วัดโพธิ์บางโอ
วัดโพธิ์บางโอ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดโพธิ์บางโอ, วัดโพธิ์เสนี |
ที่ตั้ง | เลขที่ 42 หมู่ที่ 9 ซอยบางขนุน ซอย 2 ถนนบางกรวย-จงถนอม ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดโพธิ์บางโอ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9 บ้านบางโอ ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
ประวัติ
[แก้]วัดโพธิ์บางโอไม่มีประวัติการสร้างและนามผู้สร้างที่แน่ชัด หนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒ ของกรมการศาสนาระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2310 ส่วนพระอธิการแดง ธมฺมสโร เจ้าอาวาสรูปที่ 6 (พ.ศ. 2482–2523) เคยเล่าว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)[1] แต่เดิมชาวบ้านบริเวณนี้มีอาชีพเป็นช่างสานโอน้ำแบบโบราณขายเป็นส่วนมาก จึงเติมชื่อบ้านบางโอต่อท้ายชื่อวัด ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมอบให้พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์เป็นผู้บูรณะและได้ดูแลทะนุบำรุงอุปถัมภ์วัดโพธิ์บางโอตลอดมา จนมาถึงพระยาสากลกิจประมวญ (หม่อมหลวงแปลก เสนีวงศ์ ณ กรุงเทพ) ได้ทะนุบำรุงวัดโพธิ์บางโอร่วมกับญาติ ๆ บางครั้งชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดโพธิ์เสนี กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนวัดนี้เป็นโบราณสถานตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 7 ง หน้า 6–7 วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2542[2]
อาคารเสนาสนะ
[แก้]พระอุโบสถมีหน้าบันสลักไม้รูปนารายณ์ทรงครุฑลายกนกขมวดเกี่ยวพันกัน เบื้องหลังมีเทพนมและยักษ์พนม ซุ้มประตูทางเข้าวัดทำเป็นหัวเม็ด เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูงขึ้นและเอนเข้าหากัน รอบพระอุโบสถมีพาไลและกำแพงแก้ว ซุ้มใบเสมาทรงกลม ฐานของซุ้มก็เป็นทรงกลม ตัวซุ้มแหวะเป็นช่องหน้าต่างสามช่อง ทรงยอดโค้งคล้ายซุ้มจระนำ ข้างบนมียอดเล็ก ๆ ปั้นปูนลวดลายรับกับบัวยอดซุ้มและแข้งสิงห์เบื้องล่าง ลักษณะบ่งชี้ว่าเป็นฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[1] ใบเสมาเป็นหินทรายทำรูปหัวนาคออกสองข้างเอวเสมาเหมือนกันแต่ทรงด้านบนอวบอ้วน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเช่นกัน[1] มีเจดีย์ทิศล้อมรอบตัวพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน ซุ้มบันแถลงประดับกรอบประตูหน้าต่างทำจากปูนน้ำอ้อย[3]
ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นจิตรกรรมแป้งสาคูเปียกฝีมือช่างสกุลนนทบุรีสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเป็นภาพปริศนาธรรม ภาพพุทธประวัติ และภาพปลงกัมมัฏฐาน ผนังเหนือหน้าต่างพระอุโบสถมีภาพเขียนกระจกเล็ก ๆ ใส่กรอบติดไว้จำนวนหลายภาพ ลักษณะฝีมือช่างจีน เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีจีน มีบางภาพเป็นแบบตะวันตก เช่น ภาพสตรีชาวตะวันตกอ่านหนังสือ แต่เมื่อ พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2541 เกิดไฟไหม้ในพระอุโบสถ[1] ทำให้ภาพเขียนกระจกเหล่านี้ได้รับความเสียหาย ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังก็หมองลงจากเขม่าควันไฟ
หน้าพระอุโบสถยังมีรูปสลักหินที่มาจากจีน คล้ายเป็นรูปยักษ์รักษาวัด ตนหนึ่งหน้าดุ อีกตนหนึ่งหน้ายิ้ม มือถือกระบองด้วยกันทั้งคู่ หอระฆังเป็นแบบสกุลช่างเมืองนนทบุรี มีลักษณะเป็นมณฑปยอดเจดีย์ผสมกันระหว่างหอสูงรูปสี่เหลี่ยมกับเจดีย์ย่อมุม[4] แหล่งข้อมูลบางแห่งกล่าวว่าเป็นหอระฆังที่งามที่สุดในจังหวัดนนทบุรี[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543, หน้า 77.
- ↑ "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (พิเศษ 7 ง): 6–7. 22 มกราคม 2542.
- ↑ "วัดโพธิ์บางโอ". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "วัดโพธิ์บางโอ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.