วัดบวรมงคลราชวรวิหาร
วัดบวรมงคลราชวรวิหาร | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดบวรมงคล ราชวรวิหาร, วัดบวรมงคล, วัดลิงขบ |
ที่ตั้ง | เลขที่ 492 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 แยก 19 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700 |
ประเภท | พระอารามหลวง |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
เจ้าอาวาส | พระราชวราจารย์ (วิวัฒน์ จิณฺณธมฺโม ป.ธ.๕, น.ธ.เอก, ศน.บ.) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดบวรมงคล ราชวรวิหาร หรือ วัดลิงขบ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่เดิมเป็นรามัญนิกาย ตั้งอยู่ที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]วัดบวรมงคล ราชวรวิหารตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีเดียวกัน เดิมชื่อ วัดลิงขบ เนื่องจากบริเวณรอบวัดเป็นป่า มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก[1] สร้างโดยชาวรามัญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวรามัญ มีพระสงฆ์รามัญอยู่มาก และมีพระผู้ใหญ่เป็นประธานสงฆ์อยู่ด้วย จึงบูรณะให้เป็นวัดส่วนกลางสำหรับพระสงฆ์รามัญนิกาย ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดบวรมงคล ต่อมาสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2352
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างตำหนักขึ้นหลังหนึ่ง เรียกกันว่า ตำหนักพระจอม หรือ เก๋งพระจอม สำหรับประทับแรมชั่วคราวสำหรับพระองค์ในยามที่มาประทับเป็นเวลานาน ๆ เพื่อทรงเสวนาและศึกษาธรรมกับพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) ซึ่งเป็นพระเถรานุเถระชาวรามัญที่น่าเลื่อมใส เป็นผู้ทรงภูมิรู้และภูมิธรรม ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์รามัญนิกายดังกล่าวนี้ จึงทำให้พระองค์โปรดสถาปนาให้มีพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายในกาลต่อมา
ปี พ.ศ. 2410 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และได้มีการสร้างพระเจดีย์หงสาขึ้น เป็นพระเจดีย์หมู่ 9 องค์ ประกอบด้วยเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ และเจดีย์บริวาร 8 องค์ เป็นศิลปกรรมแบบมอญ ล่วงเลยถึงสมัยรัชกาลที่ 6 วัดบวรมงคลได้รับพระราชทานให้โอนสังกัดเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย
วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2498 ก่อตั้งโรงเรียนวัดบวรมงคล หรือโรงเรียนวัดลิงขบ ในเขตธรณีสงฆ์ของวัดบวรมงคล ด้านทิศตะวันตก ผู้ก่อตั้งโรงเรียน คือ ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิวงศ์ อดีตรองเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล[2]
ปี พ.ศ. 2560 ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ระเบียงคด จากนั้นปี พ.ศ. 2561 บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์
อาคารเสนาสนะ
[แก้]พระอุโบสถ กว้าง 12.30 เมตร ยาว 35.20 เมตร หลังคาซ้อนชั้นแบบลดมุข 3 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าต่างระหว่างเสาเป็นซุ้มทรงบันแถลงนาคสามเศียร 2 ชั้น หน้าบันจำหลักเป็นรูปตาลปัตรพัดยศ ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถมีมุขบนชานชาลา มีเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองรับชายคามุข ภายในประดิษฐาน พระพุทธมงคลวรนิมิตร หน้าตักกว้าง 3.40 เมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี 7.45 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาวัด วัดมีวิหารคด จากผนังแนวกำแพงด้านในของพระอุโบสถตลอดทั้งสี่ด้าน มีพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 95 ซม. สูง 1.39 เมตร จำนวน 108 องค์ ประดิษฐานอยู่บริเวณวิหารคด อุโบสถมีพระเจดีย์ประจำมุมทั้ง 4 ด้าน
พระเจดีย์มีลักษณะศิลปะมอญ เป็นพระเจดีย์หมู่ 9 องค์ มีนามว่า พระเจดีย์หงสา ประกอบด้วยเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ และเจดีย์บริวาร 8 องค์ เจดีย์ประธานมีลักษณะย่อมุมไม้ยี่สิบ องค์เจดีย์ไม่มีเรือนธาตุ แต่ทำเป็นฐานลดระดับขึ้นไปรับองค์ระฆัง ปล้องไฉน ปลี และลูกแก้ว ตั้งซ้อนเป็นลำดับขึ้นไป
อาคารเสนาสนะอื่น เช่น หอระฆังเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น รูปแบบผสมผสานระหว่างไทยกับตะวันตก
อาคารอนุสรณ์สถาน รัชกาลที่ 4 เดิมเป็นอาคารไม้ ชาวบ้านเรียก ตำหนักพระจอม หรือ เก๋งพระจอม ชำรุดตามกาลเวลา คณะสงฆ์วัดบวรมงคลได้เสนอคณะธรรมยุตในโอกาสครบ ๒๐๐ ปี วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พ.ศ.2548 ได้สร้างอาคารอนุสรณ์สถาน ร.4 เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และเก็บโบราณวัตถุของวัด[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดบวรมงคล". ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานเขตบางพลัด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-16. สืบค้นเมื่อ 2020-09-11.
- ↑ "วัดลิงขบมีอยู่จริง". มติชนรายสัปดาห์. 31 ตุลาคม 2559.
- ↑ "วัดบวรมงคล จุดเริ่มต้นแรงดลใจ สู่ธรรมยุติกนิกาย". ผู้จัดการออนไลน์. 4 เมษายน 2559.