ข้ามไปเนื้อหา

วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1549 ถนนศรีสุมังค์ ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธสิริเกศมงคล พระแก้วศรีวิเศษ
เจ้าอาวาสพระวชิโรปการ (หงส์ ปคุโณ ป.ธ.4) รักษาการ
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม พระอารามหลวงชั้นตรี[1] ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 1549 ถนนศรีสุมังค์ ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2330 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2499 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดศรีสะเกษ

ประวัติ[2]

[แก้]
อนุเสาวรีย์พระยาช้างล้มป่วย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน "เจียงอี"

วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตั้งอยู่ที่บ้านเจียงอี ซึ่งเป็นชุมชนของชนชาติไทย เผ่าส่วย คำว่า "เจียงอี" เป็นภาษาส่วย "เจียง" แปลว่า "ข้าง" "อี" แปลว่า "ป่วย" รวมความว่า "เจียงอี" แปลว่า ข้างป่วย[3] ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์เสวยราชสมบัติอยู่นั้น ได้เกิดอาเพศขึ้น พระยาช้างเผือกแตกโรงหนี แล้วมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันออก เลยเข้าเขตเมืองศรีสะเกษ พระเจ้าแผ่นดินทรงจัดให้ทหารนายกองจับข้างติดตามมาทันที่ลำธารแห่งหนึ่ง อยู่ในเขตอำเภอห้วยทับทัน ในปัจจุบัน ได้เห็นพระยาช้างแต่จับไม่ได้ ช้างวิ่งหนีไปทางทิศใต้ ถึงเชิงเขาพนมดงรัก หัวหน้าผู้ปกครองบ้านเมืองแถบนั้นก็พากันช่วยตามจับพระยาช้าง แล้วไปจับได้ที่เชิงเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ในปัจจุบัน จึงนำกลับมา และได้นำส่งพระยาช้างเผือก เมื่อนำพระยาช้างเผือกมาถึงหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในตัวเมืองศรีสะเกษ พระยาช้างได้ล้มป่วยลง เมื่อรักษาพยาบาลหายแล้วจึงได้เดินทางต่อไป ชาวบ้านเป็นไทยส่วย จึงเรียกหมู่บ้านนั้นว่า "บ้านเจียงอี" คือบ้านช้างป่วย สืบมา วัดก็เรียกว่า "วัดเจียงอี" เช่นกันตามชื่อหมู่บ้าน

ที่ตั้งและขนาด

[แก้]

วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตั้งอยู่เลขที่ 1549 ถนนศรีสุมังค์ ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ มีเนื้อที่ทั้งหมด 77 ไร่ 2 งาน 75.7/10 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 651

มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 2 แปลง

  • แปลงที่ 1 เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 52.9/10 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 650
  • แปลงที่ 2 เนื้อที่ 1 งาน 2.7/10 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 654

ลักษณะพื้นที่ตั้งของวัด เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีส่วนโค้งบางแห่งทางทิศใต้ ตั้งอยู่กลางเมืองศรีสะเกษ

อาณาเขตติดต่อ

[แก้]

ทิศเหนือ ติดต่อถนนชัยสวัสดิ์

ทิศใต้ ติดต่อที่ดินของชาวบ้าน

ทิศตะวันออก ติดต่อถนนศรีสุมังค์

ทิศตะวันตก ติดต่อที่ดินของชาวบ้าน และโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดเจียงอี)

สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญภายในวัด[4]

[แก้]

พระอุโบสถ

[แก้]

สร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2496 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2499 เป็นอาคารคอนรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๕ เมตร ต่อมาในปี 2553 ได้บูรณะใหม่ในพื้นที่เดิม เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 11.50 เมตร ยาว 28.50 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธานในอุโบสถ หล่อด้วยทองเหลือง ขนาดหน้าตักกว้าง 44 นิ้ว สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยคุณละม้าย ลิ้มอักษร เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย

พระประธานในพระอุโบสถ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม

พระวิหาร

[แก้]
พระวิหาร วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2512 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น กว้าง 18 เมตร ยาว 40 เมตร ประดิษฐานพระพุทธชินราช (จำลอง) เป็นพระประธานในพระวิหารชั้นบน ขนาดหน้าตักกว้าง 59 นิ้ว หล่อด้วยทองเหลือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2514 โดยมีคุณอรพิน เกษชุมพล เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย

