ข้ามไปเนื้อหา

วัดศรีรองเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดศรีรองเมือง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดศรีรองเมือง, วัดศรีสองเมือง, วัดท่าคราวน้อยพม่า
ที่ตั้งตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระพุทธรูปบัวเข็ม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดศรีรองเมือง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

วัดศรีรองเมืองสร้างโดยพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะ คหบดีชาวไทใหญ่ ที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปาง ของบริษัท บอมเมย์เบอร์ม่า สร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุที่มีอาชีพตัดไม้ โค่นต้นไม้ในป่า จึงได้สร้างวัดศรีรองเมืองนี้ได้เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ขอขมาต่อธรรมชาติ[1] โดยใช้ช่างฝีมือชาวพม่าในการบูรณะจากวัดเดิมที่มีอยู่ก่อน ชื่อวัดศรีรองเมืองสะกดเพี้ยนมาจากชื่อเดิมที่เรียก วัดศรีสองเมือง ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่ของสำนักสงฆ์อันมีชื่อตามนามสกุลของผู้บริจาคที่ดิน สำนักสงฆ์ศรีสองเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2434[2] วัดนี้เดิมชื่อ วัดท่าคราวน้อยพม่า ต่อมาใน พ.ศ. 2524 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตวิหารของวัดศรีรองเมืองไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 98 ตอนที่ 177 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2524

วิหารมีลักษณะแบบวิหารไทใหญ่ในภาคเหนือซึ่งมีลวดลายสลักปิดทองและเครื่องไม้ประดับที่สวยงาม วิหารเป็นอาคาร 2 ชั้นมีหลังคาซ้อนกันแบบพม่า ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนทำด้วยไม้ ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ทำจากไม้ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางของเรือนยอด บนวิหารที่เป็นเรือนไม้นั้นมีเสากลมใหญ่เรียงรายกันหลายต้น แต่ละต้นประดับประดาด้วยลวดลายจำหลักไม้และกระจกสีแวววับสวยสดงดงาม พระพุทธรูปบัวเข็ม เป็นพระประธานของวิหาร แกะสลักจากไม้ศิลปะพม่า มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า สมัยก่อนมีไม้สักท่อนขนาดมหึมาไหลมาตามแม่น้ำวังแล้วมาติดอยู่ที่ท่าน้ำหลังวัดศรีรองเมือง ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันนำท่อนไม้สักมาเก็บรักษาไว้ที่วัดและกราบไหว้กัน จนวันหนึ่งมีฝนตกฟ้าร้องลมพัดแรงมากปรากฏว่าเทียนที่จุดไว้บนท่อนไม้ไม่ยอมดับ ศรัทธาชาวบ้านพร้อมด้วยพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะจึงได้ให้ช่างมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปแบบพม่าแล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วิหารวัด[3]

วัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่สวยงามอีกมากมาย เช่น เว็จกุฏีหรือส้วมพระที่มีลักษณะแปลกตาและงดงามตามศิลปะการก่อสร้างของไทยใหญ่เว็จกุฏีนี้ตั้งอยู่ห่างจากแนวโบราณสถานเดิม (วิหาร) ประมาณ 15 เมตร โดยตั้งอยู่ชิดกำแพงวัดทางด้านทิศตะวันตก ใน พ.ศ.2544 ได้มีหนังสือขอให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเว็จกุฏีแห่งนี้เพิ่มเติม

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดศรีรองเมือง". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
  2. "ไทยทัศนา : (34) จองพม่า-ไทใหญ่ วัดศรีรองเมือง ลำปาง". วอยซ์ทีวี.
  3. จักรพงษ์ คำบุญเรือง. "ศิลปกรรมพม่าที่วัดศรีรองเมืองลำปาง". เชียงใหม่นิวส์.