ข้ามไปเนื้อหา

วัตถุเฮอร์บิก–อาโร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัตถุเฮอร์บิก–อาโร เอชเอช 47, ภาพถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล มาตราส่วนที่แสดงคือระยะทาง 1000 หน่วยดาราศาสตร์ (1000 เท่าของระยะห่างจากโลกไปยังดวงอาทิตย์) หรือประมาณ 20 เท่าของขนาดของระบบสุริยะของเรา

วัตถุเฮอร์บิก–อาโร (อังกฤษ: Herbig–Haro object, HH) คือชิ้นส่วนเล็ก ๆ ในเนบิวลาที่เกี่ยวข้องกับดาวฤกษ์เกิดใหม่ ก่อตัวขึ้นจากแก๊สที่ฉีดออกมาจากการปะทะกันระหว่างดาวฤกษ์อายุน้อยกับกลุ่มเมฆแก๊สและฝุ่นที่อยู่ใกล้เคียงที่ความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที วัตถุเฮอร์บิก–อาโรเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในย่านเกิดใหม่ของดาวฤกษ์ ทั้งยังสามารถพบได้รอบๆ ดาวฤกษ์เดี่ยว ตามแนวแกนการหมุนของดาวฤกษ์

วัตถุเฮอร์บิก–อาโรเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว กินระยะเวลาเพียงไม่กี่พันปีเท่านั้น มันสามารถวิวัฒนาการไปได้ในเวลาอันรวดเร็วขณะที่เคลื่อนผ่านดาวต้นกำเนิดของมันเข้าไปยังกลุ่มเมฆในห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว (มวลสารระหว่างดาวฤกษ์) การสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเผยให้เห็นวิวัฒนาการอันซับซ้อนของวัตถุชนิดนี้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี เมื่อวัตถุนี้บางส่วนสลายตัวไปขณะที่บางส่วนสว่างขึ้นขณะที่ปะทะกับสสารอื่นในอวกาศระหว่างดาว

วัตถุชนิดนี้ได้รับการสังเกตพบครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเชอร์เบิร์น เวสลีย์ เบิร์นแฮม แต่ยังไม่เป็นที่เข้าใจว่าเป็นเนบิวลาอีกชนิดหนึ่ง จนกระทั่งถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 นักดาราศาสตร์คนแรก ๆ ที่ศึกษาวัตถุชนิดนี้อย่างละเอียดคือจอร์จ เฮอร์บิก และกิเยร์โม อาโร นักดาราศาสตร์ชาวเม็กซิโก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกวัตถุชนิดนี้ เฮอร์บิกกับอาโรต่างฝ่ายต่างทำงานแยกกันในการศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ เมื่อตอนที่พวกเขาวิเคราะห์วัตถุเฮอร์บิก–อาโร และต่อมาจึงตระหนักว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการก่อตัวของดาวฤกษ์นั่นเอง

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]