ข้ามไปเนื้อหา

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดป้อมวิเชียรโชติการาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดป้อมวิเชียรโชติการาม
ที่ตั้งเลขที่ 957 ถนนวิเชียรโชฎก ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระราชปริยัติคุณ (สมพงษ์ สุวโจ)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ริมแม่น้ำท่าจีนในส่วนโค้งตวัดของแม่น้ำ ใกล้กับคลองสนามชัย และใกล้กับปากแม่น้ำท่าจีนที่ไหลลงสู่อ่าวไทย

วัดสร้างราว พ.ศ. 2323 หรืออาจก่อนหน้านั้น เข้าใจว่าเดิมเป็นชุมชนของชาวรามัญซึ่งอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นและตั้งขึ้นตามชื่อหมู่บ้าน หรืออาจสร้างขึ้นพร้อมป้อมวิเชียรโชฎก (พ.ศ. 2371) ชาวบ้านเรียกวัดป้อม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2328 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร ผูกพัทธสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2418 พระมหาสมัย กมโล เจ้าอาวาสรูปที่ 4 ได้เริ่มปรับปรุงวัด ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา มีการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ทรงไทยยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำท่วม โดยสร้างด้วยไม้จำนวน 10 หลัง ล้อมรอบหอฉันและหอสวดมนต์ ซึ่งก่อสร้างด้วยไม้เช่นกัน แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2530 โดยพระครูวิเชียรโชติคุณ (สมพงษ์ สุวโจ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (พ.ศ. 2537–ปัจจุบัน) ได้มีการปรับปรุงพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา โดยยกกุฏิ หอฉัน หอสวดมนต์ หอพระไตรปิฎกให้สูงขึ้น ปรับถมพื้นที่วัดเพื่อป้องกันน้ำท่วม[1] วัดป้อมวิเชียรโชติการามได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2539[2]

ปูชนียวัตถุของวัด ได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะ สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปศิลาแรงหรือหลวงพ่อแดง พระพุทธวชิรปราการ (หลวงพ่อเพชร) ซึ่งทางวัดได้หล่อขึ้นเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถหลังใหม่[3]

รายนามเจ้าอาวาส

[แก้]
  • พระอุปัชฌาย์ทอง
  • พระครูสาครคุณาธาร
  • พระมหาเข็ม โชติปาโล
  • พระรามัญมุนี (สมัย กมโล) พ.ศ. 2489–2537
  • พระราชปริยัติคุณ (สมพงษ์ สุวโจ) พ.ศ. 2537–ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดป้อมวิเชียรโชติการาม". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
  2. "วัดป้อมวิเชียรโชติการาม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
  3. "วัดป้อมวิเชียรโชติการาม". ธรรมะไทย.