ข้ามไปเนื้อหา

วัดเจ็ดลิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเจ็ดลิน
เดิมเป็นวัดร้าง ได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2545
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเจ็ดลิน
ที่ตั้งถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
ประเภทวัดราษฏ์
เจ้าอาวาสพระมหาวิษณุ จารุธรรมโม
ความพิเศษเป็นสถานที่ประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษกกษัตริย์ล้านนาในอดีต
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเจ็ดลิน เดิมเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปีพุทธศักราช 2060 จากเอกสารการค้นคว้าของคุณวัลลภ นามวงศ์พรหม คณะกรรมการประสานงานพัฒนาวัดเจ็ดลิน[1]และโคลงนิราศหริภุญไชย[2]

ตามประวัติกล่าวว่า กษัตริย์ราชวงศ์มังรายก่อนจะขึ้นเสวยราชย์ทุกพระองค์ จะทรงผ้าชุดขาว (นุ่งขาวห่มขาว) ณ วัดผ้าขาว จากนั้นจะเสด็จ ไปสะเดาะเคราะห์ ณ วัดหมื่นตูม และจะเสด็จมาประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษก ณ หนองน้ำวัดเจ็ดลิน ซึ่งจะมีรางน้ำ เรียกว่า "ลิน" ทำด้วยทองคำ หลั่งน้ำพุทธาภิเษกจากสุวรรณหอยสังข์ หล่อลงรางลินทำด้วยคำทั้ง 7 เพื่อสรงพระวรกาย แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องทรงกษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์ต่อไป

ในสมัย เจ้าแม่ฟ้ากุ ก่อนขึ้นเสวยราชย์ได้ทำพิธีราชาภิเษก โดยเสด็จ ไปสรงน้ำพระที่ วัดเจ็ดลิน "คำเชิญกษัตริย์เจ้า ไปลอยเคราะห์นอนหั้นแล 3 วัน แล้วไปอุสสาราช หล่อน้ำพุทธาภิเษกสุคนธาด้วยสุวรรณหอยสังข์ที่วัด 7 ลินคำ หั้นแล….."

ในอดีตวัดเจ็ดลินเคยรุ่งเรืองมาก ทราบได้จากหลักฐานโฉนดที่ดินในปี พ.ศ. 2482 ว่ามีเนื้อที่ 7 ไร่เศษ แต่ต่อมากลายเป็นวัดร้าง

ต่อมาได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2545 โดยพระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ภายในวัดมีหนองน้ำขนาดใหญ่สภาพสมบูรณ์อยู่กลางวัด

จากนั้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 พระญาณสมโพธิ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นประธานพัฒนาฟื้นฟูวัดเจ็ดลิน และขอยกเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ72 พรรษา และพัฒนาหนองน้ำที่กว้างให้คงเป็น หนองน้ำที่ใสสะอาดสวยงาม ให้คงเป็นหนองน้ำแห่งประวัติศาสตร์คู่เมืองเชียงใหม่

ปัจจุบันพระมหาวิษณุ จารุธัมโม ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดลิน

เจดีย์

[แก้]

ลักษณะขององค์พระเจดีย์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ประกอบด้วยฐานหน้ากระดาน 3 ชั้น รองรับฐานบัวย่อเก็จแบบพิเศษ ที่ประกอบด้วยฐานบัวลูกแก้ว 2 ฐานซ้อนอยู่ในฐานเดียวกัน ลักษณะฐานเช่นนี้ เป็นแบบแผนที่พบในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา เหนือขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานย่อเก็จ 3 ชั้น รองรับเรือนธาตุ ที่ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ ( พระพุทธรูปในซุ้ม 4 องค์นั้นไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เก็บรักษาไว้ เหลือแต่ซุ้มเปล่า)

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2547 อาจารย์พรศิลป์ รัตนชูเดช อาจารย์มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก พร้อมคณะ ได้เป็นเจ้าภาพพระพุทธรูปหินผสมทรายนำมาจากจังหวัดพะเยา นำขึ้นไปบรรจุไว้ที่ซุ้มพระเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นมาลัยเถาขนาดใหญ่ชำรุด รองรับองค์ระฆังขนาดเล็ก ยอดชำรุด สันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้ควรมีอายุ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา ( สุรพล ดำริห์กุล อธิบาย ในรายการวิจัย “ วัดร้างในเวียงเชียงใหม่ หน้า 32 )

ลวดลายที่ตกแต่งองค์เจดีย์ มีลักษณะเหมือนลวดลายที่ตกแต่งซุ้มประตูและเจดีย์องค์ใหญ่ที่ใช้เป็นที่บรรจุพระอัฐิของพญาติโลกราช วัดเจ็ดยอด สันนิษฐานว่าจะได้รับอิทธิพลจากวัดเจ็ดยอด และวัดโลกโมฬี ( สัมภาษณ์ มารุต อมรานนท์ มหาวิทยาลัยนครินทรวิโรฒบางแสน ๒๕๒๘ โดย ผู้เขียน)[3]

สถิติพระภิกษุ สามเณร พ.ศ. 2546-2555

[แก้]
พ.ศ. พระภิกษุ สามเณร ศิษย์วัด
2546 5 11 4
2547 8 27 5
2548 18 24 5
2549 17 20 5
2550 9 34 5
2551 12 29 5
2552 12 21 5
2554 11 21 3
2555 11 30 3

[4]

ประเพณีประจำปี

[แก้]

ในวันสงกรานต์ วัดเจ็ดลินได้จัดกิจกรรม "เจดีย์ทรายสุดส้าว" ซึ่งเป็นเจดีย์ก่อจากทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก[5]

ประมวลภาพบรรยากาศภายในวัดเจ็ดลิน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]