ข้ามไปเนื้อหา

วาซีลี คันดินสกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วาสสิลี แคนดินสกี)
วาซีลี คันดินสกี
วาซีลี คันดินสกี ภาพประมาณ ค.ศ. 1913 หรือก่อนนั้น
เกิดวาซีลี วาซีเลียวิช คันดินสกี
4 ธันวาคม ค.ศ. 1866(1866-12-04)
มอสโก, รัสเซีย
เสียชีวิต13 ธันวาคม ค.ศ. 1944(1944-12-13) (78 ปี)
เนอยี-ซูร์-แซน, ฝรั่งเศส
สัญชาติรัสเซีย
การศึกษาสถาบันวิจิตรศิลป์ (มิวนิก)
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม
ผลงานเด่นOn White II, Der Blaue Reiter
ขบวนการเอกซเพรสชันนิซึม; ศิลปะนามธรรม

วาซีลี วาซีเลียวิช คันดินสกี (รัสเซีย: Васи́лий Васи́льевич Канди́нский; อังกฤษ: Wassily Kandinsky) เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1866 ในนครมอสโก จักรวรรดิรัสเซีย พ่อของเขามาจากไซบีเรีย เป็นพ่อค้าขายน้ำชา แม่ของเขาเป็นชาวมอสโก พ่อแม่ของเขาได้หย่าร้างกันใน ค.ศ. 1871 ต่อมาใน ค.ศ. 1876 เขาได้เข้าเรียนเปียโนและเชลโลที่ Grammar School ในเมืองโอเดสซา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน) และเขายังได้เรียนจิตรกรรมตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เมื่อเขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมอสโก ใน ค.ศ. 1886 เขาได้เรียนในคณะเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย ซึ่งเน้นศึกษาเรื่องสังคมวิทยา ชาติพันธุ์วรรณนา และกฎหมายของเกษตรกรในแคว้นโวลอกดา (Vologda) และเขาได้เขียนวิทยานิพนธ์ของเขาเกี่ยวกับกฎหมายค่าจ้างของคนงาน

เมื่ออายุ 29 ปี คันดินสกีได้เห็นศิลปะภาพวาดในลัทธิประทับใจ (impressionism) ของจิตรกรฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก เขารู้สึกดีกับงานศิลปะชิ้นนั้นมาก หลังจากที่ได้รับชมงานศิลปะของจิตรกรฝรั่งเศสก็ทำให้เขาไม่ทำงานของมหาวิทยาลัย และยังลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อมาเป็นจิตรกรวาดภาพ จนกระทั่งอายุได้ 31 ปีจึงเดินทางไปยังเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาเทคนิคการวาดภาพกับอันทอน อัชเบ (Anton Ažbe) และฟรันซ์ ฟอน ชตุค (Franz von Stuck) ในช่วงเวลานั้นจิตรกรชาวเยอรมันกำลังลุ่มหลงในงานศิลปะแนวอาร์ตนูโวซึ่งเป็นงานศิลปะที่ใช้ลายเส้นเป็นดอกไม้ ทำให้เขาได้ศึกษาอาร์ตนูโวมาพอประมาณ

เมื่ออายุประมาณ 30 ปี เขาได้เข้าทำงานในสำนักกฎหมายและได้ย้ายไปยังเมืองมิวนิกใน ค.ศ. 1896 และที่นั่นเขาได้เจอกับโรงเรียนศิลปะและได้เข้าเรียนใน ค.ศ. 1900 และระหว่างปี ค.ศ. 1901-1904 เขาได้เข้าร่วมกับกลุ่มศิลปินที่เรียกตัวเองว่า "ฟาลังกซ์" (Phalanx) ต่อมาเขาได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ อย่างฮอลแลนด์, ตูนิส และเมืองอื่น ๆ โดยเขาใช้เวลาเป็นปีอยู่ที่กรุงปารีส (ค.ศ. 1906-1907) และเขาได้ก่อตั้งสมาคมศิลปินใหม่แห่งมิวนิก (Neue Künstlervereinigung München) ร่วมกับกาบรีเอเลอ มึนเทอร์ (Gabriele Münter) โดยเขาเป็นประธานสมาคม อยู่ในเมืองมิวนิกและมูร์เนา

ใน ค.ศ. 1911 เขาและศิลปินคนอื่น ๆ ได้ออกจากสมาคมศิลปินใหม่และไปสมาคมกับฟรันซ์ มาร์ค เพื่อร่วมกันร่างบทบรรณาธิการเพื่อแก้ไขปฏิทินบันทึกเหตุการณ์ของกลุ่มเดอร์เบลาเออไรเทอร์ (Der Blaue Reiter) ในปีเดียวกันหนังสือที่ชื่อ über das Geistige in der Kunst (On the Spiritual in Art) ของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์ และในปีต่อมาบทบรรณาธิการของปฏิทินบันทึกเหตุการณ์ของกลุ่มเดอร์เบลาเออไรเทอร์บทแรกก็ได้ขึ้นตามมา

