ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระแก้วมรกต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระแก้วมรกต
พระวิหารพระแก้วมรกต
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอุโบสถรตนาราม
ที่ตั้งถนนสมเด็จสุธารส แขวงเจ็ยจ็อมเนียะ เขตโฎนปึญ พนมเปญ ประเทศกัมพูชา
พระประธานพระแก้วมรกต
พระพุทธรูปสำคัญพระชินรังสีราชิกนโรดม[1]
พระจำพรรษาไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ความพิเศษพระอารามประจำพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดอุโบสถรตนาราม (เขมร: វត្តឧបោសថរតនារាម, วตฺดฺอุโบสถฺรตฺนาราม) นิยมเรียกว่า วัดพระแก้วมรกต (វត្តព្រះកែវមរកត, วตฺดฺพระแกวมรกต) หรือเรียกโดยย่อว่า วัดพระแก้ว (វត្តព្រះកែវ, วตฺดฺพระแกว) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา[2] เป็นวัดในพระราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร[3] ด้วยมีธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกัน[4] และถูกสร้างด้วยแรงบันดาลใจจากวัดหลวงในกรุงเทพมหานคร[5] ภายในพระวิหารมีการปูเสื่อที่ทำจากเงินบริสุทธิ์ ทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า วิหารเงิน[6]

วัดพระแก้วมรกตถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของพนมเปญ เพราะภายในวัดประกอบด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญหลายยุคสมัย มักใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญหรือกิจกรรมระดับชาติ ทั้งยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุภายในพระปรางค์คันธบุปผา

ประวัติ

[แก้]
วัดพระแก้วมรกตใน พ.ศ. 2447

วัดพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารเมื่อ พ.ศ. 2435 จนถึง พ.ศ. 2445[7] มีออกญาเทพนิมิต (รส) วาดเค้าโครงและแผนผังของวัด แต่มีสถาปนิกฝรั่งเศสชื่อ Alavigne เป็นผู้ดูแลความถูกต้อง และสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง สุวณฺณเกสโร) เป็นผู้ตรวจสอบ[7] ด้านการก่อสร้างและประดับตกแต่งจัดทำโดยช่างเขมรและสถาปนิกฝรั่งเศสชื่อ Andrilleux จนแล้วเสร็จและสมโภชในปี พ.ศ. 2446 รวมเป็นเงินทั้งหมดห้าแสนเรียล[7] ในหนังสือ เอกสารมหาบุรุษเขมร ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงพระราชทานนามศาสนสถานแห่งนี้ว่า วัดอุโบสถรตนาราม ดังปรากฏความว่า "...พระบาทสมเด็จพระนโรดมทรงพระยินดีพ้นประมาณ ทรงพระบัญญัติให้เรียกนามวัดว่า พระอุโบสถรตนารามพระแก้วมรกต..."[7] วัดพระแก้วมรกตเป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงศีลอุโบสถทุกวันอุโบสถ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง[6][8]

วัดพระแก้วมรกตได้รับอิทธิพลการก่อสร้างจากสถาปัตยกรรมไทยพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เพราะ พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ผู้สร้างวัด, ออกญาเทพนิมิต (มัก) สถาปนิก และสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง สุวณฺณเกสโร) ที่ปรึกษา ล้วนแต่เป็นบุคคลที่เติบโตและเข้ารับการศึกษาที่กรุงเทพมหานครหลายปี จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้วัดหลวงแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากไทยไปมาก[6][9] พึงสังเกตว่าชื่อวัดอุโบสถรตนาราม คล้ายคลึงกับชื่อวัดพระศรีรัตนศาสดารามของไทย รวมทั้งมีธรรมเนียมปฏิบัติคล้ายคลึงกันมาก[10]

วัดแห่งนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในพระบรมราชวัง แต่มีครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2470 ที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงผนวชและจำพรรษาในวัดแห่งนี้หนึ่งพรรษา[11] และในรัชกาลนี้เองได้มีการบูรณะวัดพระแก้วมรกตขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2505[12] จนถึง พ.ศ. 2513 ตรวจงานโดยออกญาวังวรเวียงชัย (ซาน ย็วน)[7]

อาคาร

[แก้]

