วัดพรหมเทพาวาส
วัดพรหมเทพาวาส | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดพรหมเทพาวาส, วัดชลวน |
ที่ตั้ง | ตำบลหัวป่า อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพรหมเทพาวาส เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหัวป่า อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
ประวัติ
[แก้]วัดพรหมเทพาวาส ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2446 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2449[1] แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากประวัติพระพิมลธรรม (อ้น) ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพรหมเทพาวาสเมื่ออายุได้ 14 ปี พ.ศ. 2378 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นว่าวัดมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้รับการอุปถัมภ์เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4,5,6 และ 7
แต่เดิมวัดเรียกว่า วัดชลวน [ชน-วน] เนื่องจากตรงวัดน้ำเชี่ยวมากและวนด้วย ต่อมาออกเสียงเป็น วัดชลอน [ชะ-ลอน][2] วัดพรหมเทพาวาสเป็นสถานที่สำหรับข้าราชการเมืองพรหมบุรีจัดพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในอุโบสถ[3]
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเมืองลพบุรีและอื่น ๆ ในพ.ศ. 2421 ระหว่างเสด็จกลับพระนครทางชลมารคตามลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านหน้าวัดพรหมเทพาวาส เมื่อวันจันทร์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 12 ปีขาล ร.ศ.97 (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2421) ทรงบันทึกว่าเห็นวัดชลอนซึ่งพระธรรมไตรโลกสร้าง ช่อฟ้าใบระกาปิดทองใหม่ หอระฆังข้างหน้าทำเป็นยอดเกี้ยวดูงามดีอยู่ พระองค์ยังได้เสด็จประพาสต้นเยี่ยมเยียนราษฎรที่วัดพรหมเทพาวาสอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2499 และยังทรงถ่ายภาพศาสนสถานและประชาชนที่มารับเสด็จ
เสนาสนะ
[แก้]เสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถกว้าง 22 เมตร ยาว 45 เมตร สร้าง พ.ศ. 2466 โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ปูด้วยหินอ่อน มีกำแพงล้อมรอบ ศาลาการเปรียญกว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2466 เป็นอาคารไม้ หอสวดมนต์ กว้าง 7 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์ จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารไม้ นอกจากนี้มีวิหาร ศาลาพักร้อน และฌาปนสถาน สำหรับปูชนียวัตถุ มีพระประธานในอุโบสถ ปางสมาธิ มีพระพุทธรูปไสยาสน์ ประดิษฐานในวิหาร[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดพรหมเทพาวาส". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ "วัดพรหมเทพาวาส". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
- ↑ "วัดพรหมเทพาวาส (จังหวัด สิงห์บุรี)". องค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้าง.
- ↑ กรมศิลปากร. "วัดพรหมเทพาวาส (ชลอน)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2567. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/