ข้ามไปเนื้อหา

วัดโพธิ์ศรีเจริญ (จังหวัดสุพรรณบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโพธิ์ศรีเจริญ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโพธิ์ศรีเจริญ
ที่ตั้งเลขที่ 117 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72140
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
ก่อตั้งพ.ศ. 2478
ผู้ก่อตั้งราษฎร
พระประธานพระพุทธเทวเทพ
พระพุทธรูปสำคัญ- พระพุทธเทวเทพ
- หลวงพ่อเพชร
- หลวงพ่อพระธรรมโพธิมงคล
เจ้าอาวาสพระครูประจันตสีลาภรณ์ ( ชาคริต วังทองชุก วิสุทฺธสีโล )
มหามงคล- รูปเหมือนหลวงพ่อโต
- รูปเหมือนหลวงพ่อน่วม
กิจกรรม- งานประจำปีศาลตาสง วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดโพธิ์ศรีเจริญ ตั้งอยู่เลขที่ 117 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดราษฎร์ คณะสงฆ์มหานิกาย เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรณบุรี คณะสงฆ์ ภาค14

ประวัติ

[แก้]

วัดโพธิ์ศรีเจริญ เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ คือ บ้านดงตาป้อม บ้านหนองกรับ บ้านดงขี้เหล็ก บ้านดอนตะกู และบ้านนาป่า

แต่เดิมก่อนสร้างวัด ชาวบ้านหมู่บ้านดังกล่าวต้องเดินทางไปทำบุญยังวัดซึ่งอยู่ใกล้เคียง คือ วัดดอนโพธิ์ (สมัยยังไม่มีสถานะร้าง) วัดเกาะ วัดดงขี้เหล็ก และวัดบ้านกร่าง ซึ่งไม่สะดวกนัก คณะชาวบ้านนำโดย นายโฮ้ ชาวบ้านกร่าง นายโพธิ์ ชาวบ้านกร่าง นายศรี พลายละหาร (ผู้ใหญ่บ้าน) นายโรย ชาวบ้านกร่าง นายเกตุ แตงอ่อน นายเหลี่ยม นายใย จึงชักชวนชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดในชุมชน โดยมี นายใช้ นางลูกอินทร์ ศิลา นายใย นายอาว เป็นผู้ถวายที่ดินสร้างวัดรวมจำนวน 8 ไร่เศษ[1]

ชาวบ้านจึงเริ่มปรับพื้นที่ดิน แผ้วถางป่าดง สร้างกุฏิจำนวน 1 หลัง แล้วนิมนต์หลวงพ่อโต ปุญฺญสิริ จากวัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญด้านก่อสร้าง มาเป็นเจ้าอาวาสและเป็นผู้นำสร้างวัด โดยท่านเริ่มสร้างวัดเมื่อต้นปีกุน (พ.ศ. 2478) มีพระเถระในพื้นที่มาช่วยสร้างวัดในระยะแรกๆ คือ พระครูเมธีธรรมสาร วัดบ้านกร่าง เจ้าคณะแขวงอำเภอศรีประจันต์ (เจ้าคณะอำเภอศรีประจันต์) พระครูสม วัดดอนบุบผาราม เจ้าคณะหมวดตำบลบ้านไร่ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นตำบลบ้านกร่าง) และพระครูกริ่ง วัดยาง เจ้าคณะหมวดตำบลศรีประจันต์ (ภายหลังเป็นเจ้าอาวาสวัดสามชุก และเจ้าคณะอำเภอสามชุก)

แรกเริ่มสร้างวัด ตั้งชื่อตามสถานที่ตั้งว่า วัดดงตาป้อม แต่มักเรียกเพี้ยนเป็น ดงตะป้อม และดงกะป้อม พระครูเมธีธรรมสารเห็นว่าชื่อดังกล่าวไม่ไพเราะ จึงเปลี่ยนใหม่ โดยนำชื่อ นายโพธิ์ นายศรี และหลวงพ่อโต มาตั้งเป็นชื่อวัด เนื่องจากเห็นว่าทั้งสามเป็นกำลังหลักในการสร้างวัด ทั้งนายโพธิ์กับนายศรีนั้นเคยบวชและเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านกร่างมาก่อน ส่วนหลวงพ่อโตก็มาจากวัดบ้านกร่าง ชื่อหลวงพ่อโตนั้นหมายถึงความเจริญ พระครูเมธีธรรมสารจึงนำเอาชื่อทั้งสามมาตั้งเป็นชื่อวัดใหม่ว่า วัดโพธิ์ศรีเจริญ

ชาวบ้านทำนุบำรุงและพัฒนาวัดต่อเนื่องมา สมัยพระครูวิบูลโพธิธรรม (น่วม นาถสีโล) เป็นเจ้าอาวาส ร่วมกับชาวบ้านซื้อที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 4 ไร่ 2 งาน ปัจจุบันจึงมีพื้นที่รวมจำนวน 12 ไร่ 3 งาน

ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดเมื่อปลายปีกุน วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2478 ( นับตามปีศักราชปัจจุบัน คือ พ.ศ.2479 )[2] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2484 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร[3]

เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธเทวเทพ พระพุทธรูปโบราณ ขนาดใหญ่ ปางสมาธิ เดิมเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อประสบภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการมีประกาศให้ยุบเลิกวัด หลวงพ่อโตกับชาวบ้านจึงเดินทางไปอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานอุโบสถวัดโพธิ์ศรีเจริญนับแต่นั้นมา

เป็นวัดซึ่งมีอดีตเจ้าอาวาส คือ พระอธิการโต ปุญฺญสิริ กับพระครูวิบูลโพธิธรรม (น่วม นาถสีโล) เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั้งในและต่างประเทศ วัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยม โดยเฉพาะเครื่องรางของขลังรูปปลากัด เป็นต้นตำรับและหนึ่งเดียวในโลก[4]

ทำเนียบเจ้าอาวาส

[แก้]

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีเจริญ อดีตถึงปัจจุบัน[1][2]

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระอธิการโต สาระวงษ์ ปุญฺญสิริ พ.ศ. 2477 พ.ศ. 2494 เจ้าอาวาส, มรณภาพ
2 พระอาจารย์ยิ่ง - - รักษาการ
3 พระอาจารย์อุทัย อมโร - - รักษาการ
4 พระอาจารย์บุญช่วย - - รักษาการ, ครั้งที่ 1
5 พระอาจารย์ศิริ - - รักษาการ
6 พระอาจารย์บุญช่วย - - รักษาการ, ครั้งที่ 2
7 พระอธิการเสงี่ยม ผิวแดง ถิรสีโล พ.ศ.2519 พ.ศ. 2524 รักษาการ
พ.ศ.2524 พ.ศ. 2525 เจ้าอาวาส, มรณภาพ
8 พระครูวิบูลโพธิธรรม (น่วม ผิวแดง นาถสีโล) พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2547 เจ้าอาวาส, ยกเป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์, ภายหลังมรณภาพ พ.ศ. 2560
9 พระครูประจันตสีลาภรณ์ (ชาคริต วังทองชุก วิสุทฺธสีโล) พ.ศ. 2547 - เจ้าอาวาส, ปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน

[แก้]
  • พระพุทธเทวเทพ พระพุทธรูปปางสมาธิ มีอายุหลายร้อยปี เดิมประดิษฐานยังวัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประกาศให้ยุบวัดดังกล่าว หลวงพ่อโต ปุญฺญสิริ และชาวบ้านจึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ซึ่งรอดพ้นจากการถูกทิ้งระเบิดทำลาย มาเพื่อเป็นพระประธานอุโบสถวัดโพธิ์ศรีเจริญ ซึ่งเริ่มสร้าง พ.ศ. 2486 ผูกพัทธสีมา พ.ศ. 2494 (ก่อนหลวงพ่อโตมรณภาพ)
  • หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ปางขัดสมาธิเพชร อัญเชิญมาพร้อมกับพระพุทธเทวเทพ เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้าน กล่าวว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก เคยถูกโจรกรรมถึง 3 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และยังคงอยู่คู่วัดตลอดมา
  • หลวงพ่อพระธรรมโพธิมงคล หรือหลวงพ่อพระใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2560 ครั้งพระครูวิบูลโพธิธรรม (น่วม นาถสีโล) มรณภาพ
  • รูปเหมือนหลวงพ่อโต ปุญฺญสิริ เป็นอดีตเจ้าอาวาส สร้างสมัยพระอธิการเสงี่ยม (ลูกศิษย์) เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. 2525
  • รูปเหมือนหลวงพ่อน่วม นาถสีโล เป็นอดีตเจ้าอาวาส สร้างในสมัยท่านเป็นเจ้าอาวาส เมื่อราว พ.ศ. 2540 กว่าๆ
  • ศาลตาสง หรือศาลตาเจ้าวัด เป็นผู้เสียชีวิตยังสถานที่นี้ก่อนชาวบ้านจะมาสร้างวัดในภายหลัง ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพนับถือว่าเป็นเจ้าที่ปกปักรักษาดูแลวัด จึงสร้างศาลเทพารักษ์ไว้ให้ ทุกปีจะมีงานประจำปี และพิธีขึ้นศาล
  • พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างเมื่อ พ.ศ. 2528 โดยหน่วยงานราชการ

เทศกาล และงานประจำปี

[แก้]
  • พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน วันคล้ายวันมรณภาพ พระครูวิบูลโพธิธรรม (น่วม นาถสีโล) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ของทุกปี
  • งานประจำปีศาลตาสง (ศาลตาเจ้าวัด) วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 รัตน์ สาระวงษ์. (2549). บันทึกประวัติวัดโพธิ์ศรีเจริญ พระประธานในโบสถ์. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  2. 2.0 2.1 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.
  3. พระราชบัญญัติพระราชทานวิสุงคามสีมา พุทธศักราช 2483, เล่ม 58 ก, 4 กุมภาพันธ์ 2484, หน้า 157
  4. "'หลวงปู่น่วม' เกจิดังเมืองสุพรรณฯ ละสังขาร สิริอายุ 94 ปี 74 พรรษา". www.thairath.co.th. 2017-02-24.