พระวิหารพระแก้วมรกต

[แก้]
พระวิหารพระแก้วมรกต หรือวิหารเงิน

พระวิหารพระแก้วมรกต เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกต สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร โดย Andrilleux สถาปนิกชาวฝรั่งเศสนำเครื่องมือช่างมาใช้ในการก่อสร้าง มีสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง สุวณฺณเกสโร) และพระธรรมลิขิต (ยืม) คอยตรวจตราการก่อสร้างทุกวัน วิหารเป็นทรงจตุรมุข ภายในกว้าง 11 เมตร 40 เซนติเมตร ยาว 31 เมตร 60 เซนติเมตร ประกอบด้วยประตู 8 ประตู และหน้าต่างอีก 16 บาน จิตรกรรมฝาผนังทำเป็นรูปเทพนิมิตในเรื่องปฐมสมโพธิ และทศชาติล้อมรอบ ตรงกลางสร้างเป็นบัลลังก์เพชร มีดอกบัวผุดซ้อนเกสรสำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกต ด้านบนพระพุทธรูปมีเศวตฉัตร เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงจัดพระราชพิธีฉลองการบรรจุสีมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445[13]

ในอดีตถือว่าวิหารของวัดพระแก้วมรกตมีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุดในกรุงพนมเปญ ดังปรากฏในพระนิพนธ์ นิราศนครวัด ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "...ขนาดพระอุโบสถ นอกจากวัดพระแก้วที่ในวัง จะหาใหญ่เท่าวัดมกุฎกษัตริย์หรือวัดโสมนัสวิหารไม่มีเลย ฝีมือสร้างจะหาน่าชมมิใคร่พบ..."[14] และทรงกล่าวไว้อีกความว่า "...พระอุโบสถนั้นทำเป็นทรงพระอุโบสถสามัญแต่มียอดปราสาท ข้างในพระอุโบสถปูกระเบื้องเงิน ฝาผนังหว่างหน้าต่างเขียนเรื่องปฐมสมโพธิ กลางพระอุโบสถมีฐานชุกชี ตั้งบุษบกรองพระแก้ว..."[15]

วิหารแห่งนี้เริ่มทรุดโทรมลงตามกาลเวลา สมเด็จพระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิรีวัฒนามีพระราชดำริที่จะบูรณะวิหารขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2505 กระทำโดยการรื้อวิหารเดิมแล้วสร้างขึ้นใหม่ โดยคงรูปแบบของสถาปัตยกรรมเดิมไว้ แต่เพิ่มเติมด้วยการปูเสื่อที่ทำจากเงินบริสุทธิ์ 5,329 แผ่น และประดับหินอ่อนจากประเทศอิตาลี คิดเป็นเงินทั้งหมด 20 ล้านเรียล[16]

พระแก้วมรกต

[แก้]
พระแก้วมรกต

พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปสำคัญของพระวิหารนี้ มีขนาดเล็ก ประดิษฐานอยู่บนบุษบก องค์พระทำจากคริสตัลสีเขียวของห้างบาการาคริสตัล (Baccarat Crystal) ในประเทศฝรั่งเศส ทำให้มีพุทธลักษณะที่ต่างออกไปจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดารามของไทยไปโดยสิ้นเชิง[5] ส่วนที่จำลองจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรไปนั้น เพราะฝ่ายกัมพูชาเข้าใจว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเคยประดิษฐานในดินแดนของตนมาก่อน โดยอิงจากตำนานพระโคพระแก้ว[17] และใน ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา อ้างว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ในกรุงกัมพูชามาก่อน เนื้อหากล่าวถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จเสนกราช ขณะนั้นกรุงอินทปรัตเกิดอุทกภัยใหญ่ พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์กรุงอโยชนครปรารถนาที่จะได้พระแก้วมรกตไปไว้พระนคร จึงกราบบังคมทูลเชิญกษัตริย์ ขุนนางกรุงอินทปรัต พร้อมพระแก้วมรกตไปไว้กรุงอโยชนคร โดยสร้างพระวิหารเป็นพระอารามหลวงไปไว้เป็นอย่างดี ครั้นกรุงอินทปรัตน้ำแห้งลง พระบาทสมเด็จพระเสนกราชสวรรคตในอโยชนคร พระสิงหกุมารจึงทูลลาพระเจ้าอาทิตยราชไปปลงพระบรมศพของพระราชบิดาที่กรุงอินทปรัต แต่พระเจ้าอาทิตยราชทูลขอพระแก้วมรกตไว้ พระสิงหกุมารมีพระราชดำริว่า อโยชนครก็เป็นประเทศเอกราช และมีบุญคุณต่อกรุงอินทปรัต จึงทูลตอบอนุญาต แล้วนิวัตกรุงอินทปรัตพร้อมกับพระบรมศพ[18]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ใน นิราศนครวัด ความว่า "...พระแก้วนั้น สมเด็จพระนโรดมสั่งให้ไปทำเป็นพระแก้วมรกตที่ห้างปักกะราต์ฝรั่งเศส ข้อนี้ทราบมานานแล้ว มาได้ความรู้เพิ่มเติมเมื่อเห็นตัวจริง ว่าตั้งใจจะจำลองให้เหมือนพระแก้วมรกตที่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระนโรดมเห็นจะให้ไปสืบแลวัดมาดูได้ขนาดเท่ากัน แต่รูปสัณฐานนั้นผิดกันห่างไกล สีแก้วมรกตที่ฝรั่งเศสหล่อเป็นแก้วใสเป็นอย่างขวดเขียวสี่เหลี่ยม ที่มักใช้ใส่น้ำอบกันแต่ก่อน เครื่องประดับก็ทำแต่ทองครอบพระเกตุมาลา แล้วติดรัศมีต่อขึ้นไป..."[19]

