วัดสะตือ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
วัดสะตือ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดสะตือ, วัดท่างาม, วัดท่าหลวง, วัดสะตือพุทธไสยาสน์ |
ที่ตั้ง | ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธรูปปางไสยาสน์ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสะตือ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ในตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามหลักฐานเดิมวัดมีพื้นที่ประมาณ 37 ไร่ แต่แม่น้ำกัดเซาะจนเว้าแหว่งเหลือเพียง 15 ไร่เศษ
วัดสะตือสร้างเมื่อ พ.ศ. 2400[1] พระอุปัชฌาย์บัตร จันทโชติ อดีตเจ้าอาวาสวัดสะตือชี้แจงไว้ในหนังสือสมุดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ว่า วัดสะตือเดิมอยู่ทางเหนือขึ้นไปไม่ไกลนัก ที่เรียกว่าวัดสะตือเพราะถือเอาต้นสะตือใหญ่ที่มีอยู่ในวัดเป็นนิมิต ต่อมาเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นแล้ว วัดสะตือจึงย้ายไปตั้งที่บริเวณพระพุทธไสยาสน์ และเรียกนามใหม่ตามตำบลว่า วัดท่างาม ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธบาท ได้เสด็จฯ ขึ้นท่าน้ำตำบลนี้ 2 ครั้ง แต่นั้นมาจึงเรียกตำบลใหม่ว่าตำบลท่าหลวง และเรียกนามวัดใหม่ว่า วัดท่าหลวง ต่อมากลับไปเรียก "วัดสะตือ" ตามเดิม
ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานทางทิศใต้ของวัด มีขนาดยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตรและสูง 16 เมตร มีศาลาดินหรือวิหารสมเด็จ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารไม้โปร่งมุงสังกะสีใช้สลักเดือยแทนการตอกตะปูสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายมีรูปทรงเป็นเรือสำเภา ซึ่งสมเด็จพุฒาจารย์โตได้พักอาศัยเมื่อคราวมาคุมการก่อสร้างองค์พระพุทธไสยาสน์ ต่อมาได้สร้างวิหารคู่เชื่อมต่อกันเป็นศาลาน้ำหรือศาลาริมแม่น้ำป่าสัก และยังมีฌาปนสถานซึ่งใช้เป็นเตาน้ำมันแห่งแรกในอำเภอท่าเรือ ภายในอุโบสถมีพระประธาน ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 64 นิ้ว สูง 126 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497 และพระปรางค์นาคปรกศิลปะทวารวดีเนื้อหินทรายซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุไว้ รวมทั้งรอยพระพุทธบาทจำลองอายุนับร้อยปี[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดสะตือ". สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา.
- ↑ "วัดสะตือ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).