ข้ามไปเนื้อหา

วัดไทรน้อย (จังหวัดนนทบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไทรน้อย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไทรน้อย, วัดสาลีมุนีภิรมย์
ที่ตั้งเลขที่ 40 หมู่ที่ 1 ซอยวัดไทรน้อย 2 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 11150
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูไพบูลย์อาทรกิจ (ประสาท อุปนนฺโท)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดไทรน้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย (เดิมสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกาย) ตั้งอยู่ในชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญในท้องที่หมู่ที่ 1 บ้านไทรน้อย ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ ที่ธรณีสงฆ์มีจำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 56 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา บริเวณวัดยังมีตลาดน้ำวัดไทรน้อยซึ่งเปิดทุกวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์[1]

ประวัติ

[แก้]

วัดไทรน้อยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2437 โดยกลุ่มชาวมอญจากมหาชัย บ้านบางกระเจ้า บ้านไร่ และบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเข้ามาจับจองที่ดินด้วยการหักร้างถางพงเพื่อทำนา นานวันเข้าก็กลายเป็นชุมชนชาวมอญ ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ชาวบ้านได้ช่วยตัดต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่มาเลื่อยทำเสา กระดาน และไม้สำหรับใช้สร้างที่พักสงฆ์ หลวงตาโจ๊กซึ่งเป็นพระมอญมาดำเนินการก่อสร้างจนเป็นวัดมีพระสงฆ์มาจำพรรษา หลวงตาโจ๊กจำพรรษาที่วัดนี้และช่วยเหลือในการก่อสร้างเสนาสนะและสิ่งก่อสร้างภายในวัดอยู่นานประมาณ 30 ปี เดิมมีชื่อวัดว่า วัดสาลีมุนีภิรมย์ หมายถึงบริเวณที่ตั้งวัดอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ในเวลาต่อมา ชาวบ้านได้นิมนต์พระอาจารย์เกร็บ จนฺทสิริ พระมอญจากวัดปรมัยยิกาวาส มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด ในสมัยพระอธิการเผื่อน สิกขโร เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ท่านร่วมกับนายพร ประสิทธิชัย กำนันตำบลไทรน้อยคนแรก และชาวบ้าน สร้างอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนเพื่อให้พระสงฆ์ได้ทำสังฆกรรม จนกระทั่ง พ.ศ. 2495 ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดไทรน้อย" ตามชื่อหมู่บ้าน เนื่องจากชื่อเดิมออกเสียงยากสำหรับชาวมอญสมัยนั้น[2] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2526[3]

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมคลองพระพิมล ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ดังนี้ เขตพุทธาวาสประกอบด้วยอุโบสถกว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2499 ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก มีสภาพชำรุด วัดจึงดำเนินก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่กว้าง 12 เมตร ยาว 33 เมตร บริเวณด้านหน้าอุโบสถมีเสาหงส์คู่สำหรับแขวนธงโน่(ธงตะขาบ)เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา การมีเสาหงส์ตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโบสถเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ และคติการสร้างวัดของชาวไทยเชื้อสายมอญ ด้านหลังอุโบสถมีมหาเจดีย์มุนีภิรมย์ ซึ่งมีป้ายชื่อทำจากหินแกรนิต สลักชื่อมหาเจดีย์ทั้งภาษาไทยและภาษามอญ โดยรอบแผ่นหินแกรนิตที่สลักชื่อมหาเจดีย์ดังกล่าวประดับด้วยลวดลายปูนปั้นติดตั้งอยู่บนซุ้มประตูทางเข้าชั้น 2 ของมหาเจดีย์ เขตสังฆาวาสมีกุฏิสงฆ์จำนวน 7 หลัง ส่วนมากเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ ถาวรวัตถุอื่น ๆ ได้แก่ ศาลาท่าน้ำ ศาลาบำเพ็ญกุศล ฌาปนสถาน อาคารเรียนพระปริยัติธรรม[4] และศาลแปจุโจ๊กหรือศาลหลวงปู่โจ๊กซึ่งเป็นศาลตะละทานประจำวัด เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เปิดแล้ว ตลาดน้ำวัดไทรน้อย จ.นนทบุรี". ผู้จัดการออนไลน์. 24 สิงหาคม 2563.
  2. "ประวัติวัดไทรน้อย".[ลิงก์เสีย]
  3. "วัดไทรน้อย". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  4. "วัดไทรน้อย". อบต. ไทรน้อย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-24. สืบค้นเมื่อ 2021-02-18.
  • พิศาล บุญผูก. วัดในอำเภอไทรน้อย. นนทบุรี : โครงการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2551.