วิหารพระพุทธไสยาสน์

[แก้]
พระพุทธสิริเกศมงคล พระประธานวิหารพระพุทธไสยาสน์

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น กว้าง 12 เมตร ยาว 40 เมตร หลังคาโค้งแบบประทุน ชั้นบนเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ขนาดยาว 27 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ในเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2518 นามว่า พระพุทธสิริเกศมงคล ชั้นล่างเป็นห้องโถง และมีห้องพักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม จำนวน 4 ห้อง

พระวิหารพระแก้วศรีวิเศษ

[แก้]
พระแก้วศรีวิเศษ

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2556 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร หลังคาทรงไทย มุงกระเบื้อง ประดิษฐานพระแก้วศรีวิเศษ เป็นพระประธานยู่ในวิหาร ขนาดหน้าตักกว้าง 79 นิ้ว สร้างด้วยหินหยกสีเขียวจากประเทศอินเดีย ปางมารวิชัย โดยมีคุณศรีสุข รุ่งวิสัย เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย

กุฎีสงฆ์

[แก้]

จำนวน 24 หลัง สร้างด้วยไม้ 13 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 9 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน 2 หลัง

กุฎีเจ้าอาวาส

[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 18 เมตร

ศาลาเอนกประสงค์

[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2547 เป็นอาคารชั้นเดียว คอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นหินขัด มีผนังหนึ่งด้าน ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร

ศาลาบำเพ็ญกุศล

[แก้]

จำนวน 3 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

ฌาปนสถาน

[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร ยกพื้นสูง 2.50 เมตร หลังคาเป็นมณฑป ติดลายปูนปั้น

ศาลาหอฉัน

[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2553 จำนวน 1 หลัง เป็นอาคารชั้นเดียวโล่ง ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาคอนกรีต หลังคาทรงไทยประยุกต์

หอระฆัง

[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 2.5 เมตร สูง 8 เมตร

หอกลอง

[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นอาคารคอนรีตสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 2.5 เมตร สูง 8 เมตร

หอพระไตรปิฎก

[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาจตุรมุข ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 9 เมตร

โรงเรียนพระปริยัติธรรม

[แก้]

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น 9 ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 40 เมตร

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]

ลำดับเจ้าอาวาสจากอดีต - ปัจจุบัน เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดโบราณเก่าแก่ เริ่มแรกจึงไม่มีผู้บันทึกหรือจำได้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าอาวาส เท่าที่มีหลักฐานปรากฏไว้ ดังนี้[5]

ลำดับที่ รายนาม ปีที่ดำรงตำแหน่ง
1 พระครูสมบูรณ์มัธยมคณะกิจ (หลักคำอุด) ไม่พบข้อมูล
2 พระปลัดเสน ไม่พบข้อมูล
3 พระสมุห์แก้ว ไม่พบข้อมูล
4 พระอธิการบุญมา ไม่พบข้อมูล
5 พระอธิการสาร ไม่พบข้อมูล
6 พระสุมังคลาจารย์ (แดง สีลวนฺโต) รักษาการ พ.ศ. 2570 - 2472
7 พระอธิการสิงห์ ไม่พบข้อมูล
8 พระอธิการพิมพ์ ไม่พบข้อมูล
9 พระอธิการเผือ ไม่พบข้อมูล
10 พระอธิการผอง ไม่พบข้อมูล
11 พระปลัดสุตตา ไม่พบข้อมูล
12 พระครูเกษตรศิลาจารย์ (ทอง จนฺทสาโร) ไม่พบข้อมูล
13 พระเกษตรศีลาจารย์ (หนู อุตฺสาโห) พ.ศ. 2488 - 2530
14 พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ ป.ธ.3) พ.ศ. 2532 - 2551
15 พระราชกิตติรังษี (บุญทัน สนฺตจิตโต) พ.ศ. 2552 - 2565
16 พระวชิโรปการ (หงส์ ปคุโณ ป.ธ.4) รักษาการ พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประวัติวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม [1]
  2. หนังสือที่ระลึกพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม[2]
  3. วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม พระอารามหลวง [3]
  4. สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญภายในวัด [4]
  5. ลำดับเจ้าอาวาส [5]