ส่วนหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนหนังสือชื่อ ถกเขมร ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ด้วย ความว่า "...ไปอีกด้านหนึ่งของพระราชวังมีวัดพระแก้ว มีพระพุทธรูปตั้งอยู่บนบุษบกทองในพระอุโบสถ พระพุทธรูปนั้นเป็น "พระแก้ว" จริง ๆ สีเขียวขนาดขวดโคคาโคล่า และสั่งทำมาจากฝรั่งเศส..."[20]

พระชินรังสีราชิกนโรดม

[แก้]

พระชินรังสีราชิกนโรดม เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์เมื่อ พ.ศ. 2447 สนองพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารก่อนสวรรคตว่าหลังถวายพระเพลิงแล้ว ให้นำโกศทองคำมาหลอมสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งอุทิศแก่พระศรีอริยเมตไตรย โดยพระพุทธรูปองค์นี้ทำจากทองคำ 90 กิโลกรัม (รวมฐานและฉัตร) ประดับเพชรพลอยจำนวน 2,086 เม็ด เพชรเม็ดใหญ่สุดมีขนาด 25 มิลลิเมตรอยู่ที่มงกุฎ และเพชรขนาดรองลงมาคือ 20 มิลลิเมตรประดับที่สังวาล[1]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงระบุเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ใน นิราศนครวัด ความว่า "...มีของแปลกที่น่าดูอย่างหนึ่ง คือพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนโรดม ทำเป็นพระยืนทรงเครื่อง (แบบฉลองพระองค์ในกรุงเทพฯ) แต่แต่งเครื่องเพชรพลอยอย่างใหม่ฝีมือฝรั่ง ซึ่งเป็นของสมเด็จพระนโรดมทรงพระอุทิศไว้ ฝีมือทำก็งามดี ในวัดพระแก้วมีที่ดูเท่านี้..."[19]

พระระเบียงและจิตรกรรมฝาผนัง

[แก้]
พระระเบียงวัดพระแก้วมรกต

พระระเบียงของวัดพระแก้วมรกตมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง เรียมเกรติ์ หรือรามายณะฉบับเขมรตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มเรื่องทางด้านทิศตะวันออกแล้วเวียนประทักษิณ มีความยาวทั้งหมด 642 เมตร เริ่มเขียนเมื่อ พ.ศ. 2446-2447 โดยออกญาเทพนิมิต (เธียะก์) และช่างเขียนคนอื่น ๆ อีก 40 คน โดยมีลักษณะที่แตกต่างไปจากจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง รามเกียรติ์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามของไทยคือมีการเขียนเรื่องย่อเพื่อบอกเหตุการณ์ในภาพกำกับไว้ด้วย[21]

วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า จิตรกรรมฝาผนังของเรียมเกรติ์นำเนื้อเรื่องและตัวละครมาจากจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นส่วนใหญ่ แต่มีการนำเสนอที่ต่างกัน ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดของจิตรกรเมื่อส่งผ่านวัฒนธรรมหนึ่งไปอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แรงบันดาลใจทางสังคมวัฒนธรรม และบริบทการวาดและลีลาของจิตรกรแต่ละท่าน รวมทั้งผู้มีบทบาทในการสร้างจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้วมรกตทั้งสามคนคือ พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ผู้สร้างวัด, ออกญาเทพนิมิต (มัก) สถาปนิก และสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง) ที่ปรึกษา ล้วนแต่เป็นบุคคลที่เติบโตและเข้ารับการศึกษาที่กรุงเทพมหานครหลายปี จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้จิตรกรรมฝาผนังนี้ได้รับอิทธิพลจากไทยไปอย่างสูง[6]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระระเบียงและจิตรกรรมฝาผนังไว้ใน นิราศนครวัด ความว่า "...วัดพระแก้วมีพระระเบียงล้อมรอบ ฝาผนังพระระเบียงเขียนเรื่องรามเกียรติ์ อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่รูปภาพเขียนฝีมือเลวไม่น่าดู ดีแต่ฝาผนังไม่ชื้นเหมือนพระระเบียงวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ ภาพยังดี..."[22]

