ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:คำแนะนำสำหรับบทความที่เสี่ยงต่อความผิดตามกฎหมายความมั่นคงของไทย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แม้หลักการก่อตั้งของวิกิพีเดียจะไม่มีการเซ็นเซอร์ และไม่ใช่กระบอกเสียงของราชการหรือองค์การใด ๆ จึงไม่มีพันธะว่าจะต้องเก็บหรือลบเนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ดูแลระบบย่อมไม่จัดการเนื้อหาที่เป็นไปตามระเบียบปกติของวิกิพีเดีย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันเกิดกรณีที่มีการคุกคามสมาชิกวิกิพีเดียอันเนื่องจากการมีส่วนร่วมในบทความที่หัวเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสมาชิกในกรณีที่มีส่วนร่วมในบทความทำนองดังกล่าว

สำหรับกฎหมายที่นำมาใช้กับเนื้อหาในวิกิพีเดียภาษาไทย เช่น

  • ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์
  • ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยหมิ่นประมาท
  • ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง (มาตรา 116)
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

หากท่านถูกคุกคาม

ข้อแนะนำโดยทั่วไป

  1. ถ้าเจ้าหน้าที่ซักถาม ให้ตอบเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการตอบคำถามที่นอกเหนือจากประเด็น
  2. โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการมักจะมาพร้อมกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อประเมินและช่วยเหลือสภาพจิตใจ
  3. ถ้ามีเอกสารให้ลงนาม เช่น บันทึกข้อตกลง ให้คุณอ่านเอกสารอย่างละเอียดก่อนลงนาม หากเนื้อความในเอกสารไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีสิทธิ์ไม่ลงนามเอกสารนั้นได้ (สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุด อาจถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว)
  4. ให้ขอหมายศาลจากเจ้าหน้าที่ในกรณีที่มีการขอตรวจค้น ยึดข้อมูล ทำสำเนาข้อมูล หรือขอรหัสผ่านจากเครื่องคอมพิวเตอร์และ/หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายศาล คุณมีสิทธิปฏิเสธให้ความร่วมมือได้
  5. หากในที่เกิดเหตุหรือบ้านมีกล้องวงจรปิด เจ้าหน้าที่อาจขอให้ลบบันทึกในช่วงเวลานั้น ให้คุณพยายามเก็บข้อมูลนั้นไว้เป็นหลักฐานถ้าเป็นไปได้

ข้อแนะนำบนวิกิมีเดีย

หากท่านตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคง เช่น ถูกควบคุมตัว หรือได้รับการติดต่อไปที่บ้านหรือผ่านญาติ ให้ติดต่อ emergency at wikimedia.org ทันที (เป็นภาษาใดก็ได้)

หลังจากนั้นแนะนำให้ท่านยุติการแก้ไขโดยใช้บัญชีเดิมทันที และเปลี่ยนรหัสผ่านของบัญชีเดิม

คำแนะนำสำหรับผู้ใช้ในการเขียนวิกิพีเดีย

  1. พึงระลึกเสมอว่า แม้เนื้อหาวิกิพีเดียจะอยู่ภายใต้กฎหมายสหรัฐ แต่ฝ่ายความมั่นคงของไทยก็สามารถเอาผิดท่านที่กระทำผิดในประเทศไทยได้
  2. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หากท่านเคยเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวบนวิกิพีเดีย ท่านสามารถขอผู้ดูแลระบบให้ลบรุ่นแก้ไขในปูม (แต่ผู้ดูแลระบบจะยังเห็นได้) หรือขอให้ผู้ควบคุมประวัติลบประวัติ (ซึ่งแม้แต่ผู้ดูแลระบบจะไม่เห็น)
  3. ใช้ชื่อผู้ใช้นิรนาม ซึ่งไม่ควรซ้ำกับชื่อนิรนามที่ใช้ที่อื่น ซึ่งเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-สกุล เลขประจำตัว อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ติดต่อ
  4. ท่านสามารถเลือกใช้อีกบัญชีหนึ่งแก้ไขบทความดังกล่าวโดยเฉพาะแยกกับบัญชีหลัก การกระทำดังนี้ไม่ถือว่าขัดต่อนโยบายว่าด้วยหุ่นเชิด ตราบใดที่ไม่ใช้บัญชีดังกล่าวขัดต่อข้อห้าม
  5. ไม่ใช้ไอพีแก้ไข (คือให้ล็อกอินแก้ไข)
  6. ควรแก้ไขโดยสอดแทรกเนื้อหาสุ่มเสี่ยงไว้ในส่วนต่าง ๆ ของบทความ ไม่ควรรวมอยู่ในที่เดียวกันแล้วจั่วหัวข้อดังกล่าวชัดเจน ("ล่อเป้า")