ข้ามไปเนื้อหา

วัดโพธิญาณ (จังหวัดพิษณุโลก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโพธิญาณ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อเพชรกลับประทานพร
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อทองผุด-หลวงพ่อเงินผุด
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดโพธิญาณ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านในตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

ประวัติ

[แก้]
ร่องรอยกำแพงโบราณเมืองพิษณุโลกบริเวณวัดโพธิญาณ จังหวัดพิษณุโลก

วัดโพธิญาณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อครั้งพระองค์เสด็จมาครองเมืองพิษณุโลกระหว่าง พ.ศ. 2006–2031 โดยน่าจะสร้างพร้อม ๆ กับการสร้างกำแพงเมืองพิษณุโลก ยังคงปรากฏร่องรอยแนวกำแพงเมืองเก่าให้เห็นในบริเวณวัด[1] น่าจะถือได้ว่าวัดโพธิญาณเป็นวัดประจำเมืองพิษณุโลกทางด้านทิศเหนือ ติดกับแนวเขตพระราชวังจันทน์ ต่อมาน่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ต่อมาถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี เมืองพิษณุโลกถูกทำลายจากภัยสงคราม ทำให้วัดโพธิญาณมีสภาพเป็นวัดร้างมากว่าร้อยปี จนเมื่อ พ.ศ. 2460 พระอาจารย์โต้ได้ธุดงค์มาปักกลดบริเวณซากโบราณสถานวัดร้างนี้ หมื่นชำนาญนิติเพชร (จ่าคร้าม ผลเกิด) พร้อมด้วยชาวบ้านจึงได้นิมนต์พระอาจารย์โต้ให้อยู่จำพรรษา ณ วัดร้างแห่งนี้และร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์ จนตั้งวัดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 [2]

เสนาสนะและโบราณวัตถุ

[แก้]

วัดมีอุโบสถเก่าและฐานเจดีย์เก่าที่เป็นโบราณสถานสมัยอยุธยา อายุกว่า 600 ปี โดยมีพระพุทธรูปสองพี่น้องนามว่า หลวงพ่อทองผุด-หลวงพ่อเงินผุด มีลักษณะผุดขึ้นมาเพียงครึ่งองค์จากห้องกรุใต้ฐานชุกชี ขุดพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2511 ในการขุดครั้งนั้นพบพร้อมกับพระพุทธรูปสำริดศิลปะอยุธยาขนาดหน้าตัก 3–12 นิ้ว จำนวนหลายร้อยองค์และโบราณวัตถุอีกนับพันชิ้น บางส่วนนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย

พระประธานของอุโบสถมีนามว่า หลวงพ่อเพชรกลับประทานพร เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ซึ่งหล่อขึ้นใหม่ด้วยโลหะสำริดย้อนยุคแบบโบราณขนาดหน้าตัก 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว มีพุทธลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิเพชรกลับ พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา พระหัตถ์ขวาแสดงปางสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระทรงแสดงปางประทานพร บริเวณฐานชุกชีของพระพุทธรูปทำเป็นโพรงเตี้ย ๆ ให้คนได้เข้าไปลอด ตามความเชื่อว่าจะรอดปลอดภัยจากสิ่งอันตรายต่าง ๆ[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดโพธิญาณ (จังหวัด พิษณุโลก)". เทศบาลตำบลหัวรอ.
  2. "วัดโพธิญาณ". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "กราบพระผุด "วัดโพธิญาณ" ริมน้ำน่านเมืองพิษณุโลก ชิมขนมปังเลี้ยงปลาหอมนุ่ม ฝีมือ "รสพระทำ"". ผู้จัดการออนไลน์.