถสร้างปัญหาที่ใหญ่หลวงให้กับสื่อสังคมออนไลน์และสื่อสาธารณะระดับชาติของประเทศไทยมาแล้ว[9][10]
  2. มูลนิธิวิกิมีเดียสนับสนุนอาสาสมัครให้ยืนหยัดต่อสู้กับภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีทีมงาน Trust & Safety โดยเฉพาะเพื่อดูแลปัญหาการคุกคามจากทั่วโลก โดยมีโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ได้แก่
    1. Anti Harassment Program
    2. Voices under Threat
  3. อย่างไรก็ดี มูลนิธิวิกิมีเดียมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอยู่เสมอและอาจมีทรัพยากร ความทรงจำ หรือวิธีการสนับสนุนที่จำกัด หรือไม่สอดคล้องหรือทันท่วงทีกับประเภทของภัยคุกคามที่ท่านกำลังประสบอยู่
    1. ในประเทศไทย ตัวแสดงที่เป็นรัฐพยายามกล่าวอ้างว่ามีความพยายามทำการปฏิบัติการข้อมูล (IO) [en] (ในบริบทสงครามข้อมูล [en]) โดยใช้วิกิพีเดียเป็นสมรภูมิ และการเขียนวิกิพีเดียของบุคคลบางกลุ่มเป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แม้มูลนิธิวิกิมีเดียจะคุ้นเคยกับการกระทำของตัวแสดงที่เป็นรัฐมาแล้วในหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย หรือแม้แต่สหรัฐในกรณี SOPA/PIPA แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะเดียวกันกับผู้ออกกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายได้
    2. องค์การนอกภาครัฐ สถานเอกอัครราชทูต รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ หลายแห่งอาจยินดีให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่อาสาสมัครที่ถูกคุกคาม และในที่สุดแล้วอาสาสมัครที่ถูกคุกคามอาจตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย
  4. วิกิมีเดียประเทศไทยเป็นการรวมตัวของกลุ่มอาสาสมัครของวิกิพีเดียภาษาไทยและโครงการพี่น้อง ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยหรือใช้ภาษาไทย ปัจจุบันยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แม้จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวดำเนินการในกรณีที่มีตัวแสดงที่เป็นรัฐได้ เพราะการจดทะเบียนนั้นรัฐเป็นผู้ให้มาและจะเป็นผู้เพิกถอน อย่างไรก็ดี อาสาสมัครที่อยู่ในวิกิมีเดียประเทศไทยก็คืออาสาสมัครในวิกิพีเดียเช่นกัน ตัวแทนจำนวนน้อยคนนี้จะพยายามเป็นกระบอกเสียงและเป็นผู้ประสานงานเชื่อมไปยังมูลนิธิวิกิมีเดียหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ในกรณีที่เป็นไปได้ เอกสารที่ท่านอ่านอยู่ฉบับนี้ก็เขียนขึ้นโดยอาสาสมัครจากวิกิมีเดียประเทศไทยและวิกิพีเดียภาษาไทยร่วมกันโดยมิได้มีการแบ่งแยก
มาตรการทางสังคมและพลเมือง
  1. วิกิพีเดียภาษาไทยมิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลกออนไลน์ แต่อยู่ท่ามกลางบริบททางสังคมของประเทศไทย และมีผลกระทบต่อโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อการคุกคามที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงวิธีการแก้ไขและคุ้มครองก็ควรเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยเสมอกันโดยยังคงหลักประพฤติเยี่ยงอารยชนเอาไว้ นอกจากสื่อสังคมออนไลน์ มีเว็บไซต์จำนวนหนึ่ง เช่น Lumen (เดิมชื่อ Chilling Effects) และ Change.org ที่อาจช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มอาสาสมัครที่ถูกคุกคามได้
  2. หากมีความจำเป็นและเหมาะสม ชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทยและโครงการพี่น้องสามารถออกมาตรการเช่นเดียวกับวิกิพีเดียภาษาอังกฤษในกรณี SOPA/PIPA ได้
  3. อาสาสมัครในวิกิมีเดียประเทศไทยจะดำเนินการแสดงหาความร่วมมือและพันธมิตรจากทั่งในประเทศและต่างประเทศต่อไป ผ่านการจัดกิจกรรมและการพูดคุย ไม่ใช่เพียงเพื่อจัดการต่อภัยคุกคาม แต่เพื่อวิสัยทัศน์ร่วมกัน โลกที่มนุษย์ทุกคนสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ทั้งมวลได้อย่างเสรี

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. สหรัฐขอทราบชื่อบัญชีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จากผู้ขอรับการตรวจลงตรา https://th.usembassy.gov/visas/collection-vetting-information-certain-visa-applicants/ https://www.federalregister.gov/documents/2017/04/03/2017-06702/implementing-immediate-heightened-screening-and-vetting-of-applications-for-visas-and-other
  2. รอยเท้าดิจิทัล : ฝ่ายบุคคลเตือน ตัวตนและความคิดเห็นในโลกออนไลน์มีผลต่อการสมัครงาน https://www.bbc.com/thai/thailand-48902824
  3. How your digital footprint can impact your career https://www.theceomagazine.com/business/hr/digital-footprint-impacts-career/
  4. Digital Footprint คืออะไร? ทำไม HR ใช้คัดเลือกพนักงานได้ https://th.hrnote.asia/recruit/digital-footprint-210630/
  5. อยากรู้ค่ะ ถ้าเราเล่นพันทิปหรือแอบเล่นคอมในเวลางาน ฝ่ายไอทีจะรู้ไม๊คะ? https://pantip.com/topic/34226234
  6. Why Your Data Will Never Be Deleted https://www.forbes.com/sites/michaelfertik/2015/06/09/why-your-data-will-never-be-deleted/?sh=41f18cef2371
  7. https://www.homeaffairs.gov.au/commitments/files/use-of-social-media.pdf
  8. https://www.digitalhealth.gov.au/sites/default/files/2020-11/Manage_your_digital_footprint.pdf
  9. Thai Mistranslation Shows Risk of Auto-Translating Social Media Content https://slator.com/thai-mistranslation-shows-risk-of-auto-translating-social-media-content/
  10. FB told to apologise for 'mistranslation' https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1960155/fb-told-to-apologise-for-mistranslation