ปัจจุบันพระระเบียงวัดพระแก้วมรกตมีความชำรุดทรุดโทรมมาก ทั้งจากสภาพอากาศและการทำลายจากน้ำมือมนุษย์ กระทั่ง พ.ศ. 2528 รัฐบาลกัมพูชาได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลโปแลนด์ในการบูรณะซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังนี้ แต่ทำได้เพียง 5 ปีก็ยุติลง เพราะใช้งบประมาณเกินกำหนด[23]

มณฑปพระไตรปิฎก

[แก้]
มณฑปพระไตรปิฎก

มณฑปพระไตรปิฎก เป็นมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระวิหารพระแก้วมรกต สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ปรากฏใน เอกสารมหาบุรุษเขมร ว่า "...ที่ลานด้านทิศเหนือก่อดินสูงตำให้แน่นจัดหินก่อสร้างเป็นพระมณฑป ลวดลายตกแต่งหลายชั้น ยอดแหลมสูงขึ้นไปข้างบนประดับกระจกปิดทองสว่างพร่างพราย มีหน้าต่างเปิดปิด ฐานข้างล่างในปูกระเบื้องสี ข้างนอกตกแต่งด้วยหินและบันไดตัดด้วยหินอ่อนสำหรับประดิษฐานพระคัมภีร์พระไตรปิฎก..."[23]

นอกจากนี้ ภายในมณฑปพระไตรปิฎกยังเป็นที่ประดิษฐานพระโคนนทิสัมฤทธิ์ ซึ่งพบขุดพบที่อำเภอเกาะธม จังหวัดกันดาล เมื่อ พ.ศ. 2526[23]

กึงพระบาท

[แก้]
กึงพระบาท
พระมณเฑียรสธรรม หรือธรรมศาลา
พระรูปมหินทสุวรรณสนองพระองค์ประทับอัสสพงศ์

กึงพระบาท เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์ที่ได้ตรัสรู้และปรินิพพานไปแล้ว ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม[24] สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ปรากฏใน เอกสารมหาบุรุษเขมร ว่า "...ที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถมดินจัดหินทำเป็นกึงรจนา ข้างในสร้างเป็นองค์พระพุทธปฏิมาประทับเหนือรัตนบัลลังก์ และประดิษฐานรอยพระพุทธบาทปถวีทั้ง ๔ พระองค์ ซึ่งประทับมีรอยอยู่ในแผ่นดิน..."[25]

พระมณเฑียรสธรรม

[แก้]

พระมณเฑียรสธรรม หรือธรรมศาลา เป็นสถานที่สำหรับเจริญพระปริตรและสัตตปรณากรรม สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ปรากฏใน เอกสารมหาบุรุษเขมร ว่า "...ที่ลานทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถมดินตำให้แน่นราบเสมอก่อสร้างเป็นพระมณเฑียรสัทธรรมมุงกระเบื้องสีใส่ช่อฟ้านาคสะดุ้ง หน้าจั่วลวดลายประดับกระจกปิดทองสำหรับพระภิกษุสงฆ์เทศนาจำเริญพระสัตตปกรณาภิธรรมถวายพระราชกุศล..."[24][25]

พนมขันทมาลีนาทีบรรพตไกลาส

[แก้]

พนมขันทมาลีนาทีบรรพตไกลาส หรือพนมมณฑป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด เป็นพระมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสัมฤทธิ์ที่มีลายมงคลจำหลัก 108 ประการ[25] สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร คราวเดียวกับการก่อสร้างมณฑปพระไตรปิฎก[23]

หอระฆัง

[แก้]

หอระฆัง สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเปิดและปิดประตูพระวิหารพระแก้วมรกตในพระราชพิธีต่าง ๆ และในเวลาที่พระสงฆ์เข้าเรียนภาษาบาลี[25]

พระรูปมหินทสุวรรณสนองพระองค์ประทับอัสสพงศ์

[แก้]

พระรูปมหินทสุวรรณสนองพระองค์ประทับอัสสพงศ์ เป็นพระบรมรูปของสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงม้า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2418 เป็นของขวัญจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 นำมาประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระแก้วมรกตตั้งแต่ พ.ศ. 2435 จากการค้นคว้าของไกรฤกษ์ นานา พบว่า ในเอกสารของปอล ดูแมร์ ให้ข้อมูลพระบรมรูปทรงม้าเดิมแล้วเป็นพระรูปของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แต่ถูกเลื่อยพระเศียรออกแล้วเปลี่ยนเป็นพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารแทน[9] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุทรงบวงสรวงขอชัยชนะต่อพระบรมรูปนี้ในการเรียกร้องเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสและสัมฤทธิ์ผล พระองค์จึงสร้างมณฑปครอบพระบรมรูปเมื่อ พ.ศ. 2496[24][26]

