วัดป่าวิเวกธรรม
วัดป่าวิเวกธรรม | |
---|---|
พระมหาเจดีย์บูรพาจารย์ ณ วัดป่าวิเวกธรรม(เหล่างา) จ.ขอนแก่น | |
ที่ตั้ง | ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย 40000 |
ประเภท | วัดป่าฝ่ายอรัญวาสี |
นิกาย | เถรวาท ธรรมยุติกนิกาย |
ผู้ก่อตั้ง | พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) |
เจ้าอาวาส | พระโสภณวิสุทธิคุณ (บุญเพ็ง กปฺปโก) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดป่าวิเวกธรรม หรือ วัดเหล่างา เป็นวัดป่าอรัญวาสี สังกัดนิกายเถรวาท คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดยคณะพระกรรมฐานลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นำโดย หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาสายวิปัสสนากรรมฐาน และตั้งสำนักสงฆ์อบรมปฏิบัติกรรมฐานขึ้น ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาฝ่ายอรัญวาสีของภาคอีสานตอนกลางในขณะนั้น ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ตั้งอยู่ที่ ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ประวัติ
[แก้]วัดป่าวิเวกธรรม เดิมมีพื้นที่เป็น ป่าช้าโคกเหล่างา เป็นป่ารกชัฏ มีต้นไม้ใหญ่หนาแน่นปกคลุม มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก ป่าช้าโคกเหล่างาในขณะนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ ตั้งอยู่นอกเมืองขอนแก่น
ปี พ.ศ. 2471 พระครูพิศาลอรัญเขต สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาก็คือ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์และเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น(ธรรมยุต)ในขณะนั้น ได้ทำหนังสือไปนิมนต์หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ลูกศิษย์ต้นของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ให้มาช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาธรรมปฏิบัติให้แก่ประชาชนจังหวัดขอนแก่น หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ไปกราบเรียนปรึกษาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เมื่อท่านเห็นว่าเหมาะสมดีแล้ว จึงมอบให้เป็นหน้าที่ของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม รับนิมนต์
หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล กับคณะศิษย์ ได้เดินเท้านำกองทัพธรรมจากบ้านนาหัววัว อำเภอกุดชุม จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร) มุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น และได้ตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นที่ ป่าช้าโคกเหล่างา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดขอนแก่น และได้มีคณะพระกรรมฐานลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จากวัดบ้านหนองน่อง ตำบลห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งนำโดยพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เดินทางมาสมทบ
ครั้นพระสงฆ์สามเณรทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ธุดงค์กรรมฐานมาอยู่ที่ป่าช้าโคกเหล่างา ต่างก็ทยอยเดินทางมาอยู่กับท่านเพื่อรับการอบรมและปฏิบัติกรรมฐาน ในขณะนั้นมีพระสงฆ์สามเณรไม่ต่ำกว่า 70 รูป ด้วยเหตุนี้ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม จึงได้ประชุมคณะสงฆ์ตกลงกันให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าอรัญวาสีในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง จึงทำให้วัดป่าอรัญวาสีและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายตั้งขึ้นในจังหวัดขอนแก่นเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง จึงนับได้ว่า วัดป่าวิเวกธรรม เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาฝ่ายอรัญวาสีของภาคอีสานตอนกลาง
พระกรรมฐานยุคแรกของวัดวัดป่าวิเวกธรรม (เหล่างา) ซึ่งท่านได้ธุดงค์กรรมฐานมารับการอบรมธรรมปฏิบัติและเผยแผ่พระพุทธศาสนาสอนให้ผู้คนหันมานับถือพระไตรสรณคมน์ยึดมั่นในพระรัตนตรัย อาทิ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่ภุมมี ฐิตธมฺโม, หลวงปู่ดี ฉนฺโน, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่สีโห เขมโก, หลวงปู่เกิ่ง อติมุตฺตโก, หลวงปูสีลา อิสฺสโร, หลวงปู่อุ่น ธมฺมธโร, หลวงปู่ซามา อจุตฺโต, หลวงปู่นิล มหนฺตปญฺโญ, สามเณรสิม (หลวงปู่สิม พุทฺธจาโร), สามเณรจาม (หลวงปู่จาม มหาปญฺโญ), สามเณรบุญมี (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล), สามเณรวัง (หลวงปู่วัง ฐิติสาโร) เป็นต้น