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น เขาได้ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และกลับไปยังมอสโก ที่ซึ่งเขาได้จัดองค์กรและสถาบันหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติในเดือนตุลาคม ใน ค.ศ. 1921 เขากลับไปอยู่ที่ประเทศเยอรมนีกับนีนา (Nina) ภรรยาคนที่ 2 ของเขา และใน ค.ศ. 1922 เขาได้อยู่ในที่เมืองไวมาร์ โดยเขาได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ของเบาเฮาส์ (Bauhaus) และในเมืองไวมาร์ เขาได้เข้าร่วมกลุ่มดีเบลาเออเฟียร์ (Die Blaue Vier) ที่มีสมาชิกรวมทั้งเพาล์ เคล (Paul Klee) และอาเลกเซย์ ฟอน ยัฟเลนสกี ผู้ซึ่งที่เขาได้เจอครั้งแรกที่เมืองมิวนิกในปีก่อนและเป็นเพื่อนร่วมงานในเบาเฮาส์ ในปี 1926 เขาได้เผยแพร่หนังสือของเขาที่ชื่อ Punkt und Linie zu Fläche ใน ค.ศ. 1928 เขาได้มีโอกาสออกแบบรูปแบบการแสดงผลงานของมูร์ซอร์กสกี (Mussorgsky) ที่งานนิทรรศการในโรงละครเมืองเดสเซา (Dessau) และเมื่อเบาเฮาส์ได้ถูกปิดตัวลงอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1933 โดยกลุ่มสังคมนิยมแห่งชาติ เขาจึงอพยพย้ายไปเมืองเนอยี-ซูร์-แซน ใกล้กับปารีส ที่ซึ่งเขาได้จัดงานนิทรรศการงานเดี่ยวที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติให้แก่เขาใน ค.ศ. 1929 เขาได้เดินทางไปเยี่ยมเพาล์ เคล ที่สวิตเซอร์แลนด์ใน ค.ศ. 1937 และเขาได้ย้ายไปเมืองโกตแร (Cauterets) ในแถบเทือกเขาพิเรนีสเป็นการชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงจากถูกโจมตีของเยอรมนี หลังจากนั้นเขาก็ย้ายกลับมาที่เนอยี-ซูร์-แซน และอาศัยอยู่ที่นั่นจนเขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1944

นอกจากนี้เขายังได้รู้จักกับกลุ่มศิลปินลัทธิประทับใจตอนที่เขาได้จัดนิทรรศการที่มอสโกใน ค.ศ. 1896 โดยเขาเริ่มพัฒนาทัศนียภาพของงานเขียนในลัทธิประทับใจใหม่ (neo-impressionism) ซึ่งรับอิทธิพลจากอาร์ตนูโวแบบเยอรมัน (Jugendstil) โดยเฉพาะช่วงต้นก่อนที่มีแนวโน้มไปเป็นงานนามธรรม และเมื่อเขาได้ผันตัวไปทำงานด้านจิตรกรรมนามธรรม เขาได้มีงานเขียนของเขาชื่อ Rapprochement ประมาณปี ค.ศ. 1910 เขามีเหตุผลทฤษฎีและแนวคิดในงานจิตรกรรมนามธรรมเกี่ยวกับการรวมกันของความรู้เรื่องเทววิทยาและทฤษฎีเชิงวัฒนธรรม นำมาใช้ร่วมกันจนเกิดสุนทรียศาสตร์ในงานจิตรกรรมนามธรรมของเขา เขาได้นำคติจากนิทานพื้นบ้านมาใช้ในงานศิลปะตั้งแต่เขาอยู่ในรัสเซีย เขาได้รับวัฒนธรรมที่เรียบง่ายจากความพยายามที่จะวาดภาพตามคติประเพณีดั้งเดิมจากการที่เขาไปอยู่บ้านใหม่ของเขาในเมืองมูร์เนา ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเดอร์เบลาเออไรเทอร์ ที่พวกเขาไม่เน้นเรื่องรูปทรง แต่จะเน้นเรื่องความแปลกประหลาด (exotic) และความเป็นศิลปะ (artistic) คติความเชื่อแบบพื้นบ้านยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของงานนามธรรม ที่มันมีมากกว่าการวางแบบแผนที่สมมาตร ซึ่งนี่ก็เป็นลักษณะเด่นของงานในช่วงหลังของเขาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นไป

อ้างอิง

[แก้]
  • Barron, Stephanie. German expressionism. Munich: Prestel, 1988.
  • Elger, Dietmar. Expressionism. Koln: Taschen, 2002.
  • โวล์ฟ, นอร์แบร์ท. เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. กรุงเทพฯ : เดอะเกรทไฟน์อาร์ท, 2552.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Wassily Kandinsky at Find a Grave
  • Wassily Kandinsky papers, 1911-1940 The Getty Research Institute, Los Angeles, California. Russian-born artist considered to be one of the creators of abstract painting. Papers document Kandinsky's teachings at the Bauhaus, his writings, his involvement with the Russian Academy of Artistic Sciences (RAKhN) in Moscow, and his professional contacts with art dealers, artists, collectors, and publishers.
งานเขียนโดยคันดินสกี
  • ผลงานของ วาซีลี คันดินสกี ที่โครงการกูเทินแบร์ค
  • "Concerning the Spiritual in Art". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-02-01.
  • WassilyKandinsky.net, Biography and works of Wassily Kandinsky
ภาพวาดของคันดินสกี