พระเจดีย์และพระปรางค์

[แก้]

นอกเหนือศาสนาคารแล้ว ยังมีพระเจดีย์และพระปรางค์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของบุรพมหากษัตริย์และพระอัฐิของเจ้านายบางพระองค์ด้วย ดังนี้[24][27]

  1. พระเจดีย์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี เป็นพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่ทางใต้ สำหรับบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี สร้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2450 ฐานพระเจดีย์มีศิลาจารึกพระราชประวัติสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีไว้ด้วย แต่ปัจจุบันจารึกนี้ลบเลือนมาก องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงระฆังกลมสูงชะลูด ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นจำนวนมาก โดยเฉพาะลายสายสังวาลห้อยระย้ารอบองค์ระฆัง ถือเป็นศิลปะพนมเปญยุคที่ 2[28]
  2. พระเจดีย์พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร เป็นพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ สำหรับบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร สร้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2450 สร้างพร้อมกับพระเจดีย์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ฐานพระเจดีย์มีศิลาจารึกพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารไว้ด้วย เจดีย์นี้มีลักษณะแบบเดียวกับพระเจดีย์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี คือเป็นศิลปะพนมเปญยุคที่ 2[28]
  3. พระเจดีย์พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต เป็นพระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต พระราชชนกในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ สร้างใน พ.ศ. 2503
  4. พระปรางค์คันธบุปผา เป็นพระปรางค์สำหรับบรรจุพระอัฐิของพระองค์เจ้านโรดม คันธบุปผา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2503 โดยสร้างตามอย่างศิลปะเขมรแบบบันทายศรี หลังพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุเสด็จสวรรคตแล้ว มีการนำพระบรมอัฐิของพระองค์มาบรรจุไว้ในพระปรางค์คันธบุปผา เคียงคู่พระอัฐิของพระราชธิดาองค์โปรด ตามพระราชกระแสที่มีไว้ก่อนสวรรคต[29][30]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 เขมรสมัยพระนคร, หน้า 138
  2. Brew, Melanie (2008-12-17). "I want to move to ... Chey Chumneas, Phnom Penh". Phnom Penh Post. สืบค้นเมื่อ 2020-05-13.
  3. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 131
  4. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 184
  5. 5.0 5.1 ลิ้มหัสนัยกุล, ธนภัทร์ (19 Nov 2019). "วัดอุโบสถรตนาราม วัดพระแก้วในวังหลวงพนมเปญ ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตคริสตัลฝรั่งเศส". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 7 Mar 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "รามเกร์-รามเกียรติ์ ที่พระราชวัง "จตุมุข" กรุงพนมเปญ". Matichon Academy. สืบค้นเมื่อ 7 Mar 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 133
  8. ศิลปะเขมร, หน้า 157
  9. 9.0 9.1 เสมียนนารี (21 ตุลาคม 2565). "พระบรมรูปกรุงพนมเปญ พระบรมรูปชวนสงสัย ว่าเป็นผู้ใดกันแน่?!?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. ศิลปะเขมร, หน้า 161
  11. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 135
  12. Chum Ngoen. Guide to Wat Preah Keo Morokot. Phnom Penh:1996, p.2
  13. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 136
  14. นิราศนครวัด, หน้า 27
  15. นิราศนครวัด, หน้า 52
  16. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 137
  17. อภิญญา ตะวันออก (8 Jul 2020). "5 สิ่ง "เขมร-ไทย" ในประเด็นตามหา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 7 Mar 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 69-70
  19. 19.0 19.1 นิราศนครวัด, หน้า 52-53
  20. ถกเขมร, หน้า 149
  21. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 139
  22. นิราศนครวัด, หน้า 51-52
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 140
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 ศิลปะเขมร, หน้า 159
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 143
  26. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 145
  27. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 148
  28. 28.0 28.1 ศิลปะเขมร, หน้า 118-119
  29. "กัมพูชาประกอบพระราชพิธีลอยพระสรีรางคารเจ้าสีหนุ". วอยซ์ทีวี. 5 Feb 2013. สืบค้นเมื่อ 8 Mar 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  30. "กัมพูชาบรรจุพระบรมอัฐิอดีตกษัตริย์สีหนุ". เดลินิวส์. 11 Jul 2014. สืบค้นเมื่อ 8 Mar 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]