วัดสาวชะโงก
วัดสาวชะโงก | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระอธิการธีรศักดิ์ ฐาตุกาโม |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสาวชะโงก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ในตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
วัดสาวชะโงกตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2356 โดยมีนายนุช นางยัง ชาวคลองสองพี่น้อง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัด โดยอุทิศที่ดินประมาณ 6 ไร่ เพื่อก่อสร้างวัด เริ่มแรกมีกุฏิมุงหลังคาด้วยจาก ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2380 ทางวัดและญาติโยมได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถ กว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร และกุฏิสงฆ์ แต่เนื่องจากที่ทุนทรัพย์น้อยจึงก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จนต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2392 ขุนพัส (รั้ง) ได้ร่วมกับชาวบ้านดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดเพิ่มเติมรวมถึงได้ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2392 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2457 นายเจิม ซึ่งเป็นบุตรของนายโตกับอำแดงกลิ่น อยู่คลองบ้านหมู่ ได้บริจาคที่ดินถวายให้วัดสาวชะโงกเป็นที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 48 ไร่ 96 ตารางวา ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 นายเฉลิม เดชสุภะพงษ์ ได้มอบที่ดินให้เป็นที่กัลปนา จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา[1] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2512
เหตุที่ชื่อว่าวัดสาวชะโงกเพราะมีตำนานเล่าว่า ได้มีการยกขันหมากมาทางเรือ เพื่อมาสู่ขอเจ้าสาว เมื่อขบวนขันหมากใกล้มาถึง เจ้าสาวได้ชะโงกหน้าดูขบวนขันหมาก ทำให้พลัดตกลงมาจากเรือนเสียชีวิต ต่อมาพ่อแม่เจ้าสาวได้ยกที่ดินผืนนี้ถวายสร้างเป็นวัด จึงได้ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้เสียชีวิตว่า "วัดสาวชะโงก"[2]
วัดมีเกจิอาจารย์ดังเป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป คือ พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) ท่านสร้างผ้ายันต์แดงแจกทหารในสงคราม แต่ที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวถึงคือ ปลัดขิก[3] ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาทจำลอง อายุร้อยกว่าปี
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- พระอธิการสังข์ พ.ศ. 2356–2396
- พระอธิการขิก พ.ศ. 2396–2451
- พระอธิการแบน พ.ศ. 2451–2460
- พระอธิการชื่น พ.ศ. 2460–2474
- พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) พ.ศ. 2474–2488
- พระอธิการหงวน พ.ศ. 2488–2490
- พระอธิการช้วน (รักษาการ) พ.ศ. 2490–2492
- พระครูถาวรธรรมานุวัตร (จวน) พ.ศ. 2492–2547
- พระอธิการประเสริฐ ปัญญาวโร พ.ศ. 2548–2553
- พระอธิการธีรศักดิ์ ฐาตุกาโม พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดสาวชะโงก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดสาว ชะโงก วัดเก่าที่น่าแวะ".
- ↑ "หลวงพ่อเหลือ นันทสาโร วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา". ข่าวสด.