ปี พ.ศ. 2503 ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที 77 ตอนที่ 65
ปี พ.ศ. 2522 การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ได้เสร็จสิ้นและได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2522 ในการนี้ได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จมาเป็นประธานในพิธี และในการผูกพัทธสีมาครั้นี้มีพิธีพุทธาภิเษกเหรียญที่ระลึก 5 แบบคือ (1) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร - อำนาจ (2) หลวงปู่แหวน สุจิณโณ - องอาจ (3) หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตโต - อิทธิฤทธิ์ (4) หลวงปู่ขาว อนาลโย - เมตตา (5) หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม - ครูเสือ
ปี พ.ศ. 2525 การก่อสร้าง ศาลาขันตยาคมานุสรณ์ แล้วเสร็จและได้ทำพิธีฉลองศาลาในปีนั้น โดยได้รับเมตตาจาก พระเทพบัณฑิต (อินทร์ ถิรเสวี) เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ และรองเจ้าคณะภาค 9 ธรรมยุต ในขณะนั้น มาเป็นประธานในพิธี
ปี พ.ศ. 2533 ฉลองสมโภชพระประธานในพระอุโบสถวัดป่าวิเวกธรรม เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2533 โดยมีพิธีพุทธาภิเษก ในการนี้ได้รับความเมตตาจาก พระครูญาณธราภิรัต สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาก็คือ พระราชญาณวิสุทธิโสภณ (ท่อน ญาณธโร) มาเป็นประธานในพิธี
ปี พ.ศ. 2536 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก พระผง มุตโตทัย ณ พระอุโบสถวัดป่าวิเวกธรรม
ปี พ.ศ. 2540 พระราชญาณวิสุทธิโสภณ สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาก็คือ พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) ได้เมตตามาวัดป่าวิเวกธรรม เพื่อเป็นในพิธีเททองหล่อพระประธานวัดกู่ทอง ซึ่ง พระครูวิเวกวัฒนาทร เจ้าอาวาสในขณะนั้น ต่อมาก็คือ พระโสภณวิสุทธิคุณ (บุญเพ็ง กปฺปโก) ได้จัดสร้างขึ้น และในโอกาสนี้ยังได้เมตตาเททองหล่อรูปเหมือนพระบูรพาจารย์ 7 องค์ ได้แก่ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต, หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่สิม พุทฺธจาโร เพื่อประดิษฐานไว้ ณ วัดป่าวิเวกธรรม
ปี พ.ศ. 2552 การก่อสร้าง พระมหาเจดีย์บูรพาจารย์ แล้วเสร็จและได้ทำพิธีอัญเชิญยอดฉัตรขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
ปี พ.ศ. 2553 พระโสภณวิสุทธิคุณ (บุญเพ็ง กปฺปโก) ได้เมตตาเป็นประธานเททองหล่อพระพุทธรูปปางนาคปรก นามว่า พระพุทธมุจลินท์วิเวก เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553 ซึ่งต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานใน พระมหาเจดีย์บูรพาจารย์ วัดป่าวิเวกธรรม
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]นับตั้งก่อตั้งวัดป่าวิเวกธรรม สำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งนี้ มีเจ้าอาวาสดังรายนามต่อไปนี้
ลำดับที่ | รายนาม | เริ่ม | สิ้นสุด | ตำแหน่ง |
1 | พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) | พ.ศ. 2472 | พ.ศ. 2474 | เจ้าอาวาส |
2 | พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) | พ.ศ. 2475 | พ.ศ. 2476 | รักษาการเจ้าอาวาส |
3 | หลวงปู่หลอม สุมโน | พ.ศ. 2477 | พ.ศ. 2487 | เจ้าอาวาส |
4 | หลวงปู่ทองสา -ไม่ทราบฉายา- | พ.ศ. 2488 | พ.ศ. 2495 | เจ้าอาวาส |
5 | พระครูสีลสารวิมล (ล้วน สีลราโม) | พ.ศ. 2495 | พ.ศ. 2515 | เจ้าอาวาส |
6 | พระโสภณวิสุทธิคุณ (บุญเพ็ง กปฺปโก) | พ.ศ. 2515 | พ.ศ. 2560 | เจ้าอาวาส |
7 | พระครูสิทธิจิตติมงคล (จิตติพงษ์ ฉนฺทโก) | พ.ศ. 2560 | ปัจจุบัน | รักษาการเจ้าอาวาส |
อ้างอิง
[แก้]- รศ.ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์. พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม) วันป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โครงการหนังสือบูรพาจารย์อิสานใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : บริษัท พี.เอ.ลีพวิ่ง จำกัด, 2554. 657 หน้า.
- คณะศิษยานุศิษย์. วัดป่าวิเวกธรรม (เหล่างา). ขอนแก่น : หจก.ขอนแก่นการพิมพ์, 2556. 111 หน้า.
- จงดี ภิรมย์ไชย. ประวัติวัดป่าวิเวกธรรม (เหล่างา). ขอนแก่น : หจก.โรงพิมพ์คลังนานาธรรม, 2557. 75 หน้า.
- จงดี ภิรมย์ไชย. ธรรมประวัติ หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก. ขอนแก่น : หจก.โรงพิมพ์คลังนานาธรรม, 2558. 292 หน้า.
- พระธมฺมธโร ครูบาแจ๋ว. ธรรมประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ ผู้มากมีบุญ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชน, 2554. 622 หน้า.