วัดป่าโค
วัดป่าโค | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดป่าโค เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ในตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา
วัดป่าโคสร้างประมาณ พ.ศ. 2100 เดิมเป็นวัดสายวิปัสสนากัมมัฎฐาน เช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ในกลุ่มอโยธยา[1] บริเวณนี้เรียกว่าบ้านศาลาเกวียน เป็นที่ตั้งของป่า (ตลาด) ซื้อขายวัวควาย เหล่าบรรดานายฮ้อยทมิฬ ได้ต้อนวัวควายจากนครราชสีมา ผ่านเส้นทางสระบุรี นครนายกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา เพื่อนำวัวควายมาขาย บ้างแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ลาลูแบร์ได้บันทึกเหตุการณ์ซื้อขายวัวควาย ถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสอีกด้วย[2] ครั้นถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย วัดนี้ได้รับการกระทบกระเทือนจากที่ข้าศึกรุกรานก็ได้ทรุดโทรมลงเมื่อได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ดีขึ้น ได้รับการดูแลจากชาวบ้านและพระสงฆ์ตามสมควรในระยะหลัง ๆ ต่อมาพระปลัดพยนต์ ธมฺมธโร ได้เป็นเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการพัฒนาวัดให้เป็นหลักฐานมั่นคง วัดป่าโคได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ. 2110
อาคารเสนาสนะที่สำคัญ คือ อุโบสถกว้าง 6 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2517 โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งได้สร้างขึ้นแทนหลังเก่าในที่เดิมหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อ พ.ศ. 2560 ที่ฝาผนังในมีภาพพุทธประวัติ ฝีมืออาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น.ณ ปากน้ำ) ศาลาการเปรียญกว้าง 13 เมตร ยาว 21 เมตร เป็นอาคารไม้ศาลาเล็ก 4 หลัง กุฏิสงฆ์จำนวน 12 หลังเป็นอาคารไม้ 10 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง หอสวดมนต์ หอระฆัง และฌาปนสถาน สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถ พระเพลากว้าง 40 นิ้ว ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปปางมารวิชัยอีก 2 องค์ แบบเชียงแสนถึงสุโขทัย ขนาดพระเพลากว้าง 30 นิ้ว ที่หอสวดมนต์มีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ 2 องค์ สร้างสมัยอู่ทองถึงอยุธยา ร้อยตำรวจเอกสพรั่ง อุลปาธรณ์ อัญเชิญมาถวายไว้และมีพระพุทธรูปปางลีลา หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ขนาดสูง 235 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่บนแท่นที่สร้างขึ้นไว้กว้างยาวด้านละ 8 เมตร
เมื่อ พ.ศ. 2562 มีการพบจดหมายเหตุกรุงศรีที่วัดป่าโค ซึ่งมีทั้งบันทึกคำให้การชาวกรุงเก่า คัมภีร์ตำรายารักษามะเร็ง ตำรานวดโบราณ ซึ่งคาดว่าเขียนไว้